ตามรายงานพื้นที่ป่าที่หายไปในปี 2020 ระบุว่า พื้นที่ป่าทั่วโลกถูกทำลายหนัก อัตราการหายไปของพื้นที่สีเขียวมีมากกว่าปี 2019 ถึง 12 เท่า
.
สาเหตุใหญ่ๆ ที่เห็นแจ้งแดงชัดมาจากการบุกรุกพื้นที่เพื่อทำการเกษตร และปัญหาไฟป่าที่โหมกระหน่ำเผาผลาญความสมดุลเสียจนแหลกลาญหลายแห่ง เป็นผลให้ปี 2020 มีป่าหายไปกว่า 12 ล้านเฮกตาร์
แต่ในเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้ ยังมีประเด็น “โลกร้อน” เข้ามาเกี่ยวเนื่องอย่างน่าสนใจ
University of Maryland ผู้จัดทำรายงาน ได้อ้างถึงปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวน ซึ่งเชื่อมโยงกับการหายไปของพื้นที่ป่าไว้ด้วยในหลายๆ มิติและสถานที่
ตัวอย่างเช่นเรื่องไฟป่า
จริงอยู่ว่าไฟป่านั้นเกิดจากมนุษย์ – แต่ในเรื่องของความสูญเสียที่เกิดขึ้น ปัจจัยมันไม่ได้ขึ้นอยู่แค่ว่ามีใครมาจุดไฟ แต่ยังสัมพันธ์กับความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นกับผืนป่าทั่วโลก
สภาพอากาศที่ร้อนและแล้งมากขึ้น กลายเป็นแหล่งเชื้อเพลิงชั้นดีให้ไฟป่าลุกลามอย่างรวดเร็ว
ดังที่เห็นได้ชัดจากเหตุไฟป่าในแอมะซอน หรือแม้แต่ในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีน้ำขังอยู่ตลอดและเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่ดีที่สุดในโลกอย่าง Pantanal ในบราซิลก็ยังไม่วายสูญสิ้นไปกับเหตุการณ์นี้
ในออสเตรเลีย ที่เกิดเหตุไฟไหม้ป่าต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2019 จนถึงต้นปี 2020 ส่งผลให้ประเทศต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไปถึง 9 เท่าในปี 2020
นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรงอยู่เบื้องหลังการทำลายล้างนั้น หากยังไม่มีการแก้ไขใดๆ ออสเตรเลียก็จะต้องเผชิญพบกับไฟป่าครั้งใหญ่ซ้ำเดิมต่อไปในอนาคต
พื้นที่ไซบีเรียเองก็พบว่ามีอุณหภูมิที่สูงผิดปกติในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนของปี 2020 นำไปสู่การเกิดไฟป่าอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในยุคสมัยของมนุษย์
การเสียพื้นที่ป่าเพราะโลกร้อนยังเกี่ยวโยงกับเรื่องความถี่ของพายุที่โหมซัดกระหน่ำพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น
ในนิการากัวป่าไม้ได้รับความเสียหายจากพายุเฮอริเคน ซึ่งทำให้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินถล่มในเดือนพฤศจิกายน 2020
ตามจริงพายุเฮอริเคนที่เกิดขึ้นในภูมิภาคดังกล่าวเป็นเรื่องปกติตามฤดูกาล แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้พายุมีความรุนแรงกว่าที่เคยเป็น และอยู่กับเรานานกว่าที่เราอยากเจอ
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นวังวนอันน่าเศร้า
เมื่อเราทำลายป่า โลกก็ยิ่งร้อน ความแปรปรวนที่เกิดจากโลกร้อนก็เวียนซ้ำกลับมาทำลายป่าให้ยิ่งแย่ลงไปอีก
และก็จะวนอยู่อย่างนี้ต่อไป จนยิ่งแย่ และยิ่งแย่
หากเราไม่ลงมือแก้ไขสิ่งใดเลย
ชวนอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องจาก Is Life : สถิติป่าถูกทำลายสูงขึ้น มากกว่าเดิม 12% บราซิลครองแชมป์เสียป่าสูงสุด
ผู้เขียน
โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน