แม่น้ำสายหลักของโลกราว 1 ใน 3 เท่านั้นที่ยังคงไหลอย่างอิสระ ส่วนพื้นที่ที่เหลือต่างได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนซึ่งส่งผลต่อสุขภาพแม่น้ำที่จะส่งมอบนิเวศบริการให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ อ้างอิงจากรายงานระดับโลกซึ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้
มีประชากรนับพันล้านคนที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำและการชลประทาน แต่ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำดานูบ สหภาพยุโรป หรือแม่น้ำแยงซี ประเทศจีน เหล่าแม่น้ำสายหลักต่างก็ถูกหั่นแบ่งเป็นท่อนและเสื่อมสภาพลง แม่น้ำที่ยังคงสภาพไว้ต่างอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเช่นป่าแอมะซอน หรือทวีปอาร์กติก
การประเมินฉบับดังกล่าวถือเป็นรายงานแรกที่จับประเด็นเรื่องแม่น้ำที่ไหลได้อย่างอิสระในระดับโลก โดยศึกษาเฉพาะแม่น้ำที่มีความยาวมากกว่า 1,000 กิโลเมตร 246 สายและพบว่ามีเพียง 90 สายเท่านั้นที่ยังไหลโดยไร้สิ่งกีดขวาง งานวิจัยชิ้นนี้นำโดย Gunther Grill จาก McGill University ประเทศแคนาดา ฉายภาพที่น่ากังวลอย่างยิ่งเนื่องจากเหลือแม่น้ำเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ยังคงไหลอย่างอิสระซึ่งส่วนใหญ่มักมีปลายทางที่ทะเล ไม่ใช่ทะเลสาบหรือแม่น้ำสายอื่น
งานศึกษาอีกหนึ่งชิ้นในประเทศอังกฤษซึ่งศึกษาการก่อสร้างโครงสร้างขวางกั้นการไหลของแม่น้ำ พบว่าโครงข่ายแม่น้ำในอังกฤษราวร้อยละ 97 มีการก่อสร้างโดยมนุษย์ที่กีดขวางเส้นทางแม่น้ำตามธรรมชาติ การที่แม่น้ำมีสัตว์น้ำอย่างสมบูรณ์เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่ทำให้น้ำจืดยังคงความสะอาด แต่ระบบนิเวศน้ำจืดได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับระบบนิเวศอื่นๆ โดยประชากรสัตว์ป่าลดลงถึงร้อยละ 83 ตั้งแต่ พ.ศ. 2513 เนื่องจากการก่อสร้างเขื่อน การใช้น้ำเกินระดับที่ยั่งยืน และมลภาวะ
“แม่น้ำที่ไหลอย่างอิสระมีความสำคัญต่อมนุษย์พอๆ กับธรรมชาติ แต่การพัฒนาทางเศรษฐกิจทั่วโลกทำให้แม่น้ำลักษณะนี้กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ยาก ประชากรราวสองพันล้านคนดื่มน้ำจากแหล่งน้ำเหล่านี้ การรักษาแม่น้ำให้ยังสะอาดจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง” Gunther Grill ให้สัมภาษณ์
ทุกปี ปลาปริมาณ 12 ล้านตันถูกจับจากแม่น้ำ เป็นแหล่งอาหารสำคัญของประชากรหลายร้อยล้านคน แต่ประชากรราว 500 ล้านคนอยู่อาศัยบนพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่กำลังจะจมลงเนื่องจากการก่อสร้างเขื่อนทำให้ตะกอนไหลไปไม่ถึงปลายน้ำ
Gunther Grill ระบุว่าแม่น้ำต้องการการคุ้มครองมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ด้วยความยาวของแม่น้ำทำให้การคุ้มครองระบบนิเวศนี้ทำได้ยากยิ่งหากเทียบกับพื้นที่อย่างเช่นป่าไม้ “แม่น้ำเปรียบเสมือนเส้นเลือกของโลก ในขณะที่ไฟฟ้าพลังงานน้ำเริ่มมีบทบาทสำคัญในภาคพลังงานหมุนเวียน แต่พลังงานลมและแสงอาทิตย์ที่วางแผนเป็นอย่างดีอาจเป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพแม่น้ำ ชุมชน และความหลากหลายทางชีวภาพที่ต่างต้องพึ่งพาระบบนิเวศแห่งนี้” Michele Thieme นักวิทยาศาสตร์น้ำจืดจาก WWF และหนึ่งใน 34 นักวิจัยที่ทำการศึกษาชิ้นนี้ให้สัมภาษณ์
Leroy Poff จาก Colorado State University ให้สัมภาษณ์ว่า “งานวิจัยชิ้นนี้ให้ภาพที่น่าสนใจของสถานะปัจจุบันของแม่น้ำ และแนะนำว่าระบบนิเวศดังกล่าวยังไม่ได้รับการให้ความสำคัญเท่าที่ควร” เขายังระบุเพิ่มเติมอีกว่าการเพิ่มขึ้นของประชากรทำให้เกิดข้อขัดแย้งเรื่องการใช้แหล่งน้ำ อาหาร และพลังงาน ซึ่งยิ่งจำเป็นต้องปล่อยให้แม่น้ำไหลได้อย่างอิสระ
การศึกษาชิ้นนี้ใช้เวลาเก็บข้อมูลและประเมินร่วม 10 ปี โดยค้นคว้าเรื่องเขื่อนและผลกระทบจากการสร้างเขื่อน การไหลในแต่ละฤดูกาล และการเคลื่อนที่ของตะกอน รวมถึงผลกระทบจากพนังกั้นน้ำ ตลิ่งเทียม และการใช้น้ำในชีวิตประจำวัน
แม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลโดยไร้สิ่งกีดขวางแทบไม่เหลืออยู่ในแล้วภูมิภาคที่มีประชากรหนาแน่น โครงสร้างที่ทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงที่สุดคือเขื่อน และอ่างเก็บน้ำซึ่งทำให้การไหลของน้ำตาลฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป “เป็นเรื่องน่าหวั่นใจที่บางครั้งมีการผลิตไฟฟ้า 1 ชั่วโมงและหยุด 1 ชั่วโมง ทำให้แม่น้ำมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นและลดลงถึง 1 เมตร ซึ่งสร้างแรงตึงเครียดให้กับระบบนิเวศซึ่งอยู่ท้ายน้ำ” Gunther Grill กล่าว
งานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า มีเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วโลกราว 60,000 แห่งและอีก 3,700 แห่งกำลังอยู่ในช่วงวางแผนหรือก่อสร้าง ยังไม่นับถึงเขื่อนขนาดเล็กอีกนับล้านล้านแห่ง แม่น้ำหลายสายยังถูกสร้างกำแพงริมตลิ่งเพื่อกันไม่ให้น้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน แม้ว่าสุดท้ายผลกระทบจะถูกถ่ายโอนไปยังพื้นที่ท้ายน้ำ นอกจากนี้ กำแพงกั้นน้ำดังกล่าวยังป้องกันการเติมสารอาหารตามธรรมชาติให้กับผืนดินที่ราบน้ำท่วมถึง
ผลกระทบด้านลบจากการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่นั้นเป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวาง แต่ความพยายามทั่วโลกในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานน้ำเพิ่มสูงขึ้น “เขื่อนกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น” Gunther Grill แสดงความเห็น และชี้ให้เห็นถึงเขื่อนใหม่ๆ ที่อาจเกิดบนภูมิภาคแอมะซอน บอลข่าน ประเทศจีน และเทือกเขาหิมาลัย โดยเขามองว่าต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่แท้จริงของการก่อสร้างเขื่อนมักไม่ได้ถูกนำไปคำนวณด้วย และหวังว่าฐานข้อมูลของเขาจะทำให้ผู้กำหนดนโยบายในระดับโลกสามารถตัดสินใจในแง่ความจำเป็น สถานที่ และการออกแบบก่อสร้างเขื่อน