โลกร้อนรุนแรง ส่งผลให้แมวน้ำจำนวนมากมีสถานะไร้บ้าน

โลกร้อนรุนแรง ส่งผลให้แมวน้ำจำนวนมากมีสถานะไร้บ้าน

ในเดือนธันวาคมของทุกปี แมวน้ำลายพิณ (harp seals) จะพาตัวเองมาใช้ชีวิตอยู่บนทะเลน้ำแข็งละแวกเกาะแมกดาเลน กลางอ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์ ประเทศแคนาดา

พวกเขาจะใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นหลายเดือนเพื่อผสมพันธุ์จนให้กำเนิดลูกน้อย – เลี้ยงดูทารกจนถึงวันหย่านม แล้วค่อยพากันออกไปเผชิญโลกกว้าง ท่องไปทั่วแอตแลนติกเหนือและอาร์คติก ก่อนกลับมาพักในบ้านหลังเดิม วนเวียนอยู่อย่างนี้ทุกฤดูกาล

ทว่าช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยความร้อนของโลกที่เพิ่มขึ้นทำให้แผ่นน้ำแข็งที่แมวน้ำเคยใช้เป็นบ้าน ได้แตกกระจัดกระจาย มีแมวน้ำไม่ทราบจำนวน และคงไม่ต่ำกว่าร้อยตัวพลัดหลงหายไปจากถิ่นกำเนิด

บางตัวโดนแผ่นน้ำแข็งที่แตกกระแทกบดขยี้ บางตัวว่ายน้ำจนหมดแรง บางตัวถูกกระสน้ำพัดไปไกลถึงชายฝั่งแผ่นดินที่มันไม่รู้จัก ที่ขึ้นฝั่งได้ก็โดนสุนัขป่าไล่ฆ่าเป็นอาหาร

ฉากสลดที่เพิ่งกล่าวไปเป็นเหตุการณ์ที่ค่อยๆ เกิดขึ้นในทศวรรษนี้ แมวน้ำหลายตัวยังไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกมัน – แต่สำหรับเราที่เป็นมนุษย์ก็คงพอจะสรุปได้ในทันทีว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เลือกเอาแมวน้ำลายพิณเป็น “เหยื่อ” เข้าให้แล้ว

แมวน้ำลายพิณ หรือแมวน้ำหลังอาน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กระจายตัวอยู่บริเวณซีกโลกเหนือ เป็นสายพันธุ์แมวน้ำที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากแมวน้ำกินปู มีอายุขัยนานได้ถึง 30 ปี

ความสามารถพิเศษของพวกมันคือการว่ายน้ำ-ดำน้ำได้นานกว่า 15 นาที และกินจุมาก ประมาณว่าแมวน้ำลายพิณตัวโตเต็มไวกินปู ปลา แพลงก์ตอน ไม่ต่ำกว่าหนึ่งตันต่อปี

ด้วยเหตุนี้บางทีพวกมันจึงกลายเป็นสัตว์น่ารังเกียจในสายตาคนทำอาชีพประมง

ขณะเดียวกันพวกมันก็เกือบจะสิ้นชื่อเพราะมนุษย์ในยุค 100 ปีก่อนล่าลูกแมวน้ำสายพันธุ์นี้มากถึงปีละ 500,000 ตัว เพื่อเอาขนมาทำเครื่องนุ่งห่มและเอาเนื้อมาประกอบอาหาร

ภายหลังที่มนุษย์เรารู้จักการอนุรักษ์ จึงได้ออกกฎหมายจำกัดการล่า ทำให้สัตว์สายพันธุ์นี้มีจำนวนมากขึ้นในระดับที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการสูญพันธุ์

แต่กระนั้น กลับกลายเป็นว่าในวันนี้ได้มีปัจจัยคุกคามใหม่ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่อาจเป็นการเปิดเส้นทางสู่หุบเหวแห่งการสูญพันธุ์ของแมวน้ำลายพิณในอนาคต

ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำแข็งในทะเลของประเทศแคนาดา อธิบายว่า ปริมาณน้ำแข็งในอ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์ที่แมวน้ำใช้อาศัยกำลังค่อยๆ ลดปริมาณลงปีต่อปี

จากที่เคยเห็นน้ำแข็งกว้าง 15 ลูกบาศก์ไมล์ ตอนนี้ลดเหลือเพียง 1-3 ลูกบาศก์ไมล์

และถึงจะพอมีเหลืออยู่บ้าง แต่คลื่นความร้อนที่กัดกินฤดูกาลก็ทำให้แผ่นน้ำแข็งที่เหลืออยู่มีสภาพเปราะบางเสี่ยงแตกพังได้ทุกเวลา

เมื่อไม่มีน้ำแข็งให้อยู่ แมวน้ำบางตัวอาจรู้ได้โดยสัญชาตญาณ พวกมันรีบออกเดินทางไปยังที่ที่ปลอดภัย แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีความแน่นอนระหว่างทาง รวมถึงจุดหมายปลายทางที่รออยู่ก็อาจไม่ได้ดีเหมือนบ้านเก่า

เมื่อไม่กี่วันก่อน มีข่าวว่าลูกแมวน้ำตัวหนึ่งที่เกยตื้นบนชายฝั่งประเทศรัสเซียถูกคนผู้รักใคร่เอ็นดูอย่างไร้ความรู้แตะเนื้อต้องตัวมันโดยไม่เกรงใจ เป็นผลให้ลูกแมวน้ำตัวนั้นเกิดความเครียดจนต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้า

เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้มีโอกาสเกิดขึ้นกับแมวน้ำละแวกชายฝั่งแคนาดาเช่นกัน

ตามที่ผู้เฝ้าติดตามเรื่องนี้ชี้แจงว่า การปรากฎตัวของแมวน้ำตามชายฝั่งของเมืองควิเบก (ไกลจากบ้านเดิม 350 ไมล์) เป็นเรื่องที่ประชาชนท้องถิ่นให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

มีชาวบ้านหลายคนพยายามพาตัวเองเข้าไปใกล้แมวน้ำให้ได้มากที่สุด โดยหารู้ไม่ว่านั่นเป็นการรบกวนแมวน้ำที่กำลังเหนื่อยล้าจากการเดินทางไกล หรือกำลังมึนงงไม่ได้สติจากการถูกกระแสน้ำพัดมาขึ้นฝั่ง

นั่นยังไม่รวมถึงเรื่องที่มีลูกแมวน้ำหลายตัวพลัดหลงกับแม่ ต่อให้ไม่มีมนุษย์เข้าไปยุ่มย่ามหรือในทางตรงกันข้ามคือเข้าให้การช่วยเหลือ โอกาสรอดก็ต่ำอยู่ดี…

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ การสูญเสียแผ่นน้ำแข็งที่อยู่อาศัยของแมวน้ำ ทำให้ทัวร์ชมแมวน้ำบนเกาะแมกดาเลนได้รับผลกระทบตามไปด้วย

เจ้าของทัวร์รายหนึ่งเล่าว่า เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง เมื่อเกิดขึ้นครั้งหนึ่งความน่าเชื่อถือก็จะหายไป ผู้คนจะซื้อทัวร์ลดลง รายได้ของทัวร์และชุมชนท้องถิ่นก็หายตามๆ ไป

วันนี้เจ้าของทัวร์รายดังกล่าว ได้ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โดยพยายามทำทัวร์ให้เป็นเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าการเที่ยวชมเพื่อความตื่นตาตื่นใจ

สิ่งนี้คือการรักษาประโยชน์ทางตรงของมนุษย์

ยังไม่รวมถึงประโยชน์ทางอ้อมต่อระบบนิเวศอีกมาก – ที่ไม่อาจตีเป็นมูลค่าได้

 


อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน