การประชุม COP26 หรือ การประชุมเพื่อสร้างกรอบนโยบายรับมือวิกฤติภูมิอากาศ ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ และนี่เป็น 11 ประเด็นสำคัญที่เราต้องรู้เกี่ยวกับการประชุมครั้งนี้
.
1. COP26 คืออะไร
เป็นเวลาร่วมสามทศวรรษที่รัฐบาลทั่วโลกเข้าร่วมประชุมกันทุกปีเพื่อสร้างกรอบนโยบายรับมือวิกฤติภูมิอากาศ ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change) ปี 1992 ทุกประเทศบนโลกมีข้อผูกพันตามสนธิสัญญาเพื่อ “หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อันตราย” และหาทางลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกทั่วโลกอย่างเป็นธรรม
COP (conference of the parties) หมายถึงการประชุมของฝ่ายต่างๆ ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ งานประชุมที่ผ่านมามีทั้งประเด็นดุเดือดเลือดพล่านไปจนถึงเรื่องชวนง่วง บางครั้งก็เปี่ยมไปด้วยประเด็นน้ำเน่าและบางครั้งก็สำเร็จอย่างงดงาม (เช่นข้อตกลงปารีสเมื่อปี พ.ศ. 2558) หรือหายนะ (การประชุมที่โคเปนเฮเกนปี พ.ศ. 2552) ปีนี้คือการประชุมครั้งที่ 26 ซึ่งเลื่อนกำหนดการมาจากปีที่แล้วเพราะการระบาดของโควิด-19 โดยเจ้าภาพคือสหราชอาณาจักร และจะประชุมในเมื่อกลาสโกว์
.
2. งานประชุมจะมีขึ้นเมื่อไหร่?
งานประชุมจะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ตุลาคม หนึ่งวันก่อนแผนที่วางไว้เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 โดยที่ผู้นำทั่วโลกจากกว่า 120 ประเทศจะมารวมตัวกันในช่วงวันแรกๆ ก่อนที่พวกเขาจะเดินทางกลับแล้วปล่อยให้ประเด็นยุ่งยากเกี่ยวกับการเจรจาเป็นเรื่องของผู้แทนซึ่งส่วนใหญ่คือรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อม หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้อง คาดว่าปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมการประชุมมากกว่า 25,000 คน
คาดว่าการพูดคุยทั้งหมดจะจบลงตอน 6 โมงตรงในวันที่ 12 พฤศจิกายน แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การประชุมหลายครั้งมีแนวโน้มที่จะยืดยาวไปต่อถึงวันเสาร์หรือบางครั้งก็อาจถึงวันอาทิตย์
.
3. ทำไมเราต้องมี COP ก็เรามีข้อตกลงปารีสแล้วไม่ใช่หรือ?
ใช่แล้วครับ ภายใต้ข้อตกลงปารีสซึ่งลงนามเมื่อ พ.ศ. 2558 หลายประเทศได้ให้คำมั่นว่าจะรักษาระดับอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มมากกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และ “พยายามอย่างยิ่ง” ที่จะจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เป้าหมายดังกล่าวมีข้อผูกพันตามกฎหมายและมีระบุอย่างชัดเจนในข้อตกลง
อย่างไรก็ดี เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว แต่ละประเทศจะต้องเสนอเป้าหมายระดับชาติที่ไม่ได้มีข้อผูกพัดเพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก หรือทำให้อัตราการเติบโตของตัวเลขดังกล่าวช้าลงในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีเป้าหมายคืออีก 10 ปีข้างหน้า
เป้าหมายดังกล่าวมีชื่อว่า “แผนสนับสนุนในระดับประเทศอย่างมุ่งมั่น (nationally determined contributions)” หรือ NDC แต่แผนในปัจจุบันก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เราบรรลุตามเป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงปารีส มีการประมาณการว่าการดำเนินการดังกล่าวจะยังทำให้โลกร้อนขึ้นราว 3 องศาเซลเซียสซึ่งก็ยังถือเป็นระดับหายนะ
ทุกคนต่างทราบตั้งแต่การประชุมที่ปารีสว่า NDCs ที่แต่ละประเทศเสนอนั้นยังไม่เพียงพอ ผู้นำฝรั่งเศสจึงระบุ “กลไกสอบทาน” ซึ่งแต่ละประเทศจะต้องกลับมาคุยพูดคุยกันอีกครั้งทุกห้าปีพร้อมทั้งข้อเสนอใหม่ ความจริงแล้วห้าปีที่ว่าครบรอบไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 แต่เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศไม่สะดวกเข้าร่วมประชุม
ทุกประเทศต่างถูกเร่งรัดให้ปรับแก้ NDCs ก่อน COP26 เพื่อให้อยู่ในกรอบการเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเป้าหมายขีดล่างของข้อตกลงปารีส นักวิทยาศาสตร์คาดว่าหากจะบรรลุเป้าหมายนั้นจะต้องลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก 45 เปอร์เซ็นต์ภายในปี พ.ศ. 2573 และค่อยๆ ทำให้การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเท่ากับศูนย์ภายในอีก 30 ปีข้างหน้า หากเป็นเช่นนี้โลกก็ยังมีความหวังที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
.
4. แล้วเราเข้าใกล้เป้าหมายนั้นแล้วหรือยัง?
ไม่เลยครับ รายงานฉบับล่าสุดของสหประชาชาติที่ศึกษา NDC ชุดใหม่ซึ่งรวมทั้งฉบับแก้ไขของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และอีกกว่า 100 ประเทศก็ยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยคาดการณ์ว่าจะทำให้การปล่อยแก๊สเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 16 เปอร์เซ็นต์ ห่างไกลจากเป้าหมายลด 45 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเรายังต้องใช้ความพยายามอีกมาก
.
5. ทั้งหมดนี้เป็นเพราะจีนหรือเปล่า?
จีนซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกมากที่สุดในปัจจุบันยังไม่ได้ส่ง NDC ฉบับใหม่ อีกทั้งเรายังไม่ทราบว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจะเข้าร่วมการประชุมที่กลาสโกว์หรือไม่ การปรากฎตัวของเขาย่อมทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้ง่ายขึ้น แต่การส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงมาแทนก็อาจทำให้การพูดคุยสำเร็จได้เช่นกัน
สีประกาศเมื่อปีที่ผ่านมาว่าจีนจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยแก๊สเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 โดยอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญคือจะทำให้การปล่อยแก๊สเรือนกระจกถึงจุดสูงสุดในปี พ.ศ. 2573 แต่เป้าหมายดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอและอาจทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส นักวิเคราะห์มองว่าจีนสามารถทำให้การปล่อยแก๊สเรือนกระจกถึงจุดสูงสุดในปี พ.ศ. 2568 ด้วยความพยายามเพียงเล็กน้อย ซึ่งนั่นก็เพียงพอแล้วที่จะช่วยให้โลกบรรลุได้ตามเป้าหมาย
จีนไม่ใช่ประเทศเดียวที่ทั่วโลกจับตามอง ประเทศผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลยักษ์ใหญ่ก็ยังไม่ยอมปรับแผนการให้เข้มข้นขึ้น เช่น ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย และออสเตรเลีย เช่นเดียวกับผู้นำบราซิลก็ยังหลีกเลี่ยงการพูดถึงหายนะการทำลายป่าแอมะซอน
เรายังมีคำถามเกี่ยวกับคำมั่นใหม่ของรัฐบาลญี่ปุ่นและอินเดียที่ก่อนหน้านี้มีแนวโน้มว่าจะตั้งเป้าปล่อยแก๊สเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์แต่กลับเผชิญวิกฤติโควิด-19 จนต้องปรับเปลี่ยนแผน เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศที่กำลังเติบโตต่างต้องพึ่งพาถ่านหิน เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ อย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย แอฟริกาใต้ เม็กซิโกก็เป็นกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเช่นกัน
.
6. ทำไมอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียสจึงสำคัญ?
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงปารีส รับหน้าที่หลักในการประเมินว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียสจะส่งผลต่อโลกอย่างไร พวกเขาพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการที่โลกร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสกับ 2 องศาเซลเซียส และสรุปว่า 1.5 องศาเซลเซียส คือระดับที่ปลอดภัยกว่า
การที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสอาจทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ปะการังจำนวนมากฟอกขาว และความเสี่ยงในการเกิดคลื่นความร้อน ภัยแล้ง อุทกภัย พายุหมุนรุนแรง และเหตุการณ์วิกฤติภูมิอากาศต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่มันก็ยังไม่เลวร้ายนักหากเทียบกับการที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส
งานศึกษาชิ้นล่าสุดโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เน้นย้ำคำเตือนดังกล่าวและสรุปว่าเรายังมีโอกาสที่จะทำให้โลกอุณหภูมิไม่เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพียงแต่เราต้องใช้ความพยายามมากกว่านี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังย้ำว่าทุกเศษเสี้ยวการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิต่างก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง
.
7. เราต้องทำเพิ่มอีกมากแค่ไหน?
อุณหภูมิทั่วโลกเพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 1.1 ถึง 1.2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และแก๊สเรือนกระจกก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปริมาณการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงก็จริงในช่วงล็อคดาวน์เพราะโควิด-19 แต่มันก็เป็นแค่เรื่องชั่วคราว ตัวเลขดังกล่าวจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากที่เศรษฐกิจฟื้นตัว เพื่อไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เราจำเป็นจะต้องลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกปีละ 7 เปอร์เซ็นต์ในทศวรรษนี้
.
8. แล้วเป้าหมายปล่อยคาร์บอนสุทธิเท่ากับศูนย์ล่ะ?
เพื่อให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เราต้องหยุดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และแก๊สเรือนกระจกอื่นๆ จากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล การเกษตร และการปศุสัตว์ซึ่งปล่อยแก๊สมีเทน หยุดการตัดไม้ทำลายป่าในบางอุตสาหกรรมโดยต้องพยายามลดให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ แต่หากจำเป็นก็จะต้องหาคาร์บอนมาหักกลบลบกัน เช่น การปลูกป่าหรือสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อให้ผลลัพธ์สุทธิมีค่าเท่ากับศูนย์
เป้าหมายระยะยาวเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ สภาพอากาศนั้นเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการสะสมของแก๊สเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ คาร์บอนไดออกไซด์สามารถอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานกว่าศตวรรษ ดังนั้น ต่อให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเท่ากับศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 แต่อุณภูมิโลกก็อาจเพิ่มมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นี่คือเหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์และนักการเมืองต่างมองว่าทศวรรษนี้คือทศวรรษที่จะชี้เป็นชี้ตายในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากเราสามารถลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกได้รวดเร็วพอ และจำกัดไม่ให้แก๊สเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศไม่สะสมอยู่มากเกินไป เป้าหมายจำกัดอุณภูมิ 1.5 องศาเซลเซียสก็อาจเป็นไปได้
.
9. แล้วมีปัญหาอื่นอีกหรือไม่?
ที่ COP26 ประเทศสมาชิกจะต้องร่วมกันหาทางออกเรื่องกลไกซื้อขายคาร์บอน กลไกดังกล่าวถูกพูดถึงตั้งแต่พิธีสารเกียวโตเมื่อ พ.ศ. 2540 สำหรับให้ประเทศร่ำรวยจ่ายเงินเพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ภายใต้แนวคิดที่ว่าการลดคาร์บอนหนึ่งตันที่ไหนก็ได้บนโลกจะมีผลเท่าเทียมกัน แต่การลดคาร์บอนที่อินเดียมีราคาถูกกว่าที่อิตาลี รัฐบาลหรือบริษัทอิตาลีจึงสามารถจ่ายเงินให้กับโครงการต่างๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลมในอินเดียเพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก แล้วนับโครงการเหล่านั้นว่าเป็น “เครดิตคาร์บอน” ของเป้าหมายลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ของอิตาลี
วิธีการดังกล่าวจะทำให้ประเทศยากจนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ขณะเดียวกันก็ผ่อนคลายภาระทางการเงินสำหรับประเทศร่ำรวยอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ระบบดังกล่าวถูกฉ้อฉลหรือไม่เพียงพอในช่วงเวลาที่ทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนาจะต้องลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การซื้อขายคาร์บอนอยู่ในบทที่ 6 ของข้อตกลงปารีส แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะนำไปดำเนินการจริงอย่างไร ในการประชุม COP ล่าสุดที่กรุงมาดริด ประเด็นนี้ถูกปัดออกไปก่อน หลายคนจึงคาดหวังว่ามันจะถูกหยิบมาพูดคุยอีกครั้งในการประชุมครั้งนี้
.
10. นี่ก็การประชุมครั้งที่ 26 แล้ว ทำไมใช้เวลาแก้ปัญหานานขนาดนี้?
นับตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรม โลกสมัยใหม่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล ความรุ่งโรจน์และเทคโนโลยีทั้งหมดของเราถูกสร้างขึ้นบนพลังงานฟอสซิลราคาถูก การยุติการใช้พลังงานฟอสซิลจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งระบบพลังงาน สภาพแวดล้อม การคมนาคมขนส่ง ไปจนถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหาร
การที่จะให้ประเทศ 196 ประเทศบรรลุข้อตกลงร่วมกันในประเด็นที่ซับซ้อนยุ่งยากนับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ประเทศพัฒนาแล้วเคยรู้สึกว่าตนเองไม่ต้องการแบกรับภาระ ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาก็เรียกร้องสิทธิที่จะใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่อเพื่อบรรลุการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการถกเถียงเรื่องความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นในอดีต การผลักภาระ ต้นทุนที่สูง การเชื่อวิทยาศาสตร์อย่างเกินเลย และภาคการเมืองที่เปลี่ยนท่าทีกลับไปกลับมาตามยุคสมัยของผู้นำแต่ละรัฐบาล เช่น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่นำสหรัฐอเมริกาออกจากข้อตกลงปารีสทันทีเมื่อขึ้นสู่อำนาจ
แต่เรามีข่าวดีเมื่อไม่นานไม่นี้ ราคาพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมลดลงอย่างมากโดยหลายแห่งมีต้นทุนต่ำกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าก็พัฒนาอย่างรวดเร็ว และอุตสาหกรรมไฮโดรเจนก็เติบโตอย่างมาก
.
11. เป้าหมายของ COP26 ครั้งนี้?
น่าเสียดายที่ผู้เล่นคนสำคัญในการพูดคุยครั้งนี้คือสหประชาชาติ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ต่างก็ยกธงขาวและยอมรับว่าคงไม่ได้บรรลุทุกอย่างตามที่วาดหวังไว้ใน COP26 แผน NDC จากการประชุมครั้งนี้คงไม่ได้ทำให้เราสามารถจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส
นับว่าเป็นเรื่องน่าผิดหวังแต่ไม่ถึงกับน่าประหลาดใจสำหรับคนที่สนใจติดตามข่าวสารเรื่องสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการต่อรองที่ซับซ้อนยุ่งยาก ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบจึงไม่น่าจะเกิดขึ้น สิ่งที่เจ้าภาพอย่างสหราชอาณาจักรต้องการคือทำให้มั่นใจว่าความก้าวหน้าในการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกสำหรับ พ.ศ. 2573 นั้นยังคงมีความหวังว่าจะจำกัดอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยหลากหลายแนวทาง เช่น การลดการใช้ถ่านหิน ลดการปล่อยแก๊สมีเทน ริเริ่มการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลสู่พลังงานแหล่งอื่นภาคการขนส่ง รวมทั้งให้ภาคธุรกิจ สถาบันการเงิน และรัฐบาลท้องถิ่นสร้างแผนลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่สอดคล้องกับเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส
ถอดความและเรียบเรียงจาก What is Cop26 and why does it matter? The complete guide
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก