การทดสอบเครื่องจักรที่ติดตั้ง ณ เขื่อนจิ่งหง ในประเทศจีนเมื่อสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่ลำน้ำโขงตอนล่างลดลงราว 50 เปอร์เซ็นต์ ซ้ำเติมระดับน้ำลดลงอีกทั้งที่ภูมิภาคดังกล่าวก็เผชิญกับภัยแล้งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
การดำเนินการดังกล่าวที่ประกาศโดยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ได้กระทบต่อผู้อยู่อาศัยในชุมชนบริเวณสามเหลี่ยมทองคำของประเทศลาว โดยมีประชาชนในพื้นที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Radio Free Asia (RFA) ว่าระดับน้ำลดลงอย่างเห็นได้ชัด
“ใช่ ระดับน้ำมันลดลงไปจริงๆ” ผู้อาศัยในหมู่บ้านหนึ่งของอำเภอต้นผึ้ง จังหวัดบ่อแก้ว ระบุภายใต้เงื่อนไขของการปิดบังตัวตน เขาเปรียบเทียบระดับน้ำในหน้าแล้งปกติในประเทศลาวเมื่อราวปลาย พ.ศ. 2562 “เราต้องพึ่งพาน้ำจากแม่โขง หากแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ต่อไป เราอาจไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการบริโภคของเราเอง” เขาระบุ
หลายพื้นที่ของลาวต่างก็รู้สึกถึงผลกระทบจากระดับน้ำโขงที่ต่ำลง ชาวบ้านในชุมชนบริเวณสามเหลี่ยมทองคำระบุว่าการเดินเรือลำใหญ่ในแม่น้ำโขงกลายเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เนื่องจากระดับน้ำที่ตื้นเขิน “แม้แต่เรือลำเล็กก็ไม่ใช่เรื่องง่าย” เขากล่าว
ชาวประมงคนหนึ่งใน จ. เชียงราย ประเทศไทย ก็ให้สัมภาษณ์ถึงปรากฎการณ์ว่า “พวกเขาบอกว่าจะทดลองเดินเครื่องจักรและจะกักน้ำไว้ด้านบน หรือทำอะไรบางอย่างซึ่งจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลง ตลิ่งสองฝั่งโขงเป็นพื้นที่การเกษตรซึ่งชาวบ้านต่างใช้เพราะปลูกพืชผัก แน่นอนว่าพืชพรรณเหล่านั้นย่อมได้รับผลกระทบอย่างมากจากการขาดน้ำ” เขาระบุ
คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการจัดการลุ่มน้ำโของตอนล่างได้ออกประกาศว่าการเดินเครื่องเขื่อนจิ่งหงจะทำให้ปริมาณน้ำลดลงจาก 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเป็น 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงสูงถึง 70 เซนติเมตรกระทั่งวันที่ 10 มกราคม 2563
นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มอนุรักษ์รักษ์เชียงของกล่าวว่าการเปิดและปิดเขื่อนของจีนที่กั้นลำน้ำโจงจะกลายเป็นปัญหาต่อประเทศเพื่อนบ้านในระยะยาว “จวบจนปัจจุบัน รัฐบาลจีนควรจะได้รับทราบแล้วว่าได้สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนที่อยู่ท้ายน้ำ สิ่งที่เราเรียกร้องมาตลอดคือการแก้ปัญหาร่วมกัน” เขากล่าว
ในขณะเดียวกัน การสูญเสียตะกอนดินซึ่งถูกกักอยู่หลังเขื่อนและระดับน้ำที่ลดลงเนื่องจากภัยแล้งตามที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกบ่าวว่าเป็นภัยแล้งที่ ‘เลวร้ายที่สุดในรอบ 60 ปี’ ได้ทำให้แม่โขงกลายเป็นสีฟ้าใสเนื่องจากแสงสะท้อนจากท้องฟ้าด้านบน
ประเทศลาวเองก็ได้สร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำหลายแห่งเหนือลำน้ำโขงสายหลักและสายรอง ตามพันธกิจเพื่อผันตัวเองเป็น ‘แบตเตอรีแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ส่งออกไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ลาวเตรียมแผนจะสร้างเขื่อนอีกหลายแห่งในอนาคตอันใกล้ ถึงแม้ว่ารัฐบาลลาวจะมองเห็นการผลิตไฟฟ้าเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่ติดทะเล โครงการเหล่านั้นก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างมากเนื่องจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การบังคับย้ายประชากรออกจากพื้นที่ ทำลายการประมง และการทำสัญญาทางการเงินที่ชวนตั้งคำถาม
ถอดความและเรียบเรียงจาก China’s Jinghong Dam Runs ‘Tests’ Dropping Water Levels in Downstream Laos
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพเปิดเรื่อง