วิกฤติโลกร้อนทำให้แม่น้ำแห้งเหือด ไฟป่าโหมรุนแรง ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง และเปลี่ยนแปลงฤดูกาลที่เราเคยคุ้น การเปลี่ยนแปลงในระดับหายนะ นอกจากจะส่งผลกระทบต่ออาหารและที่อยู่อาศัยซึ่งเราต้องพึ่งพาแล้ว ยังกระทบต่อสภาพจิตใจของเราอีกด้วย
“ความกระวนกระวาย ความทุกข์ ความสิ้นหวัง ภาวะซึมเศร้า เราเห็นความรู้สึกเหล่านี้มากมายจากงายวิจัย โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มเข้าใจว่าปรากฎการณ์โลกร้อนคือเรื่องจริง” Derrick Sebree นักจิตวิทยาจาก Michigan School of Psychology ให้สัมภาษณ์กับ National Geographic
รายงานฉบับล่าสุดของสหประชาชาติระบุว่าอาการเจ็บป่วยทางจิตจำนวนมากเกิดจากสภาพอากาศที่รุนแรงและอุณหภูมิที่สูงขึ้น และยังเตือนว่าสภาวะสุดขั้วเช่นนี้มีแต่จะเลวร้ายลง ในปี 2017 สมาคมจิตวิทยาอเมริกันระบุว่าผู้เชี่ยวชาญด้านความเจ็บป่วยทางใจและนักบำบัดจะมีความสำคัญเทียบเท่ากับอาคารหลบภัยและบ้านเรือนที่ยกตัวสูงเหนือระดับน้ำทะเล เพื่อช่วยเยียวยาคนป่วยในการรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
เราขอหยิบยกตัวอย่างบางประการถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสภาพจิตใจดังนี้
ความผิดปกติที่เกิดหลังเรื่องสะเทือนจิตใจอย่างรุนแรง (Post-traumatic Stress Disorder หรือ PTSD)
ตอนที่พายุเฮอร์ริเคนแคธรินาเข้าถล่มรัฐนิวออร์ลีนส์ พายุดังกล่าวก่อให้เกิดอุทกภัยที่คร่าชีวิตผู้คนกว่า 2,000 คน และทำลายบ้านเรือนกว่า 300,000 หลังคาเรือน หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวสงบลง มีการศึกษาพบว่าประชาชนอย่างน้อย 400 คน เผชิญกับภาวะความเจ็บป่วยทางใจหลังเกิดเรื่องสะเทือนจิตใจอย่างรุนแรงเป็นเวลากว่าสองปีหลังจากพายุถล่ม
นักบำบัดดูแลผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติมองว่าความเจ็บป่วยทางใจอาจไม่ได้ปรากฏให้เห็นในทันที “สองสามปีแรก พวกเขาอาจไม่ได้รู้สึกอะไร แต่แล้ววันหนึ่งอาการป่วยก็เข้าจู่โจมทันที” Dix Moore-Broussard นักบำบัดที่ดูแลผู้ป่วยหลังเกิดเรื่องสะเทือนจิตใจอย่างรุนแรงกล่าว
นอกเหนือจากอาการทั่วไปของผู้ป่วย PTSD เช่น ฝันร้าย เห็นภาพในอดีต รู้สึกกระวนกระจาย Moore-Broussard ยังเล่าว่าผู้ป่วยมี “ความกังวลกับเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดในอนาคต” อาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นทันทีทันใด หรือเกิดพร้อมกับสภาพอากาศที่เริ่มเลวร้ายลง
“มีเด็กคนหนึ่งที่ฉันดูแลอยู่ เขาไม่สามารถทนพายุฝนฟ้าคะนองได้เลย” เธอกล่าว
การศึกษาชิ้นล่าสุดที่ติดตามผลกระทบทางใจจากวิกฤติไฟป่าระบุว่าความป่วยไข้ในลักษณะนี้จะขัดขวางการทำงานทั่วไปของสมอง ผู้ที่เผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติจะมีปัญหาในการรวบรวมสมาธิหรือใช้ความคิดอ่านตามปกติ
ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม
“ในช่วงสี่หรือห้าปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนจากเรื่องทางทฤษฎีเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากขึ้น ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมจากเดิมที่กระทบต่อคนกลุ่มเล็กๆ ที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันได้กลายเป็นเรื่องกระแสหลัก” Thomas Doherty นักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกล่าว
หลังจากเกิดคลื่นความร้อนที่ทุบสถิติในปี พ.ศ. 2564 ประชาชนในบริติชโคลัมเบียระบุว่ารู้สึกกังวลด้านภูมิอากาศมากขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนรุ่นใหม่ก็กังวลว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะกระทบต่ออนาคตของพวกเขาอย่างไร
การสำรวจกลุ่มวัยรุ่นอายุ 16 ถึง 25 ปีจำนวน 10,000 คนใน 10 ประเทศพบว่า 59 เปอร์เซ็นต์ต่างกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 84 เปอร์เซ็นต์มีความกังวลในระดับปานกลาง ความรู้สึกแย่ๆ ยิ่งทำให้ปัญหาเลวร้ายลง ในการสำรวจเดียวกันพบว่าประชาชนต่างรู้สึกว่ารัฐบาลในประเทศของตนมองข้ามหรือแทบไม่ทำอะไรเลยเพื่อจัดการปัญหาด้านภูมิอากาศ
ความร้อนและการใช้ความรุนแรง
อุณหภูมิที่สูงนั้นมีความสัมพันธ์กับการใช้ความรุนแรง การติดสุรา และการฆ่าตัวตาย ความร้อนทำให้เรารู้สึกไม่สบายตัว หิวกระหาย และเหนื่อยล้า อีกทั้งยังทำให้เรานอนไม่หลับซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ลง
“ความร้อนคือสาเหตุของความเครียด เพราะมันทำให้เราไม่สบายตัว” Susan Clayton ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและจิตวิทยาจาก College of Wooster ให้สัมภาษณ์ “ถ้าใครสักคนเดินชนคุณ ความร้อนก็อาจทำให้คุณคิดว่า ‘ไอ้หมอนั่นจงใจเดินชนแน่ๆ’”
ในแถบแปซิฟิกนอร์ธเวสต์ปี พ.ศ. 2564 และปากีสถานปี พ.ศ. 2565 พบเหตุการณ์คลื่นความร้อนบ่อยครั้งซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้คนฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น การศึกษาในปี พ.ศ. 2561 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Climate Change ฉายภาพว่าสนอนาคตอากาศที่ร้อนขึ้นอาจทำให้คนฆ่าตัวตายมากขึ้นถึง 20,000 คนในสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกในอีก 30 ปีข้างหน้า
“ภัยคุกคามด้านสุขภาพต่อมนุษย์อยู่ในระดับที่น่ากังวล” Marshall Burke ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมจาก Stanford และหนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยดังกล่าวระบุ “ผมคิดว่านี่คือสาเหตุหลักที่เราจะต้องทำอะไรสักอย่างกับวิกฤติภูมิอากาศ”
แม้ว่าเมืองใหญ่ทั้งเมืองจะเผชิญกับสภาพอากาศที่แสนร้อน แต่ไม่ใช่ทุกมุมเมืองที่เจอกับสถานการณ์เลวร้ายนี้อย่างเท่าเทียมกัน “คนเมืองและคนรายได้น้อยคือกลุ่มที่มักจะต้องเผชิญกับความร้อนรุนแรง พวกเขาหนีจากมันไม่ได้ เพราะขาดแคลนทรัพยากร” Sebree กล่าวสรุป
ความทุกข์ใจจากภูมิอากาศ
เหยื่อจากวิกฤติภูมิอากาศจำนวนไม่น้อยต้องมองภาพบ้านตัวเองพังทลายไปต่อหน้าต่อตา ขณะที่คนอื่นๆ มองสภาพแวดล้อมรอบตัวค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปจนจำไม่ได้
เช่นเดียวกับ “ความกระวนกระวายด้านสิ่งแวดล้อม” นักวิทยาศาสตร์คิดคำใหม่มาเรียกความโศกเศร้านี้ว่าการโหยหาเนื่องจากสูญเสียสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย (solastalgia) มีคนอธิบายภาวะดังกล่าวว่าเป็นการคิดถึงบ้านประเภทหนึ่ง
นักวิทยาศาสตร์พยายามเก็บข้อมูลว่าภาวะนี้ส่งผลอย่างไรต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ทีมวิจัยใช้เวลาหนึ่งปีเพื่อติดตามสัมภาษณ์ชาวอินูอิตที่แคนาดากว่า 72 คน ในชุมชนชาติพันธุ์เช่นนี้ สมาชิกต้องพึ่งพาการล่าสัตว์และตกปลาเพื่อประทังชีพ โดยที่ครอบครัวตั้งรกรากมานานหลายชั่วอายุคน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้บ้านของพวกเขาไม่เหมือนเดิม
ผลการศึกษาพบว่า 98 เปอร์เซ็นต์ของผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวถึงความรักในบ้านเกิดอย่างลึกซึ้ง การสัมภาษณ์หลายชิ้นระบุว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมกระทบต่อทั้งสภาพจิตใจและอารมณ์ของพวกเขา งานศึกษาอีกชิ้นหนึ่งพบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างรวดเร็วนั้นทำให้อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น “สูงอย่างน่ากังวล” ในอาร์กติก
บำบัดใจจากวิกฤติภูมิอากาศ
นักจิตวิทยามองเรื่องวิกฤติภูมิอากาศอย่างจริงจัง Climate Psychology Alliance ช่วยเหลือผู้ป่วยในการเข้าหานักบำบัดที่แสดงความสนใจในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการทางใจเกี่ยวกับภูมิอากาศ องค์การอนามัยโลกสนับสนุนให้รัฐบาลนำการรักษาพยาบาลด้านภาวะจิตใจเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ยิ่งนานวัน ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตจะแนะนำให้ผู้ป่วยเข้าหาธรรมชาติเพื่อผ่อนคลาย ตั้งแต่แนะนำให้ไปเดินป่าหรือการอาบป่าซึ่งเป็นศิลปะของชาวญี่ปุ่นที่จะช่วยรักษาอาการป่วยไข้จากโลกภายนอก
“คนที่เผชิญกับภาวะวิตกกังวลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมักเป็นกลุ่มคนที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม และคงได้รับประโยชน์จากการใช้ชีวิตนอกบ้าน” Clayton กล่าว
มีการศึกษาพบว่าการใช้เวลาในธรรมชาตินอกจากจะช่วยบรรเทาภาวะความป่วยไข้ทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวลแล้ว ยังช่วยด้านสุขภาพอื่นๆ อย่างหอบหืดและความดันโลหิตสูงอีกด้วย
“การบำบัดด้วยการเข้าสู่ธรรมชาติจะช่วยให้เราเข้าใจความสัมพันธ์กับตนเองและธรรมชาติ” Sebree กล่าว “มันช่วยเสริมความเป็นอยู่ที่ดี สร้างความตระหนักรู้ตนเอง เกิดความคิดว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของอะไรบางอย่าง คนบางคนมองว่านี่คือฝั่งของจิตวิญญาณ เพราะการอยู่กับธรรมชาติจะช่วยสร้างสายสัมพันธ์ลึกซึ้งกับตนเอง คนอื่น และสัตว์ต่างๆ”
การเล่าเรื่องความกังวลต่อวิกฤติภูมิอากาศกับเพื่อนหรือนักบำบัดก็ช่วยเช่นกัน “คนจำนวนมากเผชิญกับความเครียดจากวิกฤติภูมิอากาศ แต่มักจะไม่ได้จัดการอย่างจริงจัง” Clayton กล่าว “แต่การมีคนเห็นตรงกันก็สำคัญมากๆ เพียงแค่ใครสักคนมาบอกว่าใช่ คุณไม่ผิดนะที่จะกังวลเรื่องนี้”
ถอดความและเรียบเรียงจาก Climate change’s hidden threat: grief and trauma
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก