ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากภัยพิบัติเนื่องจากวิกฤติภูมิอากาศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานด้านภูมิอากาศของสหประชาชาติเปิดเผยว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้อย่างมาก
รายงานฉบับล่าสุดโดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (The World Meteorological Organization) หรือ WMO รวบรวมข้อมูลวิกฤติภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ร่วม 12,000 เหตุการณ์ทั่วโลกซึ่งคร่าชีวิตประชาชนไปมากกว่า 2 ล้านคนและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 4.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
บทสรุปดังกล่าวของ WMO เปิดเผยในโอกาสการเริ่มต้นประชุมประจำ 4 ปีของประเทศสมาชิก นับเป็นการส่งสัญญาณว่าทั่วโลกจำเป็นต้องเร่งพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติล่วงหน้าภายในอีก 4 ปีข้างหน้าตามเป้าหมาย
WMO ระบุในแถลงการณ์ว่า “ตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง แต่ระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพและการจัดการภัยพิบัติที่ดียิ่งขึ้นจะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้มหาศาล” หน่วยงานดังกล่าวยังย้ำครั้งแล้วครั้งเล่าถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีสาเหตุจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยระบุว่าอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้ความถี่และความรุนแรงของภัยธรรมชาติเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย เฮอร์ริเคน ไซโคลน คลื่นความร้อน และภัยแล้ง
ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มูลค่าสูงที่สุดในระหว่างปี ค.ศ. 1970 – 2021 เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ผู้เสียชีวิต 9 จาก 10 คนเกิดจากภัยพิบัติในประเทศกำลังพัฒนา หากมองผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยเปรียบเทียบสัดส่วนกับจีดีพีจะพบว่าประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศร่ำรวย
เพตเตอร์รี ทาลาส (Petteri Taalas) เลขาธิการของ WMO ระบุว่าพายุไซโคลนมอคค่าที่เคลื่อนผ่านเมียนมาและบังคลาเทศเมื่อเดือนพฤษภาคมสะท้อนให้เห็นว่า “ประเทศที่เปราะบางที่สุดต้องแบกรับความเสียหายจากภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากมายเพียงใด”
“ในอดีต ทั้งเมียนมาและบังคลาเทศต้องเผชิญกับความสูญเสียชีวิตของประชาชนเรือนแสน” เขากล่าวโดยอิงจากภัยพิบัติที่เคยเกิดขึ้น “ต้องขอบคุณระบบเตือนภัยล่วงหน้าและการจัดการภัยพิบัติในปัจจุบันที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ”
“ระบบเตือนภัยล่วงหน้าคือกลไกสำคัญที่รักษาชีวิตประชาชน” เขากล่าวสรุป
ข้อค้นพบดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงรายงานของ WMO ที่ชื่อว่า แผนที่การเสียชีวิตและความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (Atlas of Mortality and Economic Losses from Weather, Climate and Water Extremes) ซึ่งก่อนหน้านี้ครอบคลุมระยะเวลา 50 ปีจนถึงปี ค.ศ. 2019
อย่างไรก็ตาม WMO ก็ตระหนักถึงข้อบกพร่องของรายงาน เพราะจำนวนภัยพิบัติที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากระบบการรายงานผลสภาพภูมิอากาศสุดขั้วที่ดียิ่งขึ้น ทำให้มีการจัดเก็บข้อมูลภัยพิบัติที่ในอดีตอาจถูกมองข้าม
นอกจากนี้ ถึงแม้รายงานดังกล่าวจะคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อ แต่ต้องยอมรับว่าการประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ยากจะคำนวณอย่างแม่นยำ นั่นหมายความว่าตัวเลขในรายงานนี้อาจต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
ในทวีปแอฟริกา WMO พบว่าตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมาเกิดภัยพิบัติทั้งสิ้น 1,800 ครั้งและมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นถึง 733,585 ราย เนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นอุทกภัยและคลื่นพายุซัดฝั่ง แต่หายนะครั้งเลวร้ายที่สุดคือพายุหมุนเขตร้อนอิดาอี (Tropical Cyclone Idai) ในปี 2019 ซึ่งสร้างความเสียหายมูลค่าสูงถึง 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของแปซิฟิกเผชิญภัยพิบัติราว 1,500 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 66,951 คนและสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 185.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับทวีปเอเชียก็เผชิญหน้ากับภัยพิบัติ 3,600 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 984,263 รายและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐโดยความสูญเสียส่วนใหญ่เกิดจากภัยพิบัติไซโคลน ส่วนทวีปอเมริกาใต้เผชิญภัยพิบัติ 943 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 58,484 รายและสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น 115 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ฟากทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และแคริบเบียนเผชิญภัยพิบัติ 2,100 ครั้งผู้เสียชีวิต 77,454 รายและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนทวีปยุโรปเผชิญภัยพิบัติ 1,800 ครั้งผู้เสียชีวิต 166,492 รายและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 562 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา WMO ยังพยากรณ์ว่ามีโอกาส 66 เปอร์เซ็นต์ที่ในอีก 5 ปีข้างหน้าโลกจะเผชิญกับปีที่อุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่ปรากฎในข้อตกลงปารีสเมื่อปี พ.ศ. 2558 อีกด้วย
ถอดความและเรียบเรียงจาก Extreme weather has killed 2 million people over past half century, U.N. says
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก