เต่าทะเลไทยหวนคืนสู่หาดในวันไร้นักท่องเที่ยว

เต่าทะเลไทยหวนคืนสู่หาดในวันไร้นักท่องเที่ยว

เมื่อครอบครัวของ โกสุม เค้าอุทัย สังเกตเห็นรอยลึกลับบนพื้นทรายนอกโรงแรมที่พวกเขาเป็นเจ้าของบนเกาะสมุย เธอทราบทันทีว่ามีสัตว์ป่าชนิดใดมาเยี่ยมเยือนชายหาดหน้าโรงแรม เพราะจำได้ว่าสมัยยังเป็นวัยรุ่นเธอก็เคยพบรอยดังกล่าวบนพื้นทรายเมื่อกำลังช่วยพ่อสอยมะพร้าว รอยนั้นคือรังของเต่าทะเล

โกสุมไม่เคยพบภาพดังกล่าวมายาวนานร่วมห้าทศวรรษ แต่ในปีนี้ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ชายหาดของไทยร้างไร้นักท่องเที่ยว ความเงียบสงบกลับกลายเป็นสวนสวรรค์ให้เต่าตนุและเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่รอบเกาะ นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ มีลูกเต่าทะเลกว่า 838 ตัวคืบคลานจากชายหาดคืนสู่ท้องทะเล โดยยังมีอีกสองรังที่ยังไม่ถึงเวลาฟัก

 

 

รังของเต่าทะเลมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยสำรวจพบทั้งสิ้น 19 รัง สร้างความปลื้มปีติให้กับนักอนุรักษ์ที่ต่อสู้มานานหลายปีเพื่อลดภัยคุกคามจากมนุษย์ “นี่นับเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก เราหวังอย่างยิ่งว่าประชาชนบนเกาะสมุยจะช่วยเป็นอีกกำลังหนึ่งในการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลในอนาคต นี่คือโอกาสครั้งสำคัญ” ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้สัมภาษณ์

ชุมชนท้องถิ่นจับมือกับภาคเอกชนเพื่อเดินหน้าอนุรักษ์เต่าทะเล สร้างรั้วไม้ไผ่รอบรังเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเงินตัวทองหรือสุนัขมารบกวน อีกทั้งยังมีการเฝ้าสังเกตการณ์โดยหวังว่าจะได้เห็นภาพลูกเต่าฟักออกจากไข่ หรือพบกับแม่เต่าที่มักจะกลับมาหลังจากไข่ชุดเดิมฟัก 10 ถึง 12 วันเพื่อวางไข่เพิ่มในรังเดิม โรงแรมแห่งหนึ่งมีการจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย โดยตรวจทุกหนึ่งชั่วโมงพร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดและเซ็นเซอร์จับการเคลื่อนไหวเพื่อให้มั่นใจว่ารังจะไม่ถูกรบกวน

 

 

เต่าทะเลเพศเมียจะทำรังทุกสองถึงสามปี ใช้ครีบด้านหน้าเพื่อขุดหลุมรูปหยดน้ำบนชายหาด และวางไข่ประมาณ 80 ถึง 120 ฟอง “พวกมันจะพยายามหาพื้นที่ที่เงยบสงบ” เทพสุดา ลอยจิ้ว นักชีววิทยาทางทะเลที่ทำงานร่วมกับบันยันทรีรีสอร์ท ซึ่งจะมีเต่าตนุข้นมาวางไข่ห้ารังทุกปี ให้สัมภาษณ์ “พวกเราพยายามที่จะปลูกต้นไม้ให้ร่มเงาซึ่งเต่าจะชอบมาก” เธอกล่าวพร้อมกับเสริมว่าปกติแล้วเต่าจะวางไข่ในตอนกลางคืน

เราไม่มีข้อมูลว่าเหล่าเต่าทะเลที่ต้องทิ้งรังเมื่อปีที่ผ่านมาเนื่องจากความพลุกพล่านของชายหาดเกาะสมุย ไปวางไข่ที่อื่นหรือไม่ แต่เป็นไปได้ว่าแม่เต่าอาจจำต้องวางไข่ในน้ำซึ่งจะทำให้ไข่เหล่านั้นไม่สามารฟักออกมาเป็นตัวได้ “การวางไข่ของแม่เต่านั้นรอไม่ได้ คล้ายกับมนุษย์ที่หากถึงเวลาต้องคลอดก็ต้องคลอด แม้ว่าจะอยู่บนแท็กซี่ก็ต้องคลอด” ดร. ธรณ์ กล่าว

จำนวนเต่าทะเลในประเทศไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญในศตวรรษที่ผ่านมา โกสุมเล่าว่า เกาะสมุยในปัจจุบันแทบไม่เหลือเค้าเดิมหากเทียบกับเมื่อ 50 ปีก่อน “ตอนนั้นมีแต่ผืนป่า ฟาร์มมะพร้าว และยังไม่มีถนนด้วยซ้ำ” ปัจจุบัน เกาะสมุยมีนักท่องเที่ยวปีละกว่าสองล้านคน ภัยคุกคามเต่าทะเลไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการพัฒนาพื้นที่ชายหากเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการล่า มลภาวะ และแหจับปลา

อนาคตของเต่าทะเลในระดับโลกก็นับว่าไม่สดใสนัก เนื่องจากสภาวะโลกร้อนที่จะทำให้น้ำทะเลอุ่นขึ้น ระดับน้ำสูงขึ้น และเกิดพายุบ่อยครั้งขึ้น การเปลี่ยนแปลงกระแสน้ำและทำร้ายแนวปะการังซึ่งเต่าทะเลจำเป็นต้องพึ่งพาเพื่อเอาชีวิตรอด อีกประเด็นที่น่ากังวลจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือสัดส่วนเพศของเต่าทะเล เพราะหาดทรายที่ร้อนขึ้นจะเพิ่มโอกาสที่ลูกเต่าจะกลายเป็นเพศเมีย

ในประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ได้พบแนวทางใหม่เพื่อเฝ้าระวังสัตว์น้ำ ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน หรือศูนย์ชีววิทยาทางทะเล ภูเก็ต ได้ติดตามแม่เต่าที่ขึ้นมาวางไข่บนเกาะสมุย เพื่อศึกษาเส้นทางการเคลื่อนที่ วิถีชีวิต และพฤติกรรมเพื่อใช้ข้อมูลในการออกแบบการอนุรักษ์ที่ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เทคโนโลยีรับรู้ใบหน้าเพื่อระบุตัวตนของเต่าทะเลก็กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยให้เราสามารถประมาณการจำนวนประชากรเต่าทะเลได้แม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยากมากเพราะรูปแบบการอพยพของมัน

จำนวนรังเต่าทะเลบนเกาะสมุยในปีนี้มีมากกว่าหลายปีที่ผ่านมาซึ่งมีบันทึกไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 แต่ไม่มีใครทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากนักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางกลับมา ซึ่งธุรกิจบนเกาะก็ต้องพึ่งพาเม็ดเงินเหล่านั้น “ก่อนที่จะมีการระบาด เกาะสมุยมคนเต็มไปหมด ที่พักเต็ม ที่จอดรถก็เต็ม” โกสุมเล่าและเสริมว่าครอบครัวของเธอกำลังเผชิญความยากลำบากในการที่จะพยุงธุรกิจต่อ

ดร. ธรณ์หวังว่าภาคการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์จะสามารถหาจุดสมดุลร่วมกันได้ การระบาดของโควิด-19 แสดงให้เห็นว่าเกาะสมุยเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเลที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง กระแสนักท่องเที่ยวที่หยุดชะงักลงเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะเดินหน้างานอนุรักษ์ “นี่คือสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ”

 

ถอดความและเรียบเรียงจาก Thailand’s turtle hatchlings finally have the beach to themselves

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก