โควิด-19 แทบไม่ส่งผลกระทบต่อความเข้มข้นของแก๊สเรือนกระจก

โควิด-19 แทบไม่ส่งผลกระทบต่อความเข้มข้นของแก๊สเรือนกระจก

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization หรือ WMO) ระบุว่า วิกฤติโควิด-19 นั้นแทบไม่ส่งผลใดๆ ต่อความเข้มข้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ

การปล่อยแก๊สเรือนกระจกลดลงอย่างมากในปีนี้ เนื่องจากการตัดสินใจล็อคดาวน์ของมหานครทั่วโลก และอุตสาหกรรมคมนาคมที่แทบจะเรียกได้ว่าหยุดชะงักลง อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าสถานการณ์ดังกล่าวแทบไม่ส่งผลใดๆ ต่อระดับความเข้มข้นของแก๊สเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รายละเอียดของการคำนวณเผยแพร่ในรายงานประจำปีของ WMO โดยเน้นถึงความเข้มข้นของแก๊สเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นผลรวมของการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก ตั้งแต่อดีตและปัจจุบันทั้งแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ มีเธน และไนตรัสออกไซด์ 

เราวัดความเข้มข้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยหน่วยหนึ่งต่อล้านหน่วย (PPM) ถือเป็นตัวชี้วัดของสารในชั้นบรรยากาศ จากข้อมูลของ WMO ค่าเฉลี่ยเมื่อปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 410.5 PPM เพิ่มขึ้น 2.6 PPM หากเทียบกับ พ.ศ. 2561 ซึ่งนับว่าเพิ่มมากกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

การล็อคดาวน์ครั้งใหญ่เมื่อต้นปีนี้ การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง 17 เปอร์เซ็นต์ แต่ผลกระทบโดยต่อความเข้มข้นของแก๊สเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศนับว่าน้อยมาก ในการประมาณการเบื้องต้น คาดว่าความเข้มข้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะยังคงเพิ่มขึ้นราว 0.08 ถึง 0.23 PPM

การลดลงในอัตราส่วน 1PPM นับว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ “เราทะลุเพดานความเข้มข้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกที่ 400 PPM ไปแล้วเมื่อ พ.ศ. 2558 และเวลาสี่ปีให้หลัง เราก็ข้ามพัน 410 PPM การเพิ่มขึ้นดังกล่าวนับว่ารวดเร็วมากอย่างไม่เคยพบมาก่อนในประวัติศาสตร์โลก” อาจารย์ Petteri Taalas ผู้อำนวยการ WMO ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC “การปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่ลดลงในช่วงต้นปี ถือว่าเป็นเรื่องจิ๊บจ้อยมากหากเทียบกับกราฟในระยะยาว สิ่งที่เราต้องทำคือหยุดการเพิ่มขึ้นของกราฟดังกล่าวอย่างยั่งยืน”

ในขณะที่เรายังไม่มีตัวเลขความเข้มข้นทั้งปีของ พ.ศ. 2563 แต่จุดวัดแห่งหนึ่งพบว่าระดับความเข้มข้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่าทั่วโลกจะเผชิญกับโควิด-19

ความเข้มข้นของแก๊สมีเธนก็เพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับทศวรรษก่อน แต่ว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นที่ช้าลง การปล่อยแก๊สมีเธอนั้นเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเลี้ยงปศุสัตว์ ปลูกข้าว และการขุดเจาะน้ำมันหรือแก๊สธรรมชาติ

ขณะที่ความเข้มข้นของไนตรัสออกไซด์เพิ่มขึ้นในอัตราใกล้เคียงกับอดีต โดยการปล่อยแก๊สดังกล่าวมาจากการเกษตร พลังงาน และการจัดการขยะ แก๊สดังกล่าวทำลายชั้นโอโซนเช่นเดียวกับก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน

ในขณะที่การระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ช่วยให้ความเข้มข้นของแก๊สเรือนกระจกน้อยลงแต่อย่างใด แต่การลดลงในช่วงของการล็อคดาวน์แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่

“โควิด-19 ไม่ใช่ทางออกของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” อาจารย์ Taalas กล่าว “อย่างไรก็ดี การระบาดครั้งนี้ถือเป็นจุดที่เราสามารถเริ่มต้นใหม่ เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อทำให้การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเท่ากับศูนย์ ผ่านการเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรม ภาคพลังงาน และภาคคมนาคม”

“ความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นไปทางทางเศรษฐกิจและทางเทคโนโลยี โดยแทบจะไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน”


ถอดความและเรียบเรียงจาก Climate change: Covid pandemic has little impact on rise in CO2

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก