ประเทศเนปาลประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่งในการรับมือกับการลักลอบล่าแรดนอเดียว ทว่าตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา กลับพบว่ามีแรดที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุและตายตามธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น
ทุกๆ ปี จะมีนักท่องเที่ยวหลายพันคนจากทั่วโลกเดินทางไปอุทยานแห่งชาติจิตวันที่ประเทศเนปาล เพื่อเยี่ยมชมแรดนอเดียวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้
แต่สำหรับ Nabin Adhikari ชายหนุ่มวัย 46 แรดเปรียบเสมือนเพื่อนร่วมงานของเขา – ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ Adhikari ประกอบอาชีพมัคคุเทศน์พาทัวร์ชมสัตว์ ทำให้เขารู้จักสัตว์ป่าหายากและแหล่งที่อยู่อาศัยของพวกมันเป็นอย่างดี
“เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่ามา ผมเห็นแรดสองตัวต่อสู้กันเป็นเวลานานสองถึงสามชั่วโมง” เขาเล่าเรื่องเปิดการทัวร์ในช่วงเช้า “ในที่สุดการทะเลาะกันก็จบลง และแรดตัวหนึ่งจากเราไป”
Adhikari เล่าว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2018 มีแรดอย่างน้อย 6 ตัวในอุทยานฯ ตายโดยที่ไม่มีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง
และความตายในรูปแบบที่ว่านี้กำลังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์ โดยในช่วงระหว่างปี 2004-2014 มีแรดตายโดยไม่ทราบสาเหตุหรือตายโดยธรรมชาติทั้งสิ้น 81 ตัว หรือประมาณ 7 ตัวต่อปี และตัวเลขยิ่งชัดเจนมากยิ่งขึ้นในช่วงปี 2015-2017 ที่พบแรดตายถึง 60 ตัว คิดเป็นค่าเฉลี่ยประมาณ 20 ตัวต่อปี
“เมื่อใดก็ตามที่เราได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ว่ามีสัตว์ป่าตาย เรามีความรู้สึกว่ามันจะต้องมีแรดนอเดียวอยู่ในจำนวนนั้นด้วย” เจ้าหน้าที่อุทยานฯ คนหนึ่งกล่าว
เจ้าหน้าที่อนุรักษ์ของประเทศเนปาลนั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ชนะในสงครามที่ต่อสู้กับการรุกล้ำถิ่นอาศัยและรักษาจำนวนประชากรของแรดนอเดียวได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ตอนนี้กลับต้องกังวลกับภัยคุกคามที่มีผลต่อเผ่าพันธุ์ ซึ่งเป็น “ความตายจากธรรมชาติ” และ “เป็นเรื่องที่ยังอธิบายไม่ได้” ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ณ ขณะนี้
จากจำนวนแรดที่ตายเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 2014 นั้น กรมอุทยานแห่งชาติและการอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้เร่งดำเนินแก้ไขโดยได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดทำรายงานเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว
ความตายของแรดในทางทฤษฎี
ผลการศึกษาของรัฐบาลเรื่องการตายของแรดยังไม่มีรายงานออกมา แต่ภาคประชาชนก็ได้ตั้งสมมติฐานต่อเรื่องนี้เอาไว้แล้วเช่นกัน
มัคคุเทศน์อย่าง Adhikari ชายผู้ทำหน้าที่พานักท่องเที่ยวไปชมสัตว์ที่พวกเขาจ่ายเงินเพื่อสิ่งที่ต้องการเห็น มองในฐานะคนที่พบแรดอยู่ตลอดเวลาว่า “สำหรับผมแล้ว เหตุผลที่แรดต้องตาย เพราะว่าพวกมันสู้กันเองบ่อยขึ้น ถ้าพวกคุณเข้าใจเกี่ยวกับแรดให้มากขึ้น พวกคุณต้องไปดูที่ Rapti”
แม่น้ำ Rapti เป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านทางทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตกตามแนวชายแดนด้านเหนือของอุทยานแห่งชาติจิตวัน ถือเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่บรรดาแรดมักลงไปแช่น้ำ หรือหาอาหารจำพวกพืชน้ำ
“เราสามารถมองเห็นแรดลงเล่นน้ำในฤดูร้อนได้นานถึง 16 ชั่วโมง” Adhikari เล่า “แต่ตอนนี้คุณจะไม่เห็นแอ่งน้ำหรือแม้แต่แรด”
ข้อสังเกตของ Adhikari นั้นมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน Shant Raj Jnawali นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งอธิบายว่า แม่น้ำกำลังเปลี่ยนแปลง เพราะมีสาเหตุจากหลายปัจจัย เป็นต้นว่า การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีมากขึ้นในพื้นที่ต้นน้ำ และทำให้ภูมิประเทศของแม่น้ำเสื่อมสภาพ มีดินและตะกอนในน้ำมากขึ้น และสภาพแม่น้ำหรือแอ่งที่แรดเคยลงมาใช้ประโยชน์ก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย นอกจากนี้ยังรวมถึงการก่อสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำทางด้านตะวันออกของอุทยานแห่งชาติ ก็ส่งผลต่อการไหลของแม่น้ำด้วยเช่นกัน
ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลต่อแรด และพวกมันรู้สึกได้ เมื่อปีที่ผ่านมาเกิดมรสุมทำให้เกิดเหตุน้ำป่าทำให้สัตว์ป่าได้รับบาดเจ็บและล้มตายลงเป็นจำนวนมาก แม่ป่าที่หลากทางฝั่งตะวันออกของอุทยานฯ พัดเอาแรดอย่างน้อย 15 ตัว ไปยังอินเดีย มีการพบศพอีกฝั่งของอุทยานฯ และมีหลายตัวได้รับบาดเจ็บ
“นั่นเป็นผลกระทบจากน้ำท่วมที่มองได้เห็นในทันที แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่ชัดเจน” Ram Kumar Aryal หัวหน้า Biodiversity Conservation Centre กล่าว
Aryal คือผู้ที่มีส่วนร่วมในโครงการอนุรักษ์แรดของประเทศเนปาลมาตั้งแต่ต้นกล่าวว่าเหตุการณ์อุทกภัยอาจผลักดันให้แรดย้ายถิ่นที่อยู่อศัยไปยังฝั่งตะวันตกของอุทยานแห่งชาติจิตวัน
“แรดจะย้ายถิ่นฐานไปยังฝั่งตะวันตกเพื่อค้นหาแหล่งน้ำแห่งใหม่หลังจากที่เดิมจมอยู่ใต้น้ำ Jnawali กล่าว
ความเห็นของคนในท้องถิ่นและนักวิทยาศาสตร์ พวกขามองตรงกันว่าแรดทางฝั่งตะวันตกเพิ่มจำนวนมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มันหมายความได้อย่างไรบ้าง มันยังเป็นเรื่องที่ต้องหาคำตอบต่อไป
Jnawali และ Aryal ตั้งข้อสังเกตว่า เพราะความหนาแน่นของจำนวนประชากรแรดที่เพิ่มมากขึ้นในทางฝั่งตะวันตก อาจทำให้แรดต้องต่อสู้กันเองมากขึ้นเพื่อแย่งชิงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในพื้นที่
Adhikari มัคคุเทศน์ท้องถิ่น และ Hira Bahadur Gurung ประธาน Kumroj Community Forest เห็นด้วยกับข้อสังเกตของ Jnawali และ Aryal
“เราเห็นแรดต่อสู้กันเพื่อครอบครองแหล่งน้ำ เราเห็นพวกมันต่อสู้เพื่อแย่งคู่ผสมพันธุ์” Adhikari เล่า ส่วน Gurung บอกว่า “ตอนนี้เราแทบจะไม่เห็นแรดอยู่ทางฝั่งตะวันออกของอุทยานฯ เลย”
ต่อข้อสงสัยที่ว่า การแย่งชิงทรัพยากรของแรดจะสามารถนำไปสู่การต่อสู้จนถึงแก่ความตายได้เลยหรือไม่ Narendra Man Babu Pradhan อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติจิตวันให้ความเห็นว่า “เราอาจเห็นแรดตายในพื้นที่ฝั่งตะวันตกมากขึ้น เพราะประชากรไปกระจุกตัวอยู่ที่นั่น และเราคงไม่คิดว่าจะมีแรดตายในพื้นที่ที่มันไม่อยู่”
แรดในยุค ‘เบเบี้บูม’ กำลังจะตายอย่างนั้นหรือ ?
สมมติฐานอีกข้อเกี่ยวกับการตายของแรด คือ เป็นความตายตามธรรมชาติของแรดที่เกิดในยุค ‘เบเบี้บูม’
ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 ประชากรแรดในอุทยานแห่งชาติจิตวันลดจำนวนลงจนเหลือเพียง 100 ตัว รัฐบาลเนปาลในเวลานั้นได้สร้างความร่วมมือกับทางฝั่งทหารเพื่อปกป้องแรดจากการลักลอบล่าสัตว์
การปกป้องแรดในครั้งนั้นให้ผลงานเป็นที่น่าพอใจ เพราะจำนวนประชากรแรดในเนปาลเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะมีชีวิตอยู่นานพอที่จะสามารถให้กำเนิดลูกหลานเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรต่อได้อีกทวีคูณ นักวิจัยเปรียบเปรยการเพิ่มจำนวนประชากรแรดในครั้งนั้นว่ารวดเร็วอย่างแบบ ‘เบเบี้บูม’ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองของสหรัฐอเมริกา
“เป็นเวลาราว 45 ปี ที่รัฐบาลใช้มาตรการอนุรักษ์อย่างเข้มงวดเพื่อปกป้องแรด” Ram Kumar Aryal หัวหน้า Biodiversity Conservation Centre กล่าว “บางทีอาจถึงช่วงเวลาของอายุขัยของแรดในที่เกิดตอนนั้น ซึ่งอาจอธิบายสาเหตุการตายที่เกิดขึ้นตอนนี้ได้”
Brook Milligan ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาที่ New Mexico State University ตั้งคำถามว่า จริงหรือไม่ที่เรากำลังเห็นจุดจบของชีวิตแรดยุค ‘เบเบี้บูม’ ตามธรรมชาติ ? Milligan คิดว่า การศึกษาเรื่องอายุขัยของแรดในป่าธรรมชาติอาจยังมีไม่มากพอ “ในช่วงที่ผมทำงานกับแรด ผมเห็นว่าพวกมันมีอายุอยู่ได้เพียง 15-20 ปี นี่อาจทำให้สมมติฐานเรื่องอายุขัยของแรด ‘เบเบี้บูม’ ไม่เป็นความจริง”
Milligan อธิบายว่า ในอดีตนักล่าสัตว์จะตั้งเป้าหมายการล่าไปที่แรดตัวโตเต็มวัย และลบมันออกจากจำนวนประชากร เขาจะขายได้ตามราคาน้ำหนัก และแรดที่มีอายุมากก็จะมีขนาดเขาที่ใหญ่กว่า ซึ่งเมื่อตัวเลขการรุกล้ำลดลง เขาคิดว่าการตายจากธรรมชาติก็ต้องเพิ่มขึ้นตาม
การกำหนดสาเหตุความตาย
Amir Sadaula และทีมสัตวแพทย์ได้รับข่าวสารเรื่องการตายของแรดจากโทรศัพท์หลายสาย เขาบอกว่า “บางครั้งเราไปถึงที่เกิดเหตุภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่ก็มีบางครั้งที่เราไปถึงจุดที่แรดตายหลังจากนั้นไปหลายสัปดาห์ ถ้าครั้งไหนทีมงานไปถึงที่เกิดเหตุอย่างรวดเร็ว เราก็จะหาสาเหตุการตายได้ง่าย”
“ปกติเมื่อเราเห็นแรดตายเราก็จะเห็นสิ่งที่ฆ่าพวกมันด้วย” Purushottam Pandey ทีมเทคนิคของหน่วยสัตวแพทย์กล่าว ยกตัวอย่างเช่น แรดติดอยู่ในหนองน้ำขึ้นมาไม่ได้และตายอยู่ตรงนั้น หรือครั้งหนึ่งเขาเคยเห็นแรดไม่สามารถคลอดลูกออกมาได้ ซึ่งหมายความว่าอาจจะมีแรดตายหนึ่งหรือสองตัวในตอนนั้น นอกจากนี้ ยังเคยเห็นแรดถูกรั้วไฟฟ้าดูดจนตาย การเสียชีวิตแบบใดๆ ก็ตามที่ไม่ได้เกิดจากการลักลอบล่าสัตว์จะถูกนับเป็นความตายตามธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม การชันสูตรศพที่เจอช้าการหาคำตอบก็จะซับซ้อนมากยิ่งขึ้น “หากเราไปถึงที่เกิดเหตุช้ามันยากที่จะระบุสาเหตุของการตายลงได้ ซึ่งทำให้เราต้องระบุสาเหตุการตายอยู่ในประเภทที่เรียกว่า ‘ไม่ทราบสาเหตุ’” Pandey เล่า
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถบอกสาเหตุการตายได้ ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ “ในช่วงที่ฤดูมรสุมพัดผ่านเป็นเวลานานกว่าสามเดือน มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ จะเข้าไปถึงจุดที่แรดอยู่” Jnawali กล่าว และความตายของแรดในช่วงเวลานี้ก็ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นเพราะอะไร
ในขณะที่ความตายของแรดยังเป็นปริศนาชวนกังวล แต่พวกเขาก็พยายามหาทางที่จะป้องกันไปพร้อมๆ กัน Pradhan อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติจิตวัน บอกว่า “ในช่วงปีแรกๆ ของการอนุรักษ์ เรามุ่งเน้นไปในเชิงปริมาณ เราพยายามช่วยแรดให้มากเท่าที่ทำได้ แต่ตอนนี้เราต้องก้าวผ่านสิ่งนั้น และนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการจัดการถิ่นที่อยู่อาศัยโดยคำนึงถึงขีดจำกัดในการรองรับจำนวนประชากรของพื้นที่อุทยานฯ”