‘เสือโคร่งเบงกอล’ อาจหายไปจาก ‘ซุนดาบันส์’ ในอีก 50 ปี ?

‘เสือโคร่งเบงกอล’ อาจหายไปจาก ‘ซุนดาบันส์’ ในอีก 50 ปี ?

การศึกษาชิ้นใหม่ระบุว่าเสือโคร่งในซุนดาบันส์อาจมีโอกาสหายไปในอีก 50 ปี โดยเฉพาะในส่วนที่อาศัยอยู่ในฝั่งบังคลาเทศ เนื่องจากปัจจัยหลายประการ ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาอุตสาหกรรมและการล่าสัตว์

การศึกษาเรื่อง ‘ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลต่อการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งเบงกอลที่ใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่ซุนดาบันส์ บังคลาเทศ’ ดำเนินการโดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากบังคลาเทศ และออสเตรเลีย ตีพิมพ์ในวารสาร Science of The Total Environment

ผลของการศึกษา แสดงให้เห็นว่า การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอย่างต่อเนื่อง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สามารถนำสถานการณ์ภัยพิบัติมาสู่ป่าซุนดาบันส์ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สุดท้ายของเสือโคร่งเบงกอล และป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

“สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ การวิเคราะห์ของเราให้ผลออกมาว่า แหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งในซุนดาบันส์จะหายไปทั้งหมด ภายในปี ค.ศ. 2070” Sharif Mukul ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แห่ง Independent University Bangladesh กล่าว

ทีมวิจัยใช้การจำลองด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อประเมินความเหมาะสมของภูมิภาคในอนาคตสำหรับเสือโคร่งและเหยื่อ โดยประเมินจากสภาแนวโน้มภูมิอากาศของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC)

นักวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า นอกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลแล้ว การพัฒนาอุตสาหกรรม การตัดถนนสายใหม่ และการลักลอบล่าสัตว์ที่มีเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้เสือโคร่งมีโอกาสสูญพันธุ์

อย่างไรก็ตามนักวิจัยได้ให้ความเห็นประกอบว่า การวิเคราะห์นี้เป็นเพียงการคาดการณ์เบื้องต้นของสิ่งที่อาจเกิดขึ้น หากเราไม่เริ่มดูแลเสือโคร่งเบงกอล และแหล่งอาศัยที่สำคัญของพวกมัน

“บนโลกนี้ไม่มีที่ไหนที่เหมือนกับซุนดาบันส์อีกแล้ว” ศาสตราจารย์ Bill Laurance นักวิจัยจาก James Cook University กล่าว “เราต้องดูแลระบบนิเวศอันเป็นเอกลักษณ์นี้เอาไว้ หากเราต้องการให้เสือโคร่งเบงกอลมีชีวิตรอดต่อไป”

 

 

ทางด้าน Pradeep Vyas ซึ่งเคยทำงานเป็นผู้อำนวยการเขตสงวนชีวมณฑลซุนดาบันส์มานานกว่าทศวรรษกลับมีความคิดเห็นต่างออกไปจากผลของงานวิจัย

“ผมไม่ได้เห็นรายงาน แต่ผมสามารถบอกคุณได้ว่ามันคงถูกเขียนขึ้นโดยมีปัจจัยที่ไม่ถูกนำมาใช้ประกอบอีกหลายเรื่อง” เขากล่าวกับ Down to Earth นิตยสารทางสิ่งแวดล้อมของอินเดีย

“คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงมาก แต่เราก็ต้องจำไว้ว่าซุนดาบันส์เป็นพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่ยังมีการเคลื่อนไหวอยู่ มีการกัดเซาะ แต่ก็มีตะกอนที่ไหลลงมาจากแม่น้ำหิมาลายัน” Vyas ให้เหตุผล

“ปัจจัยที่สำคัญอีกเรื่อง คือความเอาจริงของรัฐบาลบังคลาเทศ ที่ดูแลพื้นที่ซุนดาบันส์อยู่กว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ เพราะในทศวรรษที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดลำดับให้พื้นที่แห่งนี้มีความสำคัญสูงที่สุด พวกเขาทำงานอย่างหนักในการจัดการกับพวกลักลอบล่าสัตว์ป่า บังคลาเทศมีความกระตือรือร้นต่อการอนุรักษ์เสือ เพราะเสือเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของพวกเขา”

อีกปัจจัยที่ Vyas รู้สึกว่านักวิจัยไม่ได้ใส่ใจ คือ การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น “ทั้งซุนดาบันส์ฝั่งอินเดียและบังคลาเทศ ชุมชนได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความสำคัญของเสือโคร่ง ตัวอย่างเช่นในอินเดีย  ก่อนปี พ.ศ. 2544 ถ้าเกิดมีเสือโคร่งหลงทางเข้าไปในหมู่บ้าน มันจะถูกฆ่าตาย แต่ระหว่างปี พ.ศ. 2544 จนถึงตอนนี้ มันไม่มีเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นอีก ทางบังคลาเทศก็เป็นอย่างนั้นเหมือกัน” Vyas กล่าว

เขาทิ้งท้ายว่า เพื่อจัดการกับเรื่องน้ำทะเลที่สูงขึ้นในซุนดาบันส์ ต้องสร้างความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

 


เรียบเรียงจาก Sundarbans’ ‘swamp tigers’ could be gone in 50 years, warns study โดย Rajat Ghai และ Alarm bells for the Bengal Tiger
เรียบเรียงโดย เอกวิทย์ เตระดิษฐ์