รัฐบาลจากหลากหลายประเทศได้ลงนามในข้อตกลงที่สำคัญที่สุดในรอบทศวรรษเพื่อยุติการทำลายระบบนิเวศของโลก แต่ข้อตกลงดังกล่าวดูราวกับถูกบังคับให้ผ่านโดยประธานาธิบดีจีน โดยมองข้ามคำคัดค้านจากประเทศแถบแอฟริกา
การเจรจาต่อเนื่องกว่าสี่ปี รวมทั้งความล่าช้าจากการระบาดของโควิด-19 การประชุมที่ล่วงเลยถึงคืนวันอาทิตย์ที่มอนทรีออลซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 ประเทศ ยกเว้นสหรัฐอเมริกาและวาติกัน ได้บรรลุข้อตกลงด้านความหลากหลายทางชีวภาพใน COP15 ซึ่งมีเจ้าภาพร่วมคือแคนาดาและจีนเพื่อให้มนุษยชาติเดินหน้าบนเส้นทางการดำรงชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายในกลางศตวรรษนี้
การประชุมที่เนิ่นนานกว่าเจ็ดชั่วโมงมีทั้งหลากหลายประเทศที่พยายามปรับแก้ข้อตกลงฉบับสุดท้าย แต่ในท้ายที่สุด ตอนเวลา 3 นาฬินา 30 นาทีของเช้าวันใหม่ก็มีข่าวใหญ่ว่าการประชุมยุติลงด้วยความสำเร็จ
สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกคือหนึ่งในประเทศที่คัดค้านข้อตกลงฉบับสุดท้ายซึ่งนำเสนอโดยจีน แต่ไม่นานหลังจากนั้น รัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของจีน และประธานการประชุม COP15 ก็ให้สัญญาณว่าข้อตกลงดังกล่าวถือว่าสิ้นสุดแล้ว ทั้งห้องประชุมก็ถมเต็มด้วยเสียงปรบมือ
ตัวแทนที่เข้าเจรจาจากทั้งแคเมอรูน ยูกันดา และคองโกต่างแสดงความไม่เชื่อว่าข้อตกลงดังกล่าวจะผ่านไปได้ คองโกกล่าวว่าได้ทำการคัดค้านข้อตกลงนี้อย่างเป็นทางการแต่ทนายความของสหประชาชาติกลับระบุต่างออกไป ตัวแทนจากแคเมอรูนกล่าวว่านี่คือ “การฉ้อฉล” ส่วนยูกันดามองว่านี่ไม่ต่างจากการ “รัฐประหาร” ในการประชุม COP15
ท่ามกลางปัญหาจำนวนประชากรแมลงที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทะเลที่เป็นกรดและเต็มไปด้วยขยะพลาสติก รวมทั้งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินที่ธรรมชาติจะรับไหวในวันที่ประชากรมนุษย์ทั้งร่ำรวยยิ่งขึ้นและมีจำนวนมากกว่า 8 พันล้านราย ข้อตกลงดังกล่าวหากดำเนินการจริงอาจส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อการเกษตร ห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ และบทบาทของชาติพันธุ์ท้องถิ่นในการอนุรักษ์
ข้อตกลงดังกล่าวมีการเจรจามายาวนานกว่าสองสัปดาห์ โดยมีหนึ่งในเป้าหมายคือการประกาศให้พื้นที่ 30 เปอร์เซ็นต์ของโลกเป็นพื้นที่อนุรักษ์ภายในสิ้นทศวรรษนี้ การปฏิรูปเงินอุดหนุนที่ส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อมมูลค่ากว่า 500 พันล้านดอลลาร์ และฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมบนโลกทั้งระบบนิเวศภาคพื้นดิน น้ำจืด ชายฝั่ง และทางทะเล
รัฐบาลยังบรรลุข้อตกลงถึงการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อยุติการสูญพันธุ์ที่เกิดจากมนุษย์ของชนิดพันธุ์ที่เราทราบดีว่ากำลังเผชิญภัยคุกคาม พร้อมทั้งสนับสนุนการฟื้นฟูประชากรสัตว์และพืชเหล่านั้นอีกด้วย
ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นภายหลังคำเตือนอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ว่ามนุษย์คือสาเหตุของการสูญพันธุ์ครั้งที่หกบนโลกนี้ โดยนับเป็นการสูญเสียสิ่งมีชีวิตบนโลกครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์
Steven Guilbeault อดีตนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมชาวแคนาดาที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีระบุว่าข้อตกลงคุนหมิง-มอนทรีออล (Kunming-Montreal pact) นับเป็น “ก้าวสำคัญเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม”
“เมื่อหกเดือนที่แล้ว เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราจะสามารถจัดประชุมครั้งนี้ได้หรือไม่ ไม่ต้องพูดถึงความหวังว่าจะบรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์นี้หรือเปล่า ความสำเร็จครั้งนี้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของนานาประเทศที่มารวมตัวกันที่นี่ในคืนนี้” เขากล่าว
รัฐบาลหลายประเทศไม่สามารถบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ตั้งขึ้นเองในทศวรรษที่ผ่านมา และข้อตกลงคุนหมิง-มอนทรีออลคือการผลักดันครั้งใหญ่เพื่อเปลี่ยนแปลงทศวรรษที่ล้มเหลว การเลือกปฏิบัติ และการทำลายล้างสิ่งแวดล้อม
เสียงสะท้อนจากการประชุม COP27 ที่อียิปต์เมื่อเดือนพฤศจิกายน บ่งบอกได้อย่างดีว่าปัญหาสำคัญคือเรื่องของเงิน ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และประเทศอื่นๆ จากซีกโลกเหนือต่างผลักดันเป้าหมายการอนุรักษ์ที่เข้มข้นขึ้น ขณะที่เจ้าภาพร่วมอย่างแคนาดาระบุว่าความสำเร็จของการประชุมครั้งนี้ขึ้นอยู่กับเป้าหมายสำคัญเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ 30 เปอร์เซ็นต์ของโลกภายในสิ้นทศวรรษนี้ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า 30 ก่อน 2030
ขณะที่หลายประเทศจากซีกโลกใต้ทั้งบราซิล อินโดนีเซีย และคองโก ซึ่งเป็นประเทศที่มีป่าฝนเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดสามแห่งของโลก ต่างแสดงความต้องการให้รัฐบาลก่อตั้งกองทุนความหลากหลายทางชีวภาพแห่งใหม่เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงครั้งนี้เพื่อให้เงินอุดหนุนในการทำงานอนุรักษ์
ในข้อตกลงสุดท้าย นานาประเทศตัดสินใจว่าจะก่อตั้งกองทุนใหม่ภายในกลไกการเงินด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่เดิมของสหประชาชาติ พร้อมทั้งมีการพูดคุยว่าจะก่อตั้งกองทุนใหม่แยกออกไปในอนาคต ประเทศร่ำรวยยังให้ค่ำมั่นว่าจะให้เงินช่วยเหลือ 30 พันล้านดอลลาร์สำหรับความหลากหลายทางชีวภาพภายในสิ้นทศวรรษนี้ โดยเงินก้อนนี้นับว่าเพิ่มขึ้นอย่างมากหากเทียบกับยอดเงินในปัจจุบัน
ถึงแม้ข้อตกลงคุนหมิง-มอนทรีออลจะไม่มีผลตามกฎหมาย แต่รัฐบาลจะมีภาระในการแสดงความก้าวหน้าเพื่อให้ถึงเป้าหมายตามแผนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระดับชาติ คล้ายกับการมีส่วนร่วมซึ่งประเทศกำหนดเอง (nationally determined contributions) ซึ่งเป็นแผนที่รัฐบาลแต่ละประเทศต้องดำเนินการตามข้อตกลงปารีส
ผู้สังเกตการณ์บางกลุ่มก็แสดงความผิดหวังเนื่องจากเนื้อหาในข้อตกลงใช้ภาษาที่ค่อนข้างบางเบา โดยเฉพาะในเรื่องบริโภคและการใช้ยาฆ่าแมลงที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ส่วนคำว่า “ธรรมชาติเป็นบวก (nature positive)” ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเทียบเท่ากับ “การปล่อยแก๊สเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์” ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ไม่ปรากฏในข้อตกลงเช่นกัน
นอกจากเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว นานาประเทศยังบรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์เพื่อพัฒนากลไกทางการเงินในการแบ่งปันผลประโยชน์จากการค้นพบยา วัคซีน และอาหารจากความหลากหลายทางชีวภาพในรูปแบบดิจิทัล หรือที่เรียกว่า digital sequence information หรือ DSI อีกด้วย
ถอดความและเรียบเรียงจาก Cop15: historic deal struck to halt biodiversity loss by 2030
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก