ล่าสุด! Tokyo Electric Power Company (TEPCO) เตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี จากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิชิ จังหวัดฟุกุชิมะ ทางตะวันออกของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลพวงจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2011 ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกภายในเดือนหน้า
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2011 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากสึนามิ จนระบบทำความเย็นของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ได้รับความเสียหาย ทำให้เกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีในพื้นที่
จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำเอาหลายต่อหลายคนกังวลว่าถ้าหากสารกัมมันตรังสีเกิดรั่วไหลขึ้นมาอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนโดยรอบได้เลยทีเดียว
เหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่จบลงเสียทีเดียว เมื่อทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) ของญี่ปุ่น ไฟเขียวให้ทางการเตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้าจำนวนกว่า 1.33 ล้านตัน ลงมหาสมุทรแปซิฟิก
น้ำที่จะถูกปล่อยนั้น เป็นน้ำที่นำไปบำบัดผ่านระบบ Advanced Liquid Processing System (ALPS) เรียบร้อยแล้ว เพื่อกำจัดสารกัมมนตรังสีทั้ง 62 ชนิด อย่างไรก็ตามยังมีทริเทียม (Tririum) ซึ่งเป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีที่แยกออกจากน้ำได้ยากอยู่ โดยทริเทียมนั้นเป็นอีกหนึ่งสารกัมมันตรังสีที่ค่อนข้างอันตรายต่อมนุษย์พอสมควร เนื่องจากหากเราสูดดมหรือรับสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มาก อาจส่งผลต่อร่างกายของเราได้
Rafael Mariano Grossi ผู้อำนวยการใหญ่ IAEA กล่าวยืนยันว่า “น้ำที่จะถูกปล่อยลงนั้นได้รับการบำบัดแล้ว ถึงแม้ว่าจะยังมีทริเทียมตกค้างอยู่ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมค่อนข้างน้อยเช่นกัน”
นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนมองว่า การปล่อยน้ำเสียที่มีกัมมันตรังสีทริเทียมปนเปื้อนในปริมาณเท่านี้ มีให้เห็นอยู่ทั่วไปตามโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์อีกหลายแห่งทั่วโลกด้วย
ทว่านี้ไม่ใช่การตัดสินใจครั้งแรกของทางการญี่ปุ่น ย้อนกลับไปปี 2021 TEPCO เคยออกประกาศถึงแผนการการปล่อยน้ำเสียออกมาแล้ว แต่เจอเสียงคัดค้านอย่างหนักจากชุมชนประมงรอบ ๆ ตลอดจนประเทศเพื่อนบ้าน และหมู่เกาะต่าง ๆ รอบมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้การดำเนินการดังกล่าวถูกชะลอตัวลงไป
แม้ว่า TEPCO จะมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายอื่น ๆ แต่สหภาพแรงงานประมงในฟุกุชิมะยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ให้ปล่อยน้ำเสียลงสู่มหาสมุทร เพราะอาจส่งผลต่อการประมงในฟุกุชิมะ ซึ่งเป็นรายได้หลักของประชาชนแถบนี้เสียหายได้
ถึงสองปีก่อนจะมีเสียงคัดค้านดังกึกก้องไปมากมายแค่ไหนก็ตาม แต่นั้นก็ไม่อาจหยุดยั้งความตั้งใจของ TEPCO ลง พวกเขามั่นใจว่า “การปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่ทะเลจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีการควบคุมดูแลอย่างรัดกุม อีกทั้งน้ำเสียดังกล่าวจะส่งผลกระทบทางรังสีเล็กน้อยต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น”
IAEA ได้ออกมากล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า “จนกว่าจะถึงวันดำเนินการ ทาง IAEA จะตรวจสอบความปลอดภัยระหว่างการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และจะรายงานให้ประชาชนทราบโดยทั่วกันด้วย”
ในส่วนของประเทศเพื่อนบ้านได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงการกระทำของญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน อย่าง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้ออกเตือนว่าน้ำเสียดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกได้ พร้อมกล่าวว่า “มหาสมุทรไม่ใช่ท่อระบายน้ำส่วนตัวของญี่ปุ่น”
ส่วนเกาหลีใต้นั้น ประชาชนส่วนใหญ่กังวลต่อการปนเปื้อนเช่นเดียวกัน จนทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลและแห่ไปซื้อเกลือเพื่อกักตุนไว้แล้ว เนื่องจากหากทะเลปนเปื้อน อาจทำให้เกลือขาดแคลนได้
และยังมีอีกหลายประเทศในแปซิฟิกที่พูดถึงประเด็นดังกล่าว ถ้าญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเลเมื่อไหร่ อาจส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่ใช่แค่เพียงคนในพื้นที่แต่อาจลามไปถึงทั่วโลก เนื่องจากอาหารทะเลจากญี่ปุ่นนั้นก็ถูกส่งออกไปทั่วทั้งโลกเช่นกัน
อ้างอิง
- ทำไมญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำเสียโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงมหาสมุทรแปซิฟิก ปลอดภัยแล้วหรือ?
- ญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี 1.33 ล้านตัน ลงมหาสมุทรแปซิฟิก
- ภาพประกอบ GETTY IMAGE
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ