งานศึกษาชิ้นล่าสุดระบุว่า เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งในกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกาส่งผลกระทบร้ายแรงต่อธรรมชาติ เขื่อนเหล่านี้ถูกทำลายลงทุกปีเป็นจำนวนมากเนื่องจากไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และถูกมองว่าอันตราย แต่นักวิจัยระบุว่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาไม่รับรู้รับทราบถึงความไม่ยั่งยืนของเขื่อนเหล่านี้ โดยมีเขื่อนขนาดใหญ่นับพันแห่งถูกวางแผนว่าจะก่อสร้างเหนือลำน้ำในทวีปแอฟริกาและเอเชีย
ไฟฟ้าพลังงานน้ำ คิดเป็นราวร้อยละ 71 ของพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาของหลายประเทศ แต่กลุ่มนักวิจัยระบุว่า การก่อสร้างเขื่อนในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาขึ้นถึงจึงสูงสุดราว 60 ปีก่อน และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีการทำลายทิ้งมากกว่าการก่อสร้างใหม่ ปัจจุบัน ไฟฟ้าพลังงานน้ำคิดเป็นร้อยละ 6 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา
เขื่อนถูกทำลายในอัตราราว 1 เขื่อนต่อสัปดาห์ในประเทศคาบสมุทรแอตแลนติก
ปัญหาที่ทำให้หลายประเทศเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ คือการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมจากการก่อสร้างเขื่อน โดยหวังเพียงไฟฟ้าราคาประหยัด เขื่อนราวร้อยละ 90 ที่ก่อสร้างเมื่อศตวรรษก่อนมีต้นทุนที่สูงมากกว่าที่เราเคยคาดไว้ เพราะเขื่อนดังกล่าวได้ทำร้ายระบบนิเวศแม่น้ำ ทำให้ประชากรนับล้านต้องย้ายที่อยู่อาศัย และปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากการย่อยสลายใต้พื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม
“เขาอาจวาดฝันสวยหรูถึงประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งอาจไม่ได้เป็นอย่างที่ฝันนัก ต้นทุนส่วนใหญ่ที่ถูกมองข้าม ท้ายที่สุดก็จะถูกถ่ายโอนมายังสังคมในภายหลัง” ศาสตราจารย์ Emilio Moran นักวิจัยหลักจาก Michigan State University ให้สัมภาษณ์กับ BBC News
งานวิจัยของเขายกตัวอย่างเขื่อน 2 แห่งที่ถูกก่อสร้างเหนือแม่น้ำ Madeira ในประเทศบราซิล ที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้เพียงส่วนเสี้ยวเดียวจากที่คาดหวังไว้เนื่องจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนากำลังเดินหน้าวางแผนและก่อสร้างเขื่อนทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เพิ่มอีกกว่า 3,700 แห่ง
นักวิจัยยังระบุเพิ่มเติมว่า เขื่อนขนาดใหญ่นั้นอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับที่ไม่สามารถฟื้นฟูได้ต่อแม่น้ำที่ถูกก่อสร้างทับ เช่น แม่น้ำคองโกที่มีโครงการ Grand Inga ซึ่งคาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ราว 1 ใน 3 ของไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ในแอฟริกา อย่างไรก็ดี เป้าหมายหลักของเขื่อนมูลค่ากว่า 80 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐคือการผลิตไฟฟ้าให้กับภาคอุตสาหกรรม
“ราวร้อยละ 90 ของพลังงานที่ผลิตได้จะถูกขายให้กับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในแอฟริกาใต้ ส่วนประชาชนชาวคองโกก็แทบจะไม่มีโอกาสได้ใช้ไฟฟ้า” ศาสตราจารย์ Emilio Moran กล่าว “ในประเทศบราซิล พวกเขาได้เห็นสายไฟฟ้าพาดผ่านเหนือหัวไปกว่า 4,000 กิโลเมตรเพื่อขายไฟฟ้านอกพื้นที่ โดยชาวชุนชนไม่มีโอกาสได้ใช้พลังงานเหล่านั้น เป้าหมายในการผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนในพื้นที่ชนบท ถูกเบียดบังจากผลประโยชน์ของบริษัทขนาดใหญ่ และรัฐบาลก็มักจะถูกแรงจูงใจโดยผลประโยชน์เหล่านั้น”
รายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า การก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนเหนือลำน้ำโขงจะทำลายแหล่งอาหาร โดยประชากรราว 60 ล้านชีวิตที่ต้องพึ่งพาลำน้ำเพื่อทำการประมง มีโอกาสได้รับผลกระทบต่อวิถีชีวิตอย่างมาก และอาจนำไปสู่การสูญเสียมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนักวิจัยคาดว่าการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวจะทำลายความหลากหลายทางชีวภาพไปหลายพันสปีชีส์
ประเทศบราซิลซึ่งผลิตไฟฟ้าราวร้อยละ 67 จากพลังงานน้ำ จัดการปัญหาปริมาณน้ำลดลงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการก่อสร้างเขื่อนเพิ่มเติม หลังจาก Jair Bolsonaro ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในบราซิล โครงการเขื่อนขนาดยักษ์ที่ถูกพับเก็บไว้ก็ถูกหยิบมาปัดฝุ่นอีกครั้ง โดยเตรียมเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนใหม่อีก 60 แห่ง
ผู้เขียนยังระบุอีกด้วยว่า แรงกดดันจากนานาชาติที่จะต้องพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ทำให้การเลือกแหล่งพลังงานหมุนเวียนหลายๆ แหล่ง โดยพลังงานน้ำเป็นส่วนหนึ่ง คือวิธีที่ยั่งยืนที่สุด
“เราสรุปสั้นๆ ง่ายๆ ว่า เขื่อนขนาดใหญ่ไม่มีอนาคต หากเรายังต้องการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อน ก็ควรเป็นแค่ส่วนหนึ่งของแหล่งพลังงานหมุนเวียนอีกหลายแหล่งเท่านั้น โดยเราควรลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล โดยอาจพิจาณาการลงทุนก่อสร้างเขื่อนตามความเหมาะสม โดยต้องก่อสร้างอย่างได้มาตรฐาน โดยที่ต้นทุนและผลประโยชน์โปร่งใสตรวจสอบได้”ศาสตราจารย์ Emilio Moran สรุป