เรื่องราวของการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตยังดำเนินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
จากที่นักวิทยาศาสตร์จาก WWF (เยอรมนี) ได้กล่าวเตือน ดูเหมือนในทศวรรษหน้าสัตว์ป่าหลายชนิดอาจต้องสูญพันธุ์อย่างเลี่ยงไม่ได้
ไม่ว่าจะเป็น หมีขั้วโลก ช้างป่าแอฟริกา และฉลาม – ตัวอย่างเหล่านี้มีเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ
ฤดูร้อนของปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเหนือมวลแผ่นดินอาร์กติกร้อนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และภาวะโลกร้อนโจมตีอาร์กติกแรงกว่าที่อื่นๆ ถึง 3 เท่า
ในปี 2035 มหาสมุทรอาร์กติกอาจปราศจากน้ำแข็งโดยสิ้นเชิงในฤดูร้อนเป็นครั้งแรก และหมีขั้วโลกตัวสุดท้ายอาจมีชีวิตอยู่ถึงแค่ปี 2100
จากรายงานของ International Red List เมื่อปีที่แล้วระบุว่าหนึ่งในสามของสายพันธุ์ปลาฉลามและปลากระเบนถูกคุกคาม
การจับปลามากเกินไปเป็นสาเหตุหลักของการลดลง แต่การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยและวิกฤตสภาพอากาศก็เป็นเหตุที่ทำให้สถานะของสัตว์น้ำเหล่านี้ไม่ปลอดภัยเช่นกัน
ขณะที่สถิติการลดลงของช้างแอฟริกาสูงถึง 86% ในช่วง 31 ปีที่ผ่านมา
.
.
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์จาก WWF ยังขยายมหันตภัยครั้งใหญ่ต่อไปว่า “สิ่งมีชีวิตประมาณหนึ่งล้านชนิดอาจสูญพันธุ์ได้ภายในทศวรรษหน้า ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ ‘การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุด’ นับตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์สิ้นสุดลง”
บัญชีแดงของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้จำแนก 142,500 สปีชีส์เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์
โดยรวมแล้ว ประมาณ 40,000 ของสายพันธุ์เหล่านี้ถูกคุกคามด้วยการสูญพันธุ์ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์
มากกว่าครึ่งหนึ่งของสายพันธุ์กบและคางคกทั้งหมดอาจหายไปจากประเทศเยอรมนี ส่วนในเวทีโลกสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมากกว่า 40% กำลังจะสูญพันธุ์
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางข่าวร้าย ก็ยังเรื่องราวด้านบวก ที่แสดงให้เห็นประกายความหวังที่เกิดขึ้นจากงานอนุรักษ์สัตว์ป่าและที่อยู่อาศัยอย่างเข้มข้น
เป็นต้นว่าในปี 2021 ที่ผ่านมา “แร้งเครา” จากที่เคยมีเพียง 50 ตัว เมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว แต่เมื่อปีที่ผ่านมาเพิ่มเป็น 300 ตัว อาศัยอยู่ทั่วภูมิภาคอัลไพน์
ในกัมพูชามีการพบ “จระเข้สยาม” – สัตว์ที่ยืนอยู่ชิดขอบเหวของการสูญพันธุ์มากที่สุดชนิดหนึ่ง – เกิดใหม่ 8 ตัว
“ลิงซ์ไอบีเรีย” – แมวป่าที่เคยครองแผ่นดินทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป แต่กลายเป็นสัตว์หายากในยุคแอนโทรโปซีน เหลือไม่ถึง 100 ตัว ก็เพิ่มมาเป็น 1,111 ตัว
.
.
นอกจากนี้ รายงานของ WWF ประเทศเยอรมนี ยังกล่าวเตือนว่า วันนี้โลกกำลังป่วยเพราะระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพกำลังได้รับความเสียหาย และนั่นกำลังทำให้มนุษย์เราป่วยไม่ต่างกัน
เราต้องพึ่งพาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อชีวิตที่ปลอดภัยและสุขภาพที่ดีของเรา
อ้างอิง
ผู้เขียน
โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน