แก๊สเรือนกระจกส่งผลให้โลกร้อนขึ้นเพียงใด?
เป็นเวลากว่า 40 ปีที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าคำตอบเป็นช่วงระหว่าง 1.5 ถึง 4.5 องศาเซลเซียสหากคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าหากเทียบกับระดับ ณ ยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ปัจจุบัน ทีมวิจัยได้ลดช่วงของอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเหลือเพียง 2.6 ถึง 4.1 องศาเซลเซียส
Steven Sherwood นักวิทยาศาสตร์จาก University of New South Wales นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย หนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยชิ้นใหม่ระบุว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ หรือที่เรียกว่า “ความอ่อนไหวทางสภาพภูมิอากาศ” มีแนวโน้มว่าขั้นต่ำของช่วงอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นจะมากกว่าที่เคยคิด งานวิจัยระบุอีกว่าบางสถานการณ์ที่ “ความอ่อนไหวสูงอย่างยิ่ง” ซึ่งอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 5 องศาเซลเซียสหรือมากกว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นน้อยมากแต่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้
ส่วนที่ต้องคาดการณ์ต่อไปคือผลกระทบจากภัยพิบัติทั่วโลก ถ้าเรายังไม่ลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
Masahiro Watanabe อาจารย์จากสถาบันวิจัยสภาพภูมิอากาศและสมุทรศาสตร์จาก University of Tokyo หนึ่งในผู้วิจัยให้ความเห็นว่า การระบุช่วงอุณหภูมิที่จะเพิ่มขึ้นจากแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากขึ้นนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของนานาชาติ เช่น ข้อตกลงปารีส รวมถึงใช้ในการวางแผนลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“การลดความไม่แน่นอนคือเรื่องที่มองข้ามไม่ได้สำหรับสาขาวิทยาศาสตร์สภาพภูมิอากาศ และยังรวมถึงสังคมที่จำเป็นต้องมีข้อมูลชุดนี้เพื่อการตัดสินใจอย่างแม่นยำ” เขากล่าว
งานวิจัยชิ้นใหม่ตีพิมพ์ในวารสาร Reviews of Geophysics ลดช่วงของอุณหภูมิที่จะเพิ่มขึ้นจากการปล่อยแก๊สเรือนกระจกให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยระบุว่ามีความเป็นไปได้น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ที่อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 2 องศาเซลเซียส
หากผลของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในช่วงผลกระทบที่ค่อนข้างต่ำหรือน้อยกว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็จะมีความรุนแรงน้อยลง และโลกของเราก็จะอุ่นขึ้นอย่างช้าๆ แต่หากสภาพภูมิอากาศของโลกมีความอ่อนไหวสูงต่อระดับคาร์บอนไดออกไซด์ ผลกระทบที่คาดก็ย่อมรุนแรงและเลวร้ายยิ่งขึ้น
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าอุณหภูมิของโลกตอนนี้เพิ่มขึ้นราว 1.2 องศาเซลเซียสหากเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม หากแนวโน้มการปล่อยแก๊สเรือนกระจกยังคงเป็นเช่นเดิม ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ก็อาจเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในสิ้นคริสตศตวรรษนี้
Andrew Dessler นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศจาก Texas A&M University กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นนี้ว่า “อาจเป็นหนึ่งในงานวิจัยชิ้นที่สำคัญที่สุดที่ผมได้อ่านในรอบหลายปีนี้”
เหล่าผู้ที่ต้องการบั่นทอนความน่ากังวลของภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพยายามอยู่หลายปีเพื่อป่าวประกาศว่าความอ่อนไหวทางภูมิอากาศของโลกมีค่าต่ำ ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของแก๊สเรือนกระจกจะส่งผลกระทบน้อยมาก ซึ่งสวนทางกับแบบจำลองคาดการณ์สภาพภูมิอากาศที่มักระบุว่าอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นจะเลวร้ายกว่าที่คาดอย่างมาก
งานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยสยบข้อถกเถียงว่าแก๊สเรือนกระจกส่งผลมากหรือน้อยต่อสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะกลุ่มที่มักพยายามบรรเทาความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Andrew Dessler มองว่า “ถ้าข้อสันนิษฐานเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกลุ่มที่ต่อต้านเป็นจริงก็คงจะดี แต่การศึกษาชิ้นนี้บอกเราอย่างชัดเจนว่าความเข้าใจนั้นไม่ถูกต้อง”
งานวิจัยชิ้นนี้จัดทำโดย World Climate Research Program องค์การวิทยาศาสตร์นานาชาติโดยรวมเอาหลักฐานทางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจาก 3 สาขามาผนวกรวมกัน ตั้งแต่บันทึกอุณหภูมิตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม บันทึกอุณหภูมิยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบได้ในตะกอนดินหรือวงรอบต้นไม้ และข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและแบบจำลองระบบสภาพภูมิอากาศ หากขาดข้อมูลส่วนใดส่วนหนึ่งนักวิทยาศาสตร์จะไม่สามารถคาดการณ์ได้ถูกต้อง ทีมวิจัยผนวกรวมเอาข้อมูลทั้งสามส่วนด้วยวิธีการทางคณิตศาสตร์ ก่อนจะได้ข้อสรุปข้างต้น
“งานวิจัยชิ้นนี้เป็นชิ้นแรกที่พยายามรวมเอาข้อมูลที่บันทึกไว้จากหลายส่วนแล้วนำมารวมกันเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่สมเหตุสมผล” Gavin A. Schmidt ผู้อำนวยการ Goddard Institute for Space Studies องค์การนาซา แสดงความเห็น
อีกหนึ่งสมาชิกทีมวิจัย Gabriele Hegerl อาจารย์ด้านระบบวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศจาก University of Edinburgh ระบุว่าการที่ข้อมูลทั้งสามส่วนสามารถนำมาใช้ร่วมกันได้อย่างพอดิบพอดี “เราไม่ได้คาดหวังว่ามันจะถูกต้องตรงกันทั้งหมด แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็นับว่าน่าประหลาดใจ เพราะมันสอดคล้องกันมากกว่าที่เราคาดไว้ในตอนแรก”
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับผลลัพธ์ดังกล่าว Nicholas Lewis นักวิทยาศาสตร์อิสระที่ตรวจสอบงานวิจัยเรื่องสภาพภูมิอากาศกระแสหลักอย่างเข้มข้น และเป็นหนึ่งในผู้ค้นพบข้อผิดพลาดในแบบจำลองการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิมหาสมุทร เขาตั้งคำถามต่องานวิจัยชิ้นนี้ในประเด็นเรื่องการพึ่งพาแบบจำลองคอมพิวเตอร์ในการแปลผลข้อมูลจำนวนมาก รวมถึงนิยามของความอ่อนไหวทางสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างคลุมเครือ เขายังระบุว่างานวิจัยชิ้นนี้มองข้ามความยุ่งยากที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเมฆและการพาความร้อน
Gavin A. Schmidt ให้สัมภาษณ์ว่า งานวิจัยชิ้นนี้เปิดเผยข้อมูลและวิธีการศึกษาทั้งหมด “ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำหรับทุกคนที่มองว่าผู้เชี่ยวชาญทำงานผิดพลาดให้สามารถลองเปลี่ยนแปลงสมมติฐานและสร้างโมเดลเพื่อดูผลลัพธ์”
Zeke Hausfather นักวิทยาศาสตร์จาก The Breakthrough Institute และหนึ่งในทีมวิจัยแสดงความเห็นว่า ความไม่แน่นอนจากแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง แต่ในช่วงผลลัพธ์จากปริมาณแก๊สเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นก็ยังอยู่ในระดับที่น่ากังวล เขาย้ำเพิ่มเติมว่าต่อให้เราตัดค่าสุดขั้วออกไปแล้วหลงเหลือเพียงอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในระดับกลางๆ ก็ยังหมายถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่
“เราไม่จำเป็นต้องบอกว่าอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 5 องศาเซลเซียสเพื่อเป็นเหตุผลให้เราจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่การเพิ่มขึ้น 3 องศาเซลเซียสก็นับว่าเลวร้ายเต็มที่” เขาสรุป
William Collins นักวิทยาศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจาก Lawrence Berkeley National Laboratory กล่าวชื่นชมความพยายามของทีมวิจัยที่ทำงานหนักเพื่อรวมเอาข้อมูลหลายชุดมารวมอยู่ในงานวิจัยชิ้นเดียวกัน เขามองว่าความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการคำนวณและการรวบรวมข้อมูลจะทำให้เราได้คำตอบที่ชัดเจนขึ้นในอนาคต โดยเปรียบเทียบการวิจัยความอ่อนไหวทางสภาพภูมิอากาศคือการไต่เขาเอเวอร์เรสต์ งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ต่างจากค่ายฐานบริเวณตีนเขาซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่เราก็ยังต้องไปอีกไกลกว่าจะถึงยอดเขา
ถอดความและเรียบเรียงจาก How Much Will the Planet Warm if Carbon Dioxide Levels Double?
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์