ไทยตีกลับรายงานเทคนิคเขื่อนสานะคาม เมื่อเขื่อนใหญ่ในแม่โขงอาจไม่หอมหวานอีกต่อไป

ไทยตีกลับรายงานเทคนิคเขื่อนสานะคาม เมื่อเขื่อนใหญ่ในแม่โขงอาจไม่หอมหวานอีกต่อไป

เมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมา บริษัทรับเหมาก่อสร้างสัญชาติจีน เจ้าของสัมปทานโครงการเขื่อนสานะคามในประเทศลาว ได้ส่งรายงานเทคนิคแก่คณะกรรมการลุ่มน้ำโขงประเทศไทย โดยหวังว่าจะช่วยบรรเทาความกังวลด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังไม่ยอมรับการแก้ไขดังกล่าว และให้เหตุผลว่ารายงานฉบับใหม่นี้ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ และต้องมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมให้ถี่ถ้วน

ประเทศไทยแสดงความกังวลอย่างต่อเนื่อง ในประเด็นด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากเขื่อน ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบนิเวศของลำน้ำ หรือกระทั่งการขู่ว่าจะไม่ลงนามในสัญญาซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อน ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดจากประเทศลาว แต่หลังจากการระบาดของโควิด-19 ความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยก็ลดลงอย่างมาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ท่าทีแสดงความระมัดระวังต่อเขื่อนเหนือลำน้ำโขงแห่งใหม่แสดงให้เห็น ว่าไทยเริ่มไม่สบายใจต่อปัญหาที่มาพร้อมกับโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เหนือลำน้ำโขงสายหลัก ระดับน้ำของแม่น้ำโขงต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องเป็นเวลาสองปี โดยมีสาเหตุหลักจากเขื่อนที่ต้นน้ำซึ่งอยู่ในประเทศจีน

การก่อสร้างเขื่อนหลายแห่งเริ่มเป็นประเด็นที่ทำให้เหล่าประเทศปลายน้ำไม่สบายใจ เพราะเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ระดับน้ำในแม่น้ำลดต่ำจนเครื่องสูบน้ำเพื่อการชลประทานในไทยไม่สามารถทำงานได้ ทำให้รัฐบาลตัดสินใจส่งทหารเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร ชาวประมงทางภาคเหนือของไทยที่พึ่งพาแม่น้ำโขง ต่างก็เผชิญกับปริมาณปลาที่จับได้ลดลงอย่างน่าใจหาย ส่งผลให้รายได้ไม่พอต่อการยังชีพ เขื่อนยังทำให้ระดับน้ำนแม่น้ำโขงต่ำกว่าปกติแม้แต่ในฤดูมรสุม อีกทั้งยังก่อให้เกิดน้ำท่วมเฉียบพลันบริเวณชายแดนไทยลาวในช่วงฤดูแล้ง

เมื่อต้นทุนทางเศรษฐกิจของเขื่อนนั้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในมุมมองของประเทศปลายน้ำอย่างไทย แม้ว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยจะปล่อยปละละเลย และหละหลวมในการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อปัญหาเริ่มสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ภาครัฐก็เริ่มไม่อยู่เฉยและส่งคำร้องเรียนต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงเกี่ยวกับเขื่อนในประเทศจีน หลังจากที่พบว่าประชาชนริมฝั่งโขงเผชิญกับปัญหาปากท้อง เนื่องจากระบบนิเวศในแม่น้ำที่เปลี่ยนแปลงไป และหลังจากนั้นไม่นาน ไทยก็ประกาศว่าจะถอนตัวจากโครงการขุดลอกแม่น้ำโขงของจีน

ในขณะที่ประเทศลาวเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าอย่างต่อ เนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพื่อมุ่งสู่งวิสัยทัศน์ ‘แบตเตอรีแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ โดยในตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ลาวเดินหน้าสร้างเขื่อนไปแล้วกว่า 50 แห่ง และยังมีอีกกว่า 50 โครงการที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง รัฐบาลลาวหวังจะใช้การส่งออกไฟฟ้า เพื่อพาประเทศพ้นจากความยากจน แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจะแสดงความสงสัยต่อแผนการดังกล่าว เพราะไทยอาจไม่ซื้อไฟฟ้าจากลาวเหมือนเช่นในอดีตเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เช่นเดียวกับประเทศออสเตรเลีย ซึ่งกำลังกลายเป็นผู้แข่งในการผลิตไฟฟ้าที่สะอาดกว่า และราคาถูกกว่า 

นอกจากนี้ การส่งออกไฟฟ้าพลังงานน้ำก็ไม่ได้สร้างกำไรมากมายให้กับรัฐบาลลาว แม้ว่าตัวเลขอย่างเป็นทางการจะไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่ธนาคารโลกได้เปิดเผยว่า รายได้และค่าสัมปทานซึ่งรัฐบาลลาวได้จากโครงการก่อสร้างเขื่อนนั้น น้อยกว่าที่คาด จากสัญญาในปัจจุบัน กว่าลาวจะได้ถือครองกรรมสิทธิ์เขื่อนก็ต้องรอเวลาอีก 20 ถึง 30 ปี ในทางกลับกัน แม้ว่าตอนนี้เขื่อนจะถือครองโดยบริษัทต่างชาติ แต่รัฐบาลลาวกลับตัดสินใจกู้เงินมหาศาลมาทุ่มทุนสร้างเขื่อนดังกล่าว กระทั่งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ลาวต้องยอมสูญเสียอำนาจในการควบคุมกริดไฟฟ้าให้กับจีน เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายหนี้

รัฐบาลลาวจึงเผชิญความยุ่งยากอีกขั้นหนึ่ง เมื่อลูกค้าชั้นดีอย่างไทยเริ่มมองเห็นผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ อีกทั้งทำเลสำหรับการก่อสร้างเขื่อนนั้นก็ย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ ซึ่งน่าสังเกตว่าทำไมรัฐบาลลาวจึงดึงดันยึดติดกับวิสัยทัศน์แบบไม่ยอมปล่อยวาง โดยยังไม่มีทีท่าว่าจะลดราวาศอก ที่จะเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนเหนือลำน้ำโขง แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะทำร้ายประเทศตัวเอง ทำร้ายประเทศเพื่อนบ้าน และยังทำร้ายลำน้ำโขง


ถอดความและเรียบเรียงจาก Trouble Brews in South-East Asia as Thailand Rejects Laotian Dam Report 
ภาพเปิดเรื่อง bangkokherald.com 

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก