รายงานซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกัมพูชาระบุว่า บริเวณที่เตรียมก่อสร้างเขื่อนสมโบร์ (Sambor Dam) ซึ่งเป็นเขื่อนที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากประเทศจีน เป็น ‘จุดก่อสร้างที่เลวร้ายที่สุด’ เนื่องจากผลกระทบต่อสัตว์ในธรรมชาติ และเป็นการ ‘ฆ่าแม่น้ำโขง’ ทางอ้อม รายงานดังกล่าวไม่ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่ถูกนำมาเผยแพร่โดยผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ the Guardian
รายงานดังกล่าวถูกเก็บเป็นความลับตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกัมพูชามีแนวโน้มที่จะเดินหน้าโครงการต่อโดยไม่สนใจผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อทั้งโลมาแม่น้ำ และปลาน้ำจืดอพยพ เขื่อนดังกล่าวเป็นเขื่อนคอนกรีตหน้ากว้าง 33 กิโลเมตรที่สมโบร์ จังหวัดกระแจะ (Kratie Province) เมืองชนบทที่เงียบสงบซึ่งมีชื่อเสียงจากการเป็นจุดชมโลมาอิรวดี โลมาแม่น้ำซึ่งถูกรายงานว่ามีจำนวนเพียงหยิบมือ แต่ประชากรเริ่มเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี
รัฐบาลกัมพูชาได้ว่าจ้าง National Heritage Institute บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาจากสหรัฐอเมริกา เพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากอ่างเก็บน้ำความยาวถึง 82 กิโลเมตร โดยเริ่มการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ พ.ศ. 2557 แต่รายงานดังกล่าวก็ไม่ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะ แม้ว่าจะมีการเรียกร้องจากองค์กรภาคประชาสังคมหลายต่อหลายครั้งก็ตาม กระทั่งรายงานฉบับดังกล่าวได้ตกมาอยู่ในมือของหนังสือพิมพ์ the Guardian
ข้อค้นพบสำคัญระบุอย่างชัดเจนว่า “เขื่อนสมโบร์จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมประมง เนื่องจากเขื่อนดังกล่าวจะปิดทางอพยพของปลาน้ำจืดมายังโตนเลสาบ (ทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ของกัมพูชา) ลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง รวมถึงบริเวณวางไข่ต้นน้ำ”
แม่น้ำโขง เป็นแหล่งผลิตปลาน้ำจืดที่สำคัญที่สุดในโลกซึ่งสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประชากรกว่า 60 ล้านคน คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) ประมาณการมูลค่าของสัตว์น้ำที่ประมาณ 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่แบ่งปันกันระหว่าง 4 ประเทศคือ กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม การเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนของกัมพูชานับว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก เพราะประชากรราวร้อยละ 80 ของกัมพูชาต้องพึ่งพิงแหล่งโปรตีนจากเนื้อปลาเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ เขื่อนดังกล่าวอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง Marc Goichet ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำจาก WWF ระบุว่า “หลังจากที่ WWF ทำงานร่วมกับองค์กรในกัมพูชากว่า 15 ปี ในที่สุดเราก็ได้รับชัยชนะในการอนุรักษ์โลมาแม่น้ำโขง โดยมีลูกโลมาเกิดใหม่ถึง 15 ตัวตั้งแต่ พ.ศ. 2558 เขื่อนสมโบร์จะทำลายความพยายามทั้งหมดที่เราทำมา รวมถึงชีวิตของโลมา การประมง ความเป็นอยู่ และสารอาหารของชุมชนในชนบท อีกทั้งปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนามที่จะยิ่งเสี่ยงต่อการโดนกัดเซาะ”
แผนการก่อสร้างเริ่มต้นจากการทำ MOU ระหว่างรัฐบาลกัมพูชากับบริษัท China Southern Power Grid ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 ซึ่งนำไปสู่การต่อต้านครั้งใหญ่ให้นักลงทุนจีนยกเลิกแผนลงทุนดังกล่าวใน พ.ศ. 2551 อย่างไรก็ดี สิ่งที่กัมพูชากำลังเผชิญ ตั้งแต่อาการขาดแคลนไฟฟ้าเรื้อรัง และต้องพึ่งพิงการนำเข้าพลังงานถึงร้อยละ 50 ทำให้แผนการสร้างเขื่อนสมโบร์ถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2559 หลังจากที่ลาวเดินหน้าสร้างเขื่อนที่หลายฝ่ายคัดค้านเหนือลำน้ำโขง อย่างเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง
ในบทสรุปผู้บริหารของรายงานดังกล่าว มีวรรคหนึ่งความว่า “เขื่อนแห่งนี้อาจเป็นการฆ่าแม่น้ำโขงทางอ้อม เว้นแต่ว่าจะมีการออกแบบและดำเนินการอย่างยั่งยืน พื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดที่แย่ที่สุดที่จะก่อสร้างเขื่อน”
Ith Praing รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของกัมพูชาระบุว่า “ประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเร็วเกินกว่าที่เราจะเผยแพร่ข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับเขื่อนสมโบร์”
ทีมสำรวจได้ศึกษาพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนทางเลือก 10 แห่ง และวางแผนจะนำเทคโนโลยีลดผลกระทบที่ก้าวหน้าที่สุดมาใช้ แต่ Gregory Thomas ผู้จัดการโครงการให้สัมภาษณ์ว่า “เรายังไม่มั่นใจว่าเทคโนโลยีและมาตรการลดผลกระทบที่ทันสมัยที่สุดจะสามารถใช้ได้ในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากยังไม่เคยมีการทดลองใช้เทคโนโลยีลักษณะนี้บริเวณแม่น้ำเขตร้อนชื้น นับว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก”
การศึกษาชิ้นดังกล่าวเสนอทางเลือกทดแทนการสร้างเขื่อนคือแผงพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำของเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 (Lower Sesan 2 Dam) ที่เดินเครื่องอยู่ ทางเลือกดังกล่าวจะสามารถผลิตไฟฟ้ารวมกับเขื่อนที่มีอยู่แล้วได้ราว 800 เมกะวัตต์ เทคนิคการทำงานประสานระหว่างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าและแผงพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำมีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศจีนและอินเดีย
รายงานดังกล่าวยังระบุเพิ่มเติมว่า “พลังงานแสงอาทิตย์เป็นทางเลือกหนึ่งเดียวที่จะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจสุทธิที่เป็นบวก หลังจากคำนวณผลได้และผลเสียอย่างรอบได้ ต้นทุนของพลังงานแสงอาทิตย์ยังต่ำกว่าการก่อสร้างเขื่อนที่ติดตั้งเทคโนโลยีลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอีกด้วย”
รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของกัมพูชายังไม่ให้ความสนใจพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์มากนัก และยังมีท่าทีไม่สนใจทางเลือกของการก่อสร้างฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์กำลังผลิต 400 เมกะวัตต์ ซึ่งทำให้เราคาดได้ว่าเขายังคงมุ่งมั่นกับความคิดในการก่อสร้างเขื่อนสมโบร์ อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่ายังไม่มีการตัดสินใจขั้นเด็ดขาดแต่อย่างใด โดยจะต้องรอหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคมเสียก่อน หากเขื่อนได้รับการอนุมัติ บริษัท Hydrolancang International Energy จากประเทศจีนก็จะเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง