ในมุมมองของคนเราอาจรู้สึกว่าสัตว์หลายชนิดมีความน่ารักจนไม่อาจห้ามใจไม่ให้เข้าไปสัมผัสหรือทำปฏิสัมพันธ์ด้วยได้ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาด้วยนวัตกรรมการถ่ายภาพที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย เช่น การบันทึกภาพด้วยโทรศัพท์มือถือ ทำให้เราสามารถถ่ายภาพสัตว์น่ารักเหล่านั้นไว้เมื่อใดก็ได้ที่มีโอกาส
และเมื่อไม่นานมานี้ การถ่ายภาพเซลฟี่เริ่มเป็นที่นิยม แต่รู้หรือไม่ว่า การเซลฟี่กับสัตว์ป่าอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์เหล่านั้นได้ นี่เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ และเราต้องหยุดพฤติกรรมเช่นนี้ลง
ศาสตราจารย์ ฟิลิป เซดดอน ผู้อำนวยการโครงการจัดการสัตว์ป่าที่ Otago University ประเทศนิวซีแลนด์ ได้อธิบายว่า ความนิยมถ่ายภาพเซลฟี่กับสัตว์ป่าถือเป็นเรื่องอันตราย เมื่อผู้คนพยายามไล่ตามสัตว์ป่าเพื่อถ่ายภาพ มันจะเป็นการเข้าไปขัดขวางรูปแบบพฤติกรรมการใช้ชีวิตของสัตว์ เป็นต้นว่า อาจทำให้สัตว์ป่าต้องอดอาหาร ขัดขวางการเลี้ยงลูก และอาจส่งผลในแง่ที่เราไม่อาจสังเกตเห็นได้ด้วยตา เช่น ทำให้สัตว์เกิดความเครียดจนส่งผลต่ออัตราการเกิดที่ลดลง
ศาสตราจารย์เซดดอน อธิบายว่า ในแง่หนึ่งการถ่ายภาพเซลฟี่กับสัตว์บางชนิดอาจให้ผลบวกในการช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าได้ แต่ปัญหาคือผู้คนจำนวนมากที่อยากถ่ายภาพลงโซเชียลมีเดียนั้นไม่ได้เข้าใจบริบทของสัตว์ป่าและอาจพยายามถ่ายภาพด้วยวิธีของตัวเองซึ่งอาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงลบได้
ศาสตราจารย์เซดดอนได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า ปัจจุบันคนเราขาดการเชื่อมโยงกับธรรมชาติเป็นอย่างมากซึ่งมันทำให้เราไม่เข้าใจถึงพฤติกรรมของสัตว์ป่าในธรรมชาติเลยแม้แต่น้อย
“เรามีพื้นที่เมืองเพิ่มมากขึ้น แต่ประชากรทั่วโลกล้วนเหินห่างจากธรรมชาติ ขณะเดียวกันการเข้าถึงสัตว์ป่ากับปรากฎในรูปแบบของสินค้าหรือบริการที่ถูกทำให้ดูปลอดภัย ดังนั้นเราจึงพบเห็นพฤติกรรมแปลกๆ ต่างๆ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ประหลาดมากในมุมมองของนักชีววิทยาอย่างเรา เช่น การที่คุณอุ้มลูกไปนั่งบนตัวของสัตว์ป่า”
World Animal Protection องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกที่ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ได้ศึกษาถึงความถี่การถ่ายภาพเซลฟี่กับสัตว์ป่า พบว่าอัตราการถ่ายภาพเซลฟี่กับสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น 29% ในช่วงปี 2557-2560 และ 40% ของภาพแสดงถึงปฏิสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมกับสัตว์ เช่น การกอดหรืออุ้มสัตว์ ยกตัวอย่าง ในนิวซีแลนด์นักท่องเที่ยวจับสิงโตทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์มาเซลฟี่ ไล่จับนกแพนกวินตาเหลือง หรือความพยายามกอดนกกีวีซึ่งเป็นสัตว์ที่ขี้อายและนักสันโดษ
ขณะเดียวกันไฟหน้าจอ แสงแฟลชจากโทรศัพท์มือถือ เสียงรบกวนและความวุ่นวายของผู้คนสามารถทำให้เกิดความสับสนมึนงงและทำให้สัตว์ป่าป่วยได้
ต่อประเด็นที่กล่าวถึงนี้ จำเป็นต้องมีการศึกษารายละเอียดต่างๆ มากขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่ผู้คนถึงระยะปลอดภัยที่มนุษย์ควรรักษาระยะห่างระหว่างตัวเองกับสัตว์ป่าที่พวกเขาไม่เคยพบ
เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อความปลอดภัยของผู้คน แต่ยังรวมถึงความปลอดภัยของสัตว์ป่าด้วย