เกรตแบร์ริเออร์รีฟกับวิกฤติฟอกขาวครั้งที่ 3 ในรอบห้าปี

เกรตแบร์ริเออร์รีฟกับวิกฤติฟอกขาวครั้งที่ 3 ในรอบห้าปี

หนึ่งใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกทางธรรมชาติกำลังเผชิญกับวิกฤติอีกครั้งโดยพบการฟอกขาวครั้งใหญ่เป็นรอบที่ 3 ในเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น

เกรตแบร์ริเออร์รีฟ คือแนวปะการังขนาดยักษ์ที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2,300 กิโลเมตร เป็นพื้นที่มรดกโลกที่ได้รับการยกย่องว่ามีคุณค่ามหาศาลทั้งในแง่วิทยาศาสตร์และคุณค่าทางธรรมชาติ

นักวิทยาศาสตร์ได้พบการฟอกขาวเป็นวงกว้าง โดยกินพื้นที่ซึ้งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการฟอกขาวในอดีต คาดว่าสาเหตุเกิดจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา และอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้เกิดความสูญเสียเป็นวงกว้างต่อแนวปะการัง อย่างไรก็ดี ยังพอมีบางพื้นที่ซึ่งปะการังยังคงแข็งแรงดี

แนวปะการังราว 2 ใน 3 ได้รับผลกระทบจากการฟอกขาวในลักษณะเดียวกันเมื่อ พ.ศ. 2559 และ 2560 ซึ่งมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากกิจกรรมของมนุษย์

ดร. เดวิด วอเชนเฟลด์ (Dr. David Wachenfeld) หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ประจำเขตอนุรักษ์ทางทะเลเกรตแบร์ริเออร์รีฟกล่าวว่า “สิ่งที่ผมหวาดกลัวที่สุดคือการที่ประชาชนสูญสิ้นความหวังในการฟื้นฟูแนวปะการัง หากเราไม่มีความหวังก็ย่อมไม่มีการแก้ไขปัญหา สาธารณชนต้องมองเหตุการณ์ฟอกขาวครั้งนี้ไม่ใช่ข่าวร้ายที่ซ้ำเติมภาวะที่เลวร้ายอยู่แล้ว แต่เป็นการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากเกรตแบร์ริเออร์รีฟเพื่อให้เราทำทุกอย่างที่เราจะทำได้” 

นักวิจัยได้สำรวจแนวปะการังก่อนการระบาดของโควิด-19 ไม่นาน โดยใช้อากาศยาน 11 ลำดำเนินการสำรวจทั้งสิ้น 9 วัน รวมถึงการสำรวจใต้น้ำเพื่อให้มั่นใจถึงความแม่นยำของภาพถ่ายทางอากาศ แผนที่ด้านล่างแสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ฟอกขาวครั้งใหญ่ทั้ง 3 ครั้งทั้ง พ.ศ. 2559 พ.ศ. 2560 และปีปัจจุบัน พื้นที่สีเขียวแสดงให้เห็นว่าแนวปะการังบริเวณนั้นรอดจากการฟอกขาว ส่วนพื้นที่สีแดงคือแนวปะการังที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง กล่าวคือปะการังอย่างน้อยร้อยละ 60 ฟอกขาว

 

 

เทอร์รี ฮิวจ์ (Terry Huges) ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อการศึกษาแนวปะการัง (Centre of Excellence for Coral Reef Studies) มหาวิทยาลัยเจมส์คุก (James Cook University) กล่าวต่อที่ประชุมสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งออสเตรเลียว่าหากระดับการฟอกขาวรุนแรงขึ้นเมื่อใด อัตราการตายของปะการังก็คาดว่าจะสูงขึ้น เขายังกล่าวถึงอัตราเร็วของการฟอกขาวที่น่าตื่นตระหนกและคาดว่าจะได้เห็นเหตุการณ์ฟอกขาวในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกหลายครั้งในอนาคต

“หนทางเดียวที่เราจะปกป้องอนาคตของแนวปะการังทั่วโลกคือลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก การฟอกขาวของแนวปะการังทั่วโลกมีขนาดมโหฬาร ซึ่งเราได้เผชิญกับวิกฤตินี้มาแล้วสามครั้ง นี่ไม่ใช่ปัญหาแค่เฉพาะประเทศออสเตรเลีย แต่เป็นปัญหาของอีกหลายประเทศซึ่งต้องพึ่งพาทรัพยากรจากแนวปะการัง แนวปะการังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางอาหารและวิถีชีวิตของประชากรนับล้านๆ โดยเฉพาะประชาชนในประเทศขนาดเล็กที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วซึ่งค่อนข้างยากจน”

องค์การสหประชาชาติได้เตือนว่าหากอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส จะส่งผลกระทบอย่างเลวร้ายต่อแนวปะการังทั่วโลก โดยคาดว่าแนวปะการังร้อยละ 90 จะหายไป ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญที่แต่ละประเทศทั่วโลกต้องมีบทบาทสำคัญในการทำตามเป้าหมายที่ให้ไว้ตามข้อตกลงปารีส เพื่อป้องกันไม่ให้อุณภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Great Barrier Reef endures third mass bleaching in five years
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์