แมวป่าหายากสามสายพันธุ์ในชมพูทวีป กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

แมวป่าหายากสามสายพันธุ์ในชมพูทวีป กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

งานวิจัยชิ้นล่าสุดต่อการปกป้องสายพันธุ์แมวป่าหายากในพื้นที่เอเชียใต้ระบุว่า ปัจจุบันแมวป่าขนาดเล็ก 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เสือปลา แมวดาว และแมวจุดสีสนิม มีป่าปลอดภัยที่ได้รับการคุ้มครองสำหรับอาศัยเหลืออยู่เพียง 6 – 11 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การสูญพันธุ์

แมวป่าหายากทั้งสามสายพันธุ์มีถิ่นกำเนิดในอนุทวีปอินเดีย อันประกอบไปด้วย พื้นที่ของประเทศอินเดีย ศรีลังกา เนปาล บังกลาเทศ ปากีสถาน ภูฏาน และมัลดีฟส์

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันกลับไม่มีหลักฐานทางตัวเลขที่ใช้อ้างอิงได้ว่า แมวป่าทั้งสามสายพันธุ์นี้มีจำนวนประชากรเหลืออยู่ในภูมิภาคนี้จำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากทั้งสามสายพันธุ์จัดเป็นสัตว์ป่าหายาก มีโอกาสพบเห็นได้น้อย – แม้จะมีกล้องดักถ่ายที่ทันสมัยติดไว้ก็ตาม

กระนั้น จากข้อมูลที่มี พบว่า ‘เสือปลา’ อาจไม่เหลือ ‘บ้าน’ ให้ดำรงชีพได้ต่อไป เนื่องจากถิ่นที่อยู่ที่อาศัยที่พวกมันต้องการ อย่างหนองน้ำโกงกางและพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่ง ได้สูญหายและเปลี่ยนสภาพไปจากการพัฒนาพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

นับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ‘เสือปลา’ ถูกจัดไว้อยู่ในกลุ่ม ‘สิ่งมีชีวิตที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์’ (VU – Vulnerable species) ในบัญชีแดงไอยูซีเอ็น

ในงานวิจัยระบุด้วยว่า ‘เสือปลา’ น่าจะเป็นสายพันธุ์ที่ถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมันได้รับการปกป้องน้อยที่สุด

มัทส์ บจอร์คลุนด์ ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านนิเวศวิทยาสัตว์ จากมหาวิทยาลัยอุปซอลา ประเทศสวีเดน ได้กล่าวแถลงการณ์ถึงงานวิจัยชิ้นนี้ว่า “การศึกษานี้มีความสำคัญยิ่ง เพราะแสดงให้เห็นว่าแมวป่าขนาดเล็กเป็นสัตว์ที่หาตัวจับได้ยากในชมพูทวีป และพวกมันไม่ได้รับความสนใจเท่ากับกลุ่มแมวใหญ่ที่ดูน่าตื่นตากว่า แต่ถึงอย่างนั้นพวกมันต่างก็อยากได้รับความคุ้มครองอย่างเร่งด่วนไม่ต่างจากพวกแมวใหญ่”

ทุกวันนี้ ‘แมวดาว’ ตกเป็นเหยื่อของการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย แต่โชคดีที่พวกมันสามารถอาศัยได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ตั้งแต่พื้นที่ชีวนิเวศทุ่งไม้พุ่ม ป่าที่ราบลุ่ม ไปจนถึงพื้นที่ชุ่มน้ำ และมีจำนวนประชากรคงที่มากกว่า ‘เสือปลา’

กระนั้น ‘แมวดาว’ ก็ยังถูกคุกคามจากสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้นในพื้นที่อยู่อาศัยบางส่วน เช่น บริเวณเทือกเขาฆาตทั้งทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกที่อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างชัดเจน และสูงเกินกว่าที่สายพันธุ์นี้จะอาศัยอยู่ได้

ทางด้าน ‘แมวจุดสีสนิม’ อันเป็นหนึ่งในสายพันธุ์แมวป่าที่เล็กที่สุดในโลก และประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในป่าผลัดใบของอินเดียและศรีลังกา ถูกระบุให้อยู่ในกลุ่ม ‘สิ่งมีชีวิตที่ใกล้ถูกคุกคาม’ (NT – Near Threatened) หรือมีระดับความเสี่ยงขั้นอันตรายต่อสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้ ตามดัชนีรายชื่อบัญชีแดงไอยูซีเอ็น

การศึกษาระบุที่มาปัญหาการเสียที่อยู่อาศัยของ ‘แมวจุดสีสนิม’ ไว้ว่า พวกมันกำลังสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยอย่างหนักจากการทำเกษตรของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ใกล้แหล่งชลประทาน

ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องชวนหวั่นวิตก และต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะพบสัดส่วนของพื้นที่ทำเกษตรเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

“สายพันธุ์อย่าง ‘แมวจุดสีสนิม’ เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นที่มีอยู่ในอนุทวีปอินเดียเท่านั้น ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่า เราจะไม่สูญเสียพวกมันไป จำเป็นต้องสร้างพื้นที่คุ้มครองให้มากยิ่งขึ้น” อังเดร พี. ซิลวา นักศึกษาปริญญาเอกในภาควิชานิเวศวิทยาและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุปซอลา ซึ่งผู้เขียนบทคัดย่อและผู้นำทีมวิจัย อธิบาย

เป้าหมายของการศึกษานี้ คือ ทำความเข้าใจปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น สิ่งปกคลุมดิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน และสภาพอากาศ ซึ่งอาจเป็นภัยคุกคามต่อแมวทั้งสามสายพันธุ์ และผลของงานวิจัยชิ้นนี้จะนำไปสู่การออกแบบมาตรฐานป้องกันที่เหมาะสมเพิ่มเติม

ในความเห็นของศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาสัตว์ ได้กล่าวย้ำว่า “จำนวนและขนาดของพื้นที่คุ้มครองจะต้องเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีสภาพแวดล้อมสำหรับพืชและสัตว์ได้อาศัยอย่างปลอดภัยมากขึ้น” บจอร์คลุนด์ กล่าว

ไม่เช่นนั้น แมวหายากสามสายพันธุ์แห่งชมพูทวีปอาจถึงคราวสูญพันธุ์
.

  • อ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เพิ่มเติมได้ที่ The 6th extinction

 

อ้างอิง
Three Rare Cat Species in Southeast Asia May Go Extinct Unless Better Protected
– Uppsala University, Rare species of small cats inadequately protected

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม