ปีนี้สถิติอุณหภูมิของหลายประเทศเริ่มทยอยถูกทุบทำลายแม้ว่าซีกโลกเหนือจะยังไม่เข้าสู่ฤดูร้อนด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่นที่สเปนซึ่งอุณหภูมิในเดือนเมษายนสูงถึง 38.8 องศาเซลเซียสซึ่งนับว่าสูงมากแม้ว่าจะเป็นวันที่ร้อนที่สุดในฤดูร้อน ขณะที่ฝั่งเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนต่อเนื่องยาวนาน สร้างสถิติความร้อนใหม่ที่ 44 องศาเซลเซียสในเวียดนาม และ 45 องศาเซลเซียสในประเทศไทย ส่วนที่สิงคโปร์ก็เผชิญความร้อนทะลุปรอทเช่นกันที่ 37 องศาเซลเซียส ขณะที่ประเทศจีน นครเซี่ยงไฮ้ ก็ทุบสถิติอุณหภูมิสูงสุดในรอบศตวรรษที่ 36.7 องศาเซลเซียส
เราทราบดีว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศย่อมทำให้อุณหภูมิลักษณะนี้มีแนวโน้มเกิดบ่อยครั้งยิ่งขึ้น แต่คลื่นความร้อนระดับเดียวกันอาจสร้างผลกระทบที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยอย่างเช่นความชื้นหรือความพร้อมในการรับมือความร้อนสุดขั้วของแต่ละพื้นที่ นำไปสู่คำถามว่าประเทศร้อนชื้นอย่างเวียดนามรับมือกับความร้อน 44 องศาเซลเซียสได้อย่างไร ตัวเลขนี้ต่างจากความร้อนแล้งอย่างไร อะไรเลวร้ายกว่ากันเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ที่อุณหภูมิต่ำกว่าแต่ความชื้นสูงกว่า
ร่างกายมนุษย์กับสภาพอากาศ
คลื่นความร้อนระลอกล่าสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจบันทึกอยู่ในความทรงจำของใครหลายคนเพราะร้อนจนเกิดภาวะตึงเครียดจากความร้อน ภาวะดังกล่าวนอกจากเป็นผลจากอุณหภูมิแล้วยังเกี่ยวพันกับปัจจัยทางภูมิอากาศต่างๆ อย่างเช่นความชื้น รังสีความร้อน และลมอีกด้วย
ร่างกายของเราได้รับความร้อนจากอากาศรอบตัว จากแสงอาทิตย์ และจากระบบการทำงานของอวัยวะในร่างกายเช่นการย่อยอาหารหรือการออกกำลังกาย โดยปกติแล้วร่างกายของเราจะพยายามระบายความร้อน บางส่วนระบายออกทางอากาศรอบตัว บางส่วนระบายออกทางการหายใจ แต่ความร้อนส่วนใหญ่จะออกโดยการขับเหงื่อ การระเหยของเหงื่อจะต้องใช้พลังงานจากผิวหนังของเราและอากาศรอบตัวในรูปของพลังงานความร้อนแฝง
ปัจจัยทางภูมิอากาศส่งผลต่อกระบวนการดังกล่าว ตัวอย่างเช่น หากอยู่กลางแจ้ง ร่างกายจะได้รับแสงอาทิตย์โดยตรง หากประกอบกับความชื้นในอากาศที่สูงก็จะทำให้อัตราการระเหยของเหงื่อจากผิวหนังลดลงอีกด้วย ความชื้นนี้เองที่ทำให้คลื่นความร้อนระลอกล่าสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นภัยอันตรายร้ายแรง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีความชื้นสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ขีดจำกัดของการรับความร้อน
สภาพร่างกายและโรคประจำตัวอาจทำให้บางคนเปราะบางต่อการเผชิญความร้อนกว่าคนอื่นๆ กระนั้นภาวะตึงเครียดจากความร้อนอาจร้ายแรงจนกระทั่งมนุษย์ทุกคน รวมถึงคนที่อาจไม่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อความร้อน อาทิ คนที่ร่างกายแข็งแรงและคุ้นชินกับสภาพอากาศ ก็ยังไม่อาจออกแรงได้แม้จะไม่มากก็ตาม
วิธีหนึ่งในการประเมินภาวะตึงเครียดจากความร้อนคือการวัดอุณหภูมิแบบกระเปาะเปียก (Wet Bulb Globe Temperature) หากอยู่ในที่กลางแจ้ง เพดานอุณหภูมิที่วัดด้วยวิธีนี้จะอยู่ที่ 39 องศาเซลเซียส ณ ระดับความชื้นสัมพัทธ์ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคลื่นความร้อนระลอกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทะลุเพดานดังกล่าว
ในพื้นที่ซึ่งความชื้นต่ำกว่า เช่น พื้นที่ห่างไกลจากเขตร้อนชื้น ระดับความชื้นและอุณหภูมิแบบกระเปาะเปียกจะต่ำกว่าซึ่งสะท้อนภาวะอันตรายที่น้อยกว่านั่นเอง
คลื่นความร้อนในสเปนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมามีอุณหภูมิสูงสุดที่ 38.8 องศาเซลเซียส แต่หากวัดอุณหภูมิแบบกระเปาะเปียกจะอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียสเท่านั้น คลื่นความร้อนเมื่อปี พ.ศ. 2565 ในสหราชอาณาจักรซึ่งวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียสแต่มีระดับความชื้นน้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ หากวัดอุณหภูมิแบบกระเปาะเปียกจะอยู่ที่ 32 องศาเซลเซียส
งานวิจัยชิ้นหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภูมิภาคที่เสี่ยงเผชิญกับความร้อนรุนแรงจนเกินระดับที่มนุษย์จะรับไหว คือบางแห่งในประเทศอินเดีย ปากีสถาน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาบสมุทรอาหรับ และบริเวณเส้นศูนย์สูตร ซึ่งจะเผชิญอุณหภูมิที่สูงรุนแรงบ่อยครั้งยิ่งขึ้นเมื่อภาวะโลกร้อนมีความรุนแรงมากขึ้น
ความจริงแล้ว คนส่วนใหญ่ไม่สามารถทนระดับความร้อนดังกล่าวได้ นี่คือเหตุผลที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากแม้ว่าเราจะเผชิญกับคลื่นความร้อนที่ไม่รุนแรงมากนัก นอกจากนี้ การวิเคราะห์ในระดับโลกมักจะมองข้ามภัยพิบัติเฉพาะถิ่นที่เกิดจากภูมิอากาศย่อย ตัวอย่างเช่น บางพื้นที่ชุมชนในเมืองอาจกักเก็บความร้อนได้ดียิ่งกว่าพื้นที่แห่งอื่นๆ หรือบางแห่งอาจมีกระแสลมเย็นหมุนเวียนมาจากทะเล หรืออาจอยู่ในเงาฝนทำให้ความชื้นต่ำ เป็นต้น
ความผันผวนและความสามารถในการปรับตัว
เขตร้อนชื้นเป็นพื้นที่ที่อุณภูมิไม่ค่อยแปรปรวน เช่นประเทศสิงคโปร์ที่ตั้งอยู่เกือบบริเวณเส้นศูนย์สูตรจะมีอุณหภูมิสูงสุดที่ 32 องศาเซลเซียส ขณะที่ฤดูร้อน ณ กรุงลอนดอนจะมีอุณหภูมิสูงสุดเพียง 24 องศาเซลเซียส แต่หากพิจารณาอุณหภูมิสูงสุดที่ทั้งสองเมืองใหญ่เคยเผชิญ กลับกลายเป็นว่าลอนดอนเอาชนะสิงคโปร์ไปที่ 40 องศาเซลเซียส
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มักเผชิญกับความร้อนรุนแรงบ่อยครั้ง บางคนอาจเข้าใจว่าประชาชนสามารถปรับตัวกับความร้อนในระดับที่รุนแรงกว่าได้ รายงานเบื้องต้นถึงจำนวนผู้เสียชีวิตทางตรงจากภาวะความร้อนรุนแรงนั้นก็ถือว่าไม่มากนัก แต่รายงานสาเหตุการเสียชีวิตทางอ้อมยังไม่ปรากฏข้อมูลแน่ชัด
หากมองในทางกลับกัน เนื่องจากอากาศที่ค่อนข้างคงที่ในบริเวณดังกล่าว เราก็อาจตีความได้ว่าประชาชนในพื้นที่แห่งนี้ไม่พร้อมรับมือกับอุณหภูมิที่ผันผวนรุนแรงดังเช่นการเกิดคลื่นความร้อนครั้งที่ผ่านมา แม้ว่าเราจะไม่มีคำตอบแน่ชัด แต่คลื่นความร้อนในระดับที่เราเพิ่งผ่านพ้นมาและจะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคตย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเราอย่างยากจะหลีกเลี่ยง
ถอดความและเรียบเรียงจาก Why 40°C is bearable in a desert but lethal in the tropics
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก