จากการที่รัฐบาลอินโดนีเซียยกเลิกกฎหมายห้ามการส่งออกทรายทะเล ทำให้ผู้เชี่ยวชาญ นักอนุรักษ์ ตลอดจนชาวประมงในพื้นที่ กังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง แม้ว่าฝั่งรัฐบาลจะใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาอ้างว่ามันสามารถทำได้ก็ตาม ทำให้พวกเขามองว่าการกระทำของรัฐบาลในครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเลือกที่จะแสวงหาผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มากกว่าจะปกป้องและอนุรักษ์ชายฝั่งทะเลของประเทศ
ชาวประมงท่านหนึ่งกล่าวว่าหลังจากที่ประธานาธิบดี Joko Widodo ประกาศยกเลิกกฎหมายห้ามส่งออกทรายทะเลที่ถูกใช้มากว่า 20 ปี ตั้งแต่ปี 2003 ทำให้เขาเป็นกังวลมากต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชายฝั่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ทำมาหากินของเขาและชาวประมงคนอื่น ๆ
กฎใหม่นี้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา โดย Wahyu Muryadi โฆษกกระทรวงกิจการทางทะเลและการประมง “เราจะควบคุมการส่งออกทรายอย่างเข้มข้นกว่าที่ผ่าน ๆ มา การออกกฎหมายดังกล่าวจะมีมาตรการสำหรับการปกป้องสิ่งแวดล้อมและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล กระทรวงทางทะเลฯ จะจัดตั้งทีมศึกษาร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพลังงานและกระทรวงสิ่งแวดล้อม ตลอดจนนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสำรวจหาพื้นที่ที่มีศักยภาพมากพอที่จะขุดทรายไปขายได้
“การขุดทรายทะเลจะช่วยอำนวยความสะดวกในการสัญจรทางเรือ ซึ่งอินโดนีเซียมีเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ที่พลุกพล่านมากที่สุดในโลกถึง 3 แห่ง อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งและทะเลด้วย”
Wahyu กล่าวว่า พื้นที่ศักยภาพหมายถึง พื้นที่ที่ได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานข้างต้นแล้วว่า ทรายทะเลในบริเวณดังกล่าวมีการสะสมตัวและตกตะกอนทางธรรมชาติ เมื่อกำหนดสถานที่และปริมาณแล้ว รัฐจะออกใบอนุญาตการขุดให้แก่เอกชน เพื่อให้มาดำเนินการขุดต่อไป
รัฐมนตรีเรียกร้องให้กลุ่มสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น Greenpeace Indonesia และ Walhi (หน่วยงาน NGO ด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ) เข้าร่วมทีมศึกษาการตกตะกอนของทรายทะเล แต่ทั้งคู่ปฏิเสธคำเชิญชวนของรัฐบาล พร้อมทิ้งท้ายว่า การกระทำดังกล่าวของรัฐบาลเป็นเพียงการฟอกเขียว (green wash) ที่ไม่ได้สนใจความเป็นไปของสิ่งแวดล้อมจริงจัง
Afdillah นักรณรงค์ด้านมหาสมุทรของ Greenpeace Indonesia กล่าวว่า “ถ้ารัฐบาลจริงจังกับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทะเล ก็ควรเริ่มจากการจัดการตั้งแต่พื้นที่บนบก ซึ่งเป็นต้นทางของการตกตะกอนของทรายทะเล
Parid Ridwanuddin ผู้จัดการด้านชายฝั่งและทะเลของ Walhi กล่าวถึงการขุดลอกทรายจะช่วยให้การสัญจรทางทะเลสะดวกขึ้นไว้ว่า “แท้จริงแล้ว การขุดลอกลักษณะนี้จะสร้างปัญหามากกว่าประโยชน์ โดยมันจะทำให้การทำประมงแบบดั้งเดิมยากมากขึ้น
กฎหมายและข้อบังคับดังกล่าว เป็นผลประโยชน์ทางธุรกิจ ที่ยกเอาวิทยาศาสตร์มาเป็นข้ออ้างในการดำเนินการ ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นไปตามที่วางแผนไว้อยู่แล้ว ทั้งการใช้คำพูดในการแถลง ภาษา หรือแม้แต่ตัวกฎหมาย ให้ออกดี ไม่มีปัญหาอะไร แท้จริงแล้วไม่ใช่เลย”
ปัจจุบันหลายฝ่ายได้เริ่มมีการต่อต้านกฎหมายดังกล่าวอย่างกว้างขวางมากขึ้น ทาง Walhi ได้เรียกร้องให้ชุมชนชาวประมง รัฐบาลท้องถิ่น และผู้เชี่ยวชาญทางทะเล ออกมารวมตัวกันและต่อต้านกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้รัฐบาลเพิกถอนกฎหมายต่อไป
Susan Herawati เลขาธิการกลุ่มผู้สนับสนุนแนวร่วมเพื่อความยุติธรรมในการประมง (KIARA) กล่าวหนุนว่า “การทำให้การใช้ประโยชน์ทรายทะเลถูกต้องตามกฎหมายนั้นจะยิ่งทำให้ระบบนิเวศทางทะเลถูกคุกคามได้ง่ายมากขึ้น ยิ่งกว่านั้นอินโดนีเซียก็ต้องสู้กับวิกฤตสภาพอากาศไปพร้อมกันด้วย ดังนั้นแล้วรัฐควรให้ความสนใจกับระบบนิเวศชายฝั่งและความเป็นอยู่ของชาวประมงมากกว่าที่จะปล้นทรัพยากรธรรมชาติของพวกเขาไป”
อ้างอิง
- Indonesian fishermen, activists fear loss of marine life, islands as sea-sand exports resume
- Experts, activists unite to blast Indonesia’s U-turn on sea sand exports
- Boon for Singapore as Indonesia scraps ban on sea sand exports
- ภาพประกอบ Jandira Sonnendeck
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ