รายงานฉบับล่าสุดโดย Verisk Maplecroft ระบุว่าเมืองใหญ่ในเอเชียเผชิญความเสี่ยงจากภัยพิบัติจากสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ทั้งคลื่นความร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ ประเทศที่เสี่ยงที่สุด 100 อันดับนั้น มีประเทศในภูมิภาคเอเชียมากถึง 99 อันดับโดย 37 เมืองอยู่ในประเทศจีนและ 43 เมืองอยู่ในประเทศอินเดีย
.
รายงานฉบับดังกล่าวพบว่าเมืองใหญ่ซึ่งมีประชากรมากกว่า 1 ล้านคนทั่วโลกกว่า 414 เมืองซึ่งมีประชากรรวมกว่า 1.4 พันล้านคนมีความเปราะบางต่อมลภาวะ น้ำอุปโภคบริโภค ความร้อนรุนแรง ภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเมืองที่มีความเสี่ยงที่สุดในโลก 10 อันดับแรกคือ
- จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
- เดลี ประเทศอินเดีย
- เชนไน ประเทศอินเดีย
- สุราบายา ประเทศอินโดนีเซีย
- จันดิการ์ ประเทศอินเดีย
- อากรา ประเทศอินเดีย
- มีรัท ประเทศอินเดียฃ
- บันดุง ประเทศอินโดนีเซีย
- อลิการ์ ประเทศอินเดีย
- กานปุระ ประเทศอินเดีย
อินโดนีเซีย
จาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซียนได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองที่เสี่ยงที่สุดในโลกเนื่องจากมลภาวะทางอากาศขั้นรุนแรง เมืองดังกล่าวยังเสี่ยงต่อภัยคุกคามอย่างอุทกภัยและแผ่นดินไหวอีกด้วย ประชากรกว่าสิบล้านคนของจาการ์ตาต้องเผชิญกับการจราจรที่แออัด และยังเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ที่จมลงสู่มหาสมุทรเร็วที่สุดของโลกอีกด้วย
ในปี พ.ศ. 2562 ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดได้เปิดเผยแผนจะย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซียจากจาการ์ตาซึ่งอยู่บนเกาะชวาไปยังเกาะบอเนียว อย่างไรก็ดี แผนการดังกล่าวก็ไม่สามารถเดินหน้าได้เนื่องจากการระบาดของโควิด-19
.
อินเดีย
เมืองใหญ่ของอินเดียวไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เชนไน ชัยปุระ ลัคเนาว์ บังคาร์ลอร์ และศูนย์กลางทางการเงินอย่างมุมไบ ต่างติดอยู่ใน 30 อันดับแรกของเมืองที่เสี่ยงที่สุดในรายงานฉบับดังกล่าว เมื่อไม่กี่ปีมานี้ กรุงนิวเดลีเพิ่งกลายเป็นพาดหัวข่าวทั่วโลกหลังจากรัฐบาลตัดสินใจประกาศภาวะวิกฤติทางสาธารณสุขและสั่งให้หยุดโรงเรียนเนื่องจากมลภาวะอากาศเข้าขั้นเลวร้าย
อินเดียซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียใต้เผชิญกับความท้าทายทั้งมลภาวะทางอากาศและน้ำ รายงานฉบับนี้ยังย้ำว่าอากาศที่เลวร้ายอาจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากร 1 ใน 5 ของอินเดียในปี พ.ศ. 2562 ทำให้สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจไปกว่า 36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มลภาวะทางน้ำคิดเป็นต้นทุนราว 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน อีกทั้งยังเป็นสาเหตุการตายของประชากรอีกกว่า 400,000 คนในแต่ละปี
.
เอเชียตะวันออก
เมืองใหญ่ในฝั่งเอเชียตะวันออกเผชิญความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ เมืองในจีน เช่น กวางโจวและตงกว่านเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม ส่วนเมืองเซินเจิ้นในจีน รวมถึงโตเกียวและโอซากาในญี่ปุ่นเสี่ยงต่อการเผชิญแผ่นดินไหวและพายุไต้ฝุ่น
มลภาวะเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของประเทศจีน รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองและเผชิญความเสี่ยงอย่างยิ่งจากมลภาวะ 286 ล้านคนจาก 336 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศจีนและอินเดีย
.
แอฟริกา
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมน่ากังวลมากขึ้นโดยที่ภูมิภาคแอฟริกานับว่าน่าเป็นห่วง เมืองที่เปราะบางต่อภาวะอากาศสุดขั้วกลับเป็นเมืองที่แทบไม่มีกลไกป้องกันผลกระทบทางกายภาพที่อาจจะเกิดขึ้น
“อันตรายสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือการที่ทำให้ความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาพอากาศรุนแรงยิ่งขึ้น” Will Nichols หัวหน้าทีมวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศจาก Verisk Maplecroft กล่าว “อุณหภูมิที่สูงขึ้น รวมถึงความถี่และความรุนแรงของเหตุการณ์ภูมิอากาศสุดขั้ว เช่น พายุ ภัยแล้ง และอุทกภัย จะกระทบต่อคุณภาพชีวิตและโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายเมืองทั่วโลก”
ถอดความและเรียบเรียงจาก Asia accounts for 99 out of 100 top cities facing the biggest environmental risks
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก