ระหว่างการประชุมเมื่อไม่นานมานี้เพื่อวางแผนระดับชาติในการคุ้มครองฉลามและกระเบน ผู้เชี่ยวชาญได้ระบุว่า แนวปะการัง ในพม่าซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการสำรวจอย่างละเอียดและมีความรู้ค่อนข้างน้อยเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพรวมถึงสุขภาพของระบบนิเวศเหล่านั้น
กรมป่าไม้พม่าประมาณการว่าทั้งประเทศมีแนวปะการังรวมทั้งสิ้นกว่า 1.16 ล้านไร่ แนวปะการังส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นชนิดพันธุ์อ่อนหรือแข็งจะพบในพื้นที่ชายฝั่งบริเวณ Rakhine และ Tanintharyi โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณหมู่เกาะ Mergui อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าแนวปะการังนั้นมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุจากการระเบิดปลารวมถึงการใช้อวนตาถี่ซึ่งผิดกฎหมายและทำลายปะการัง ยังไม่นับการเก็บปะการังผิดกฎหมาย
“มีพื้นที่ปะการังราว 30 เปอร์เซ็นต์ที่ยังสวยงามและไม่ได้รับผลกระทบจากมนุษย์” U Zaw Lunn นักชีววิทยาทางทะเลที่ทำงานร่วมกับโครงการอนุรักษ์แหล่งน้ำจืดและทะเลโดย Fauna & Flora International “แต่กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ได้รับความเสียหาย และจำเป็นต้องได้รับการอนุรักษ์เพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ” เขากล่าวเสริม
U Zaw Lunn เป็นนักดำน้ำผู้มีประสบการณ์และศึกษษแนวปะการังในพม่าตั้งแต่ พ.ศ. 2556 เขาระบุว่าแนวปะการัง พื้นที่ป่าชายเลน และพื้นที่หญ้าทะเล เป็นระบบนิเวศที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการมีระบบนิเวศทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้คือแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตใต้น้ำหลากหลายชนิดพันธุ์
“ปะการังในบางเกาะยังอยู่ในสภาพดีเยี่ยม โดยเฉพาะในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า Moscos Kyun บริเวณหมู่เกาะ Mergui แต่แนวประการังซึ่งอยู่ใกล้กับชุมชนนั้นได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก” U Zaw Lunn ให้สัมภาษณ์
แนวชายฝั่งของพม่ามีความยาวกว่า 2,831 กิโลเมตรจากแม่น้ำ Nat ซึ่งเป็นพรมแดนติดต่อกับประเทศบังคลาเทศไปจนถึงบริเวณ Kawthaung ซึ่งเป็นพรมแดนกับประเทศไทย ในชายฝั่งทางใต้มีหมู่เกาะ Mergui ซึ่งประกอบด้วยเกาะเล็กเกาะน้อยกว่า 800 เกาะและรัฐบาลเตรียมแผนจะยื่นเสนอให้เป็นพื้นที่มรดกโลก
สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าพม่า (The Wildlife Conservation Society of Myanmar) เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในการศึกษาแนวปะการังภายในประเทศเพื่อพัฒนาแผนกลยุทธ์การอนุรักษ์และการเฝ้าระวังอย่างมีประสิทธิผล
ถอดความและเรียบเรียงจาก Experts say 70% of nation’s coral reefs are damaged โดย MYAT MOE AUNG
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์