อัตราการล่าช้างแอฟริกาในปัจจุบันยังอยู่ในสถานะอันตรายอย่างที่น่าเป็นห่วง และมีโอกาสที่ช้างอาจสูญพันธุ์ไปจากทวีปแห่งนี้
ในปี 2554 จำนวนการช้างแอฟริกาที่ตายเพราะการล่าพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ คือ มากถึงร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งหมด แต่ในงานวิจัยชิ้นใหม่พบว่าอันตราการตายของช้างจากการล่าเริ่มลดลงแล้ว อย่างเมื่อปี 2560 อัตราการตายลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 4
แต่ก็ดูเหมือนตัวเลขนี้อาจยังไม่ดีพอสำหรับการอนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญพันธุ์
การลดลงของตัวเลขถือเป็นข่าวดีก็จริง แต่ถึงอย่างไรการคุกคามก็ยังมีอยู่ และมันจะแย่ยิ่งขึ้นหากไม่มีการดำเนินการใดใดเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน การทุจริต ตลอดจนความต้องการงาช้างในตลาดค้าสัตว์ป่า
การวิจัยชิ้นใหม่เกี่ยวกับการล่าช้างในทวีปแอฟริกานี้ดำเนินการโดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ทั้งจากมหาวิทยาลัยไฟรบูร์ก มหาวิทยายอร์ค และหน่วยงานว่าด้วยอนุสัญญาการค้าระหว่างประเทศในสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)
ปัจจุบันทั่วทวีปแอฟริกามีช้างป่าอยู่ประมาณ 350,000 ตัว แต่หากแต่ละปีมีช้างถูกล่าไป 10,000 หรือ 15,000 ตัว จะเกิดอะไรขึ้น ?
“เรากำลังได้รับข่าวดีว่าอัตราการล่าได้ลดลงมากจากในอดีต แต่มันก็ยังไม่ใช่จำนวนที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน ดังนั้น ประชากรของช้างจึงยังลดลง” ดร.โคลิน บีล หนึ่งในทีมวิจัยจากภาควิชาชีววิทยาของมหาวิทยาลัยยอร์คกล่าว
“อัตราการล่าช้างมันสอดคล้องกับราคางาช้างในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเราไม่อาจคาดหวังว่าการอนุรักษ์จะประสบความสำเร็จหากเรายังไม่สามารถจัดการกับความต้องการของคนในภูมิภาคนั้นได้”
“เราจำเป็นต้องหาทางลดความต้องการงาช้างในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้ชิดกับช้างแอฟริกา นี่คือเป้าหมายสำคัญสองประการเพื่อให้แน่ใจว่า จำนวนประชากรของช้างจะอยู่รอดในระยะยาวต่อไป” ดร.โคลิน บีล กล่าวเสริม
ในกรณีของประเทศจีน ซึ่งได้ประกาศห้ามนำเข้าและซื้อขายงาช้างแอฟริกาไปเมื่อปี 2560 นั้น จะช่วยลดการล่าได้หรือไม่ เรื่องนี้ทีมผู้วิจัยยังไม่สามารถตอบได้ว่ามันส่งผลกระทบต่อตัวเลขการลดลงของการล่าได้อย่างไร เพราะราคางาช้างเริ่มลดลงก่อนที่ประเทศจีนจะประกาศห้าม ซึ่งมีส่วนมาจากภาวะเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวของจีน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ไม่ว่าราคางาช้างจะสูงขึ้นมากเท่าใด มันก็ไม่ส่งผลกระทบใดใดต่อความต้องการเลย แต่ในขณะเดียวกัน ยิ่งราคางาช้างสูงมากขึ้นเท่าไหร่ จำนวนการล่าก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น
อัตราการล่าช้างที่สูงนี้เกิดขึ้นในภูมิภาคที่ประชาชนมีความยากจนที่สุด ซึ่งนำไปสู่การสนับสนุนกิจกรรมที่ผิดกฎหมายโดยมีเงินเป็นแรงจูงใจ ทีมนักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า “เรื่องนี้เป็นประเด็นที่น่าใจ หากว่าโครงการอนุรักษ์ที่ทำร่วมกับชุมชนจะสามารถปรับปรุงรูปแบบงานอนุรักษ์อย่างไร เพื่อบรรเทาความยากจนให้กับชุมชน และก็เคยมีกรณีศึกษาแล้วว่าเรื่องนี้สามารถลดอัตราการลักลอบล่าสัตว์จากชุมชนท้องถิ่นลงได้”
ดังนั้น งานนี้จึงมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องลงมือทำ แต่เรื่องใหญ่ๆ คือจะต้องลดความต้องการงาช้างลงให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องลดความยากจนที่นำไปสู่การลักลอบล่าสัตว์ลงไปพร้อมๆ กัน
ที่ผ่านมามีการทุ่มเงินลงไปจำนวนมหาศาลเพื่อพยายามป้องกันการล่า ซึ่งนั่นก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำ แต่ในมุมมองของงานวิจัยชิ้นนี้มองว่าวิธีนั้นไม่ได้จัดการไปที่รากของปัญหา
“เพื่อที่จะประเมินความเป็นไปได้ในการคุ้มครองช้างป่า เราจำเป็นต้องเข้าใจกลไกต่างๆ ทั้งในระดับโลกและในระดับท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหาการล่าช้างอย่างผิดกฎหมาย Severin Hauenstein นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไฟรบูร์ก กล่าว
“เราแนะนำว่าควรปรับปรุงกระบวนการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ที่มีการล่าช้าง แต่ต้องลดความยากจนและแก้ไขปัญหาการรับเงินผิดกฎหมายของชมชนที่ใกล้เคียงพื้นที่อนุรักษ์ควบคู่ไปด้วย มันอาจจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ที่มากขึ้น” Severin Hauenstein กล่าวสรุป
สามารถอ่านงานวิจัยฉบับเต็มเรื่อง African elephant poaching rates correlate with local poverty, national corruption and global ivory price ได้ที่ Nature Communications