งานศึกษาชิ้นใหม่ของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐฟลอริดา พบ “ไมโครพลาสติก” ทั้งในกลุ่มนกบกและกลุ่มนกน้ำ นกเหยี่ยว ทั้งประเภทกินปลาเป็นอาหาร ไปจนถึงนกฮูก ซึ่งการสะสมของไมโครพลาสติกในระบบย่อยอาหารอาจทำให้นกเกิดภาวะเป็นพิษ ความอดยาก และถึงแก่ความตาย
“ไมโครพลาสติก” เป็นชิ้นส่วนพลาสติกที่มีขนาดเล็ก (ยิ่งกว่าปลายของดินสอ) เกิดจากการแตกตัวของพลาสติกชิ้นใหญ่ เช่น จากเสื้อผ้าสังเคราะห์ หรือส่วนผสมชิ้นเล็กที่ใช้ในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเสริมความงาม หรือที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม
งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์เร็ว ๆ นี้ ในวารสาร Environmental Pollution ได้อธิบายถึงความสำคัญของปัญหา เนื่องจากนกนักล่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ แต่การที่พวกมันมีไมโครพลาสติกสะสมอยู่ในระบบย่อยอาหารอาจนำไปสู่ภาวะที่เป็นพิษ ส่งผลให้นกเหล่านั้นต้องพบกับจุดจบอันน่าเศร้า
“นกนักล่า ถือเป็นผู้ล่าอันดับต้น ๆ ในระบบนิเวศ พวกมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรและสมดุลของระบบนิเวศ มันเกี่ยวโยงกับสัตว์ต่าง ๆ ทั้งหมดในห่วงโซ่อาหาร” จูเลีย คาร์ลิน บัณฑิตภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยแห่งรัฐฟลอริดา และผู้เขียนรายงานหลัก กล่าว
การปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในสภาพแวดล้อมน่าจะเริ่มต้นในทันทีหลังจากพลาสติกชิ้นแรกถูกทิ้งไป ลินดา วอลเตอร์ ศาสตราจารย์ภาคชีววิทยา มหาวิทยาลัยแห่งรัฐฟลอริดา และผู้ร่วมเขียนรายงาน อธิบาย
.
.
การค้นพบพลาสติกภายในร่างกายสัตว์ครั้งแรกมีขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1960 แต่การศึกษาที่พุ่งเป้าเฉพาะเจาะจงถึงไมโครพลาสติกเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อราวปี 2010 ศาสตราจารย์ภาคชีววิทยา กล่าว
การศึกษาที่มีขึ้นก่อนหน้านี้ ได้บันทึกถึงจำนวนไมโครพลาสติกในปลา นกทะเล และสัตว์จำพวกไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น หอยนางรม นอกจากนี้ ยังมีรายงานที่เกี่ยวข้องกับวาฬที่กำลังจะเสียชีวิตเพราะมีพลาสติก (รวมถึงถุงพลาสติก) อยู่ในร่างกายหลายสิบปอนด์
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการตรวจสอบอย่างละเอียดถึงไมโครพลาสติกในเหล่านกนักล่าหรือกลุ่มนกบกมาก่อน
นักวิจัยได้ทำการศึกษาจากซากนกจำนวน 63 ตัว หลังพวกมันเสียชีวิตได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง จากทั่วรัฐฟลอริด้าตอนกลาง ด้วยกล้องจุลทรรศน์และสเปคโตรสโคป พบว่ามีไมโครพลาสติกเกือบ 1,200 ชิ้น ในระบบย่อยอาหารจากนกที่ตรวจสอบทั้งหมด
โดยไมโครพลาสติกที่พบมากที่สุดในร่างกายนก คือ ไมโครไฟเบอร์ (เส้นใยสังเคราะห์ขนาดเล็ก) คิดเป็น ร้อยละ 86 ของพลาสติกที่พบ ซึ่งที่มาของไมโครไฟเบอร์เป็นได้ตั้งแต่เชือกสังเคราะห์ หรือชิ้นส่วนเสื้อผ้า ซึ่งอาจไหลไปรวมอยู่ในระบบนิเวศผ่านน้ำเสียของเครื่องซักผ้า
ไมโครพลาสติกสีน้ำเงินและใสเป็นสีที่พบมากที่สุด เหตุผลของเรื่องนี้อาจเพราะสีดังกล่าวมีความโดดเด่นเมื่อปรากฎบนภูมิประเทศ นกอาจเกิดความสับสนจากสีคิดว่าเป็นเหยื่อหรือวัสดุสำหรับประกอบสร้างรัง
.
.
ศาสตราจารย์วอลเตอร์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความระมัดระวังในการทิ้งขยะ รวมไปถึงการเลือกใช้เสื้อผ้าที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติแทนที่เครื่องนุ่งห่มที่มีพลาสติกผสม การติดตั้งและปรับปรุงโรงบำบัดน้ำ และท่อระบายน้ำฝนเพื่อดักจับไมโครพลาสติก
“เราทุกคนได้รับความสะดวกสบายจากพลาสติก แต่พลาสติกไม่ได้หายไปไหนเมื่อเราใช้มันเสร็จแล้ว” ศาสตราจารย์ภาคชีววิทยา กล่าว