โคโรนาไวรัสทำให้เราเห็นความไม่มั่นคงในระบบอาหารของเรา

โคโรนาไวรัสทำให้เราเห็นความไม่มั่นคงในระบบอาหารของเรา

ถึงเวลาแล้วที่จะสร้างความยืดหยุ่นในระบบอาหารให้มากกว่านี้

คนส่วนใหญ่พึ่งพาซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าขนาดใหญ่ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ได้ผูกขาดเศรษฐกิจอาหารของเรา ธุรกิจเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่ง และขึ้นอยู่กับการเกษตรขนาดใหญ่ ซึ่งมีความสามารถในการผลิตอาหารที่ราบรื่น และรวดเร็ว ที่สามารถแจกจ่ายทั้งภายใน และนอกประเทศ

แต่เราจะทำอย่างไรล่ะ ถ้าเกิดช่องโหว่ และเกิดข้อผิดพลาดขึ้นในระบบอาหารขนาดใหญ่นี้ เราได้เตรียมการอะไรไว้บ้างเพื่อรองรับสถานการณ์เช่นนี้

เราต้องการระบบอาหารที่มีความยืดหยุ่นและมั่นคง ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ความยืดหยุ่นในเชิงนิเวศน์เท่านั้น แต่จะต้องสามารถทำให้สังคมนั้นอยู่รอดในช่วงที่มีสถานการณ์ฉุกเฉินได้ด้วย จะต้องสร้างระบบอาหารที่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงฉับพลัน และความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคได้

ปัญหาในช่วงการระบาดใหญ่ของ COVID-19 นั้นเป็นสิ่งที่ไม่แปลกเกินคาดที่จะเกิดขึ้นเลย จากประชาชนที่ไม่ได้รับการเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ เช่น การซื้อของมาตุนอย่างตื่นตระหนก การแพร่กระจายของ fake news และการตำหนิหน่วยงานนู้นนี้อย่างผิด ๆ แต่ความตื่นตระหนกนี้ได้ทำให้เราเห็นข้อบกพร่องทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่สำคัญ

แต่ข้างนี้เราได้เห็นการแก้ปัญหานี้ที่ทำได้ด้วยตนเอง ซึ่งสามารถช่วยสร้างความยืดหยุ่นในครัวเรือนได้ เช่น ลองนึกถึงคนที่ผลิตของใช้เอง และปลูกพืชไว้กินเองสิ

ซุปเปอร์มาร์เก็ต และภาคส่วนโครงสร้างพื้นฐาน (ประปา ไฟฟ้า) ส่วนใหญ่ได้มีวิธีหลาย ๆ วิธีสำหรับรับมือกับสถานการณ์ในช่วงวิกฤต โดยการเพิ่มการซื้อสินค้าออนไลน์ และเพิ่มขีดความสามารถในการส่งมอบสินค้า มีการจัดหาอาหารให้กับผู้ป่วย และผู้ที่ได้รับการกักตัว มีการบริจาคอาหารให้กับผู้ยากไร้ และที่สำคัญคือมีการให้สิทธิพิเศษในด้านการซื้อสินค้า และให้อาหารฟรีกับบุคลากรทางการแพทย์ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การกักตุนที่นำไปสู่ชั้นวางสินค้าที่ว่างเปล่า ซึ่งเป็นเรื่องไม่ดีสำหรับผู้ที่ปกติซื้อของแค่ตามความจำเป็น และช่องทางการจัดส่งออนไลน์ก็ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้เพราะไม่มีสินค้าให้ส่ง

ด้วยเหตุนี้หลายคนหันไปทางเลือกอื่น ๆ  เช่นการซื้อผัก นม และอาหารแห้ง ที่สามารถส่งมอบให้กับผู้บริโภคได้ขณะที่ระบบขนส่งอาหารขนาดใหญ่ถูกตัดขาด ถึงกับมีการจัดตั้งโครงการสนับสนุนการเกษตร เพื่อให้ผู้บริโภคมีอาหารกิน ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ก็คือเกษตรกร และฟาร์มต่าง ๆ ในชุมชน นอกจากนี้ยังมีกิจการต่าง ๆ ภายในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการอีก เช่น ร้านอาหาร ธนาคารอาหาร ฟาร์มขนาดเล็ก และแม้แต่ชาวสวนอิสระ เมื่อซุปเปอร์มาร์เก็ตของหมดสต็อกหรือช่องการส่งของมีปัญหา ความคิดริเริ่มในท้องถิ่นได้ขยายตัวมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และพบแหล่งใหม่ ๆ ของสินค้า และบริการที่มีความมั่นคงมากขึ้น

นอกเหนือจากซุปเปอร์มาร์เก็ต

ความหลากหลายในระบบอาหารเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ความหลากหลายในที่นี้เป็นมากกว่าแค่จำนวนตัวเลือกในร้านค้า เรามีสิทธิ์ที่จะรู้ว่าอาหารมีการผลิต แปรรูป และขนส่ง อย่างไร เช่นเดียวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากทุกขั้นตอนที่ทำเพื่อตอบสนองความต้องการทางอาหาร

รูปแบบของการผลิตอาหารส่วนใหญ่ที่ตอบสนองความต้องการของประชากรโลกในปัจจุบันเป็นแบบการผลิตทีละมาก ๆ ธุรกิจการเกษตรเช่นนี้พึ่งพาอาศัยอยู่บนระบบการการผลิตอาหารในรูปแบบอุตสาหกรรมที่ต้องผลิตในจำนวนมากเพื่อความคุ้มทุน แต่มันไม่ได้ดีต่อสุขภาพ และความเป็นอยู่ของทั้งมนุษย์ และโลก 

ผลเสียอีกอย่างที่เกิดจากเกษตรอุตสาหกรรมก็คือเกษตรรูปแบบนี้เน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวซึ่งเป็นการปลูกที่ทั้งไร่นา ปลูกด้วยพืชผลชนิดเดียวเป็นบริเวณกว้างมาก ๆ ซึ่งทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ตามมาด้วยการระบาดอย่างหนักของศัตรูพืช และโรคของพืชชนิดนั้น ๆ

การปลูกพืชเชิงเดี่ยว

การปลูกพืช และการเลี้ยงสัตว์แบบเชิงเดี่ยว ทำให้ง่ายต่อการปลูก เลี้ยง เก็บเกี่ยว ทำนายปริมาณและควบคุมผลผลิตได้ง่ายขึ้น แต่การทำเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ทำให้พืช และสัตว์แต่ละชีวิตมีความเหมือนกันแบบเป้ะ ๆ ซึ่งขาดความหลากหลายทางพันธุกรรม และทำให้ไม่เกิดการวิวัฒนาการ ซึ่งจะไปลดทอนความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับความกดดัน และความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ เช่น โรค และศัตรูพืชต่าง ๆ

การทำการเกษตร และปศุสัตว์เชิงเดี่ยวในปริมาณมากนั้นทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อประชากรที่อ่อนไหวเหล่านี้ เช่น ถ้าเกิดเหตุระบาดของศัตรูพืชหรือโรคขึ้นมา มันจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็วเพราะประชากรนั้นมีความเหมือนกันหมด ถ้าตัวหนึ่งติดโรคได้ตัวอื่น ๆ ก็ติดโรคได้ โดยมันสามารถแพร่กระจายได้เร็วเหมือนไฟป่าเลย

สิ่งเหล่านี้ได้เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว เช่น ในไอร์แลนด์ช่วงการปกครองอาณานิคมของอังกฤษ เกิดการตายของมันฝรั่งเป็นจำนวนมากเนื่องจากโรคที่เรียกว่า blight (อาการของใบทั้งใบหรือเพียงบางส่วนของใบที่ไม่สามารถผลิตคลอโรฟิลล์สำหรับการสังเคราะห์แสงได้เพียงพอ) และอีกตัวอย่างในปี ค.ศ.1950 กล้วยสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเกือบที่จะสูญพันธุ์ แค่เพราะผลกระทบจากเชื้อราเพียงชนิดเดียว

การระบาดของไวรัสนิปาห์ในหลายประเทศของทวีปเอเชียนำไปสู่การเสียชีวิตหลายร้อยคนระหว่างช่วงปี ค.ศ.1998 ถึง ค.ศ.2018 และในปี ค.ศ.2019 ไข้สุกรแอฟริกันได้ทำให้หมูหลายร้อยล้านตัวในประเทศจีนตาย และล่าสุด COVID-19 เข้าร่วมการสร้างความเสียหายที่มนุษย์เราได้สนับสนุนให้เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ

ระบบป้องกัน

ระบบอาหารของเราไม่เสถียร และกำลังถูกโจมตีอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันหมัดน๊อกเพียงหมัดเดียวอาจทำให้ระบบทั้งหมดพังพินาศ นี่คือเหตุผลที่นักเศรษฐศาสตร์การเกษตรยืนยันว่าระบบอาหารจำเป็นต้องส่งเสริมความหลากหลายทั้งในด้านชนิดของพืชผล รูปแบบธุรกิจการเกษตร และในตัวบุคคลเองด้วย พวกเราควรมองให้เหนือกว่าระบบของซุปเปอร์มาร์เก็ต และฟาร์มอุตสาหกรรม ไปสู่ระบบที่สามารถติดตามสินค้าทุกชิ้นได้ มีความสามารถในการปรับตัวกับสถานการณ์สูง ถึงแม้ว่าจะไม่มีนโยบายภาครัฐสนับสนุนก็ตาม

กลุ่มชุมชนและองค์กรขนาดเล็กได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทในช่วงการระบาดใหญ่ของ COVID-19 โดยใช้เครือข่ายของพวกเขาเพื่อดูแลคนที่อ่อนแอ และเสริมสร้างโครงสร้างความปลอดภัยทางสังคม สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นถึงแม้ก่อนหน้านี้จะล้มเหลวมาหลายครั้ง

องค์กรต่าง ๆ กำลังก้าวข้ามขั้นตอนการทำงานแบบเดิม ๆ เพื่อส่งมอบสินค้า และบริการ รวมถึงอาหารให้กับผู้บริโภค โครงการเกษตรกรรมต่าง ๆ ธนาคารอาหาร และศูนย์อาหารที่สนับสนุนโดยชุมชนสามารถทำได้ง่าย เนื่องจากมีเครือข่ายในพื้นที่อยู่แล้ว ความสามารถในการปรับตัวที่ดีทำให้พวกเขารับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และสามารถปรับแก้ระบบอาหารที่ไม่ยืดหยุ่นใหม่และเพิ่มกำลังการผลิตให้เป็นระดับอุตสาหกรรมได้เลย

บทความนี้ไม่ได้บอกว่าซุปเปอร์มาร์เก็ตไม่ดี หรือว่ารับมือกับสถานการณ์ได้แย่ แต่อยากจะบอกว่าซุปเปอร์มาร์เก็ตตั้งอยู่บนระบบอาหารที่ไม่มีความมั่นคง สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงสองด้านในระบบอาหารคือ ในด้านระบบการผลิตอาหาร และระบบการกระจายอาหาร เพื่อความมั่นคงในชีวิตของเรา เราควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าในพื้นที่ชุมชนของเรานั้นสามารถผลิตอาหารได้เพียงพอ ดีกว่าไปตั้งความหวังกับแหล่งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่

ระบบการผลิต และการจัดจำหน่ายอาหารในปัจจุบันนั้น ต้องการเงินทุน และการดูแลรักษาที่เหมาะสม เพราะเป็นระบบที่จำเป็นต่อการอยู่รอดของผู้คนบนโลก หากเราไม่แก้ไขสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาในระบบอาหารของเรา ในอนาคตนั้นเราอาจต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์อาหารระดับโลกอย่างน่ากลัว โดยที่ไม่ได้เตรียมการอะไรไว้เลย

 

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Coronavirus exposed fragility in our food system – it’s time to build something more resilient
ถอดความและเรียบเรียงโดย วณัฐพงศ์ ศิริวิภานันท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร