การพัฒนาลุ่มน้ำโขงและภาวะใกล้สูญพันธุ์ของโลมาอิรวดี

การพัฒนาลุ่มน้ำโขงและภาวะใกล้สูญพันธุ์ของโลมาอิรวดี

ปัจจุบันเหลือโลมาอิรวดีราว 80 ตัวในพื้นที่แม่น้ำโขงบริเวณภาคกลางของกัมพูชา เขื่อนผลิตไฟฟ้าทำให้พื้นที่แหล่งน้ำจืดถิ่นอาศัยหลักหดหาย ทำให้ยิ่งต้องใกล้ชิดกับชาวประมงซึ่งคุกคามการอยู่รอดของพวกมัน เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่าโลมาเสียชีวิต 3 ตัวหรือคิดเป็นราว 5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในแม่น้ำโขง

ล่าสุดประธานาธิบดีฮุนเซนประกาศให้มีการสร้างพื้นที่อนุรักษ์โลมาอิรวดีที่เหลือเพียง 250 ตัวทั่วโลก แต่นักสิ่งแวดล้อมก็ตั้งข้อสังเกตว่าความพยายามดังกล่าวเพียงพอหรือไม่ เพราะในพื้นที่นี้แม้การประมงจะผิดกฎหมาย แต่การบังคับใช้กฎหมายนับว่าอ่อนแอ

“การเสียชีวิตของโลมาเกิดจากอุปกรณ์จับปลา โลมาหลายตัวเสียชีวิตเพราะติดพันอยู่กับอวนหรือตะขอยาวตกปลา นี่คือปัญหาของรัฐบาลกัมพูชา” Daphne Willems ผู้ประสานงานด้านโลมาแม่น้ำจากกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) กล่าว

การก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าล่าสุด 11 แห่งเหนือลำน้ำโขงยิ่งทำให้ปัญหาเลวร้ายลง เมื่อเดือนธันวาคม จากคำให้การต่อคณะอนุกรรมการสภาฯ ของสหรัฐฯ โดย Brian Eyler ผู้ศึกษาลุ่มน้ำโขงมาอย่างยาวนานจาก The Stimson Centre ระบุว่าแม่น้ำโขง คือแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดลำดับที่ 12 ของโลก โดยมีความยาวกว่า 4,345 กิโลเมตรทอดจากทิเบตผ่านจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม่โขงคือฟันเฟืองทางเศรษฐกิจสำคัญที่ผลักดันการพัฒนาในภูมิภาคแห่งนี้

“ลาวและกัมพูชาคือสองประเทศที่เปราะบางที่สุดหากเพื่อนบ้านทำอะไรที่ส่งผลกระทบต่อนิเวศของลำน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนซึ่งเปลี่ยนแปลงการไหลตามธรรมชาติของแม่โขง การขุดทรายและตะกอนดินจากแม่น้ำเพื่อใช้ในเชิงอุตสาหกรรมหรือการพัฒนาพื้นที่เมือง หรือการปล่อยมลภาวะลงสู่แหล่งน้ำทั้งพลาสติกและกากอุตสาหกรรม” Eyler กล่าวต่อคณะกรรมการ

อย่างไรก็ตาม นักอนุรักษ์ก็ยังมีเหตุผลที่จะมองโลกในแง่ดี เพราะในอนาคตอาจมีความร่วมมือด้านการอนุรักษ์จากนานาชาติยื่นมือเข้าสนับสนุน กฎหมายอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1973 ได้รับการยกย่องว่าช่วยให้นกอินทรีอเมริกันรอดจาการสูญพันธุ์ เช่นเดียวกับกฎหมายอนุรักษ์ในออสเตรเลียที่คุ้มครองวาฬหลังค่อมก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงเช่นกัน

การใช้แม่น้ำโขงเพื่อแสวงหากำไรเป็นภัยคุกคามต่อทั้งโลมาอิรวดี และระบบนิเวศในภาพรวม ลาวเพียงประเทศเดียวก็มีแผนจะก่อสร้างเขื่อนในลำน้ำโขงกว่า 100 แห่งในอนาคต เพื่อแข่งขันส่งออกพลังงานน้ำและคว้าตำแหน่ง ‘แบตเตอรีแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ 

ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา WWF และรัฐบาลกัมพูชาได้ทราบว่าโลมาเพศเมียที่เสียชีวิตไปนั้นอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ การเสียชีวิตของเธอจึงนับเป็นการทำลายศักยภาพในการขยายพันธุ์ของโลมาแห่งลำน้ำโขงอย่างร้ายแรง เพราะกว่า 70 เปอร์เซ็นต์มีอายุมากกว่า 20 ปีแล้ว

“เราไม่เคยพบอัตราการตายของโลมาในระดับนี้มากว่าทศวรรษแล้ว” Seng Teak ผู้อำนวยการ WWF กัมพูชากล่าว “หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปและไม่มีมาตรการรับมือในทันที โลมาอิรวดีก็จะสูญพันธุ์ไปแบบต่อหน้าต่อตาเราทุกคน”

ถอดความและเรียบเรียงจาก Irrawaddy dolphins near extinction as Mekong region develops

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก