ที่ผ่านมา – เราเคยเข้าใจว่าช้างในยุคสมัยปัจจุบันมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ ช้างเอเชียกับช้างแอฟริกา
แต่หลักฐานความเป็นจริงในตอนนี้ พบว่า จริงๆ แล้วมีช้างอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 สายพันธุ์ โดยเพิ่มช้างสะวันนาแอฟริกาเข้ามาอยู่สารบบด้วยอีกหนึ่ง
เช่นเดียวกันกับเรื่องของช้าง – ตามข้อมูลเดิมที่ระบุว่าป่าฝนอินโดนีเซียมีอุรังอุตังอยู่ 2 สายพันธุ์ อันได้แก่ อุรังอุตังสุมาตรา และอุรังอุตังบอร์เนียว
ปัจจุบัน สายพันธุ์ของอุรังอุตังถูกปรับใหม่เป็น 3 สายพันธุ์ มีอุรังอุตังตาปานูลี เพิ่มเข้ามาอีกหนึ่ง
และเขาก็คือพระเอกของเราในเรื่องราวบทนี้
อุรังอุตังตาปานูลี ได้รับการแยกสายพันธุ์ออกจากอุรังอุตังสุมาตราและอุรังอุตังบอร์เนียว เมื่อปี 2018
ตามรายงานอธิบายว่า เรารู้จักอุรังอุตังตาปานูลีมาตั้งแต่ปี 1997 แต่นักวิทยาศาสตร์ในตอนนั้นยังไม่มีใครยอมรับว่าเป็นอุรังอุตังสายพันธุ์ใหม่ เพราะยังมองไม่เห็นความต่างจากสายพันธุ์ที่มีอยู่เดิม
กว่าเราจะมาถึงบางอ้อ ก็ปาเข้าไปในปี 2013 จากการตรวจสอบโครงกระดูกของอุรังอุตังตัวโตเต็มวัยที่ถูกล่า จึงทำให้ทราบว่าลักษณะของฟันและกะโหลกศีรษะของอุรังอุตังตาปานูลีมีเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างจากอุรังอุตังสายพันธุ์เดิมที่รู้จักกัน
แต่กว่าจะมีรายงาน และออกประกาศอย่างเป็นทางการก็ปาเข้าไปอีก 5 ปีให้หลัง
อันเป็นห้วงเวลาแสนจวนเจียนอันเกือบจะสายเกินกาล
เนื่องจากในปัจจุบัน อุรังอุตังตาปานูลีถูกจัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในขั้นวิกฤต (CR – Critically endangered species)
คาดว่าในป่าธรรมชาติมีเหลืออยู่ราวๆ 800 ตัว หรือน้อยกว่านั้น
ซึ่งดังที่พอจะทราบกันมาบ้างว่าป่าฝนของประเทศอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ถูกทำลายหนักมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
การตัดป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทำสวนปาล์ม เหล่านี้ คือภัยคุกคามถิ่นที่อยู่อาศัยของอุรังอุตังตาปานูลี และสัตว์ป่าชนิดต่างๆ
ในปี 2020 ที่ผ่านมา อินโดนีเซียเสียป่าสมบูรณ์ไปอีก 270,057 เฮกตาร์ สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก
ที่อยู่อาศัยของอุรังอุตังตาปานูลีจึงเหลืออยู่ไม่มากนัก – ประมาณกันว่าพื้นที่เหมาะสมสำหรับอุรังอุตังตาปานูลี น่าจะเหลืออยู่ราว 2.7% ของผืนป่าทั้งหมด – อันหมายความถึงเป็นถิ่นที่อยู่ที่ปลอดภัย และไม่ต้องแก่งแย่งทรัพยากรกับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น
แต่นั่นก็ยังไม่ใช่เรื่องการันตีว่าอุรังอุตังตาปานูลีจะอยู่รอดปลอดภัยได้อีกยาวนาน
ความที่ชุมชนถูกลดขนาดให้เล็กลงแล้ว อุรังอุตังตาปานูลียังต้องเผชิญกับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนพลังน้ำกลางชุมชน (หรือผืนป่า) ที่ไปหั่นซอยในชุมชนของอุรังอุตังต้องถูกแบ่งแยกกระจัดกระจายกันออกไปเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยเข้าไปอีก
กลายเป็นการแบ่งแยกกลุ่มประชากรให้เล็กลง ทำให้ประชากรอุรังอุตังตาปานูลีต้องอยู่อย่างกระจัดกระจายเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย
อันหมายถึงเหตุที่นำไปสู่การผสมพันธุ์ในกลุ่มเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนพันธุกรรมขาดความแข็งแกร่ง กลายเป็นอุรังอุตังอ่อนแอ เอาตัวไม่รอดในอนาคต
ปัจจุบัน เขื่อนดังกล่าวยังสร้างไม่เสร็จ และนักอนุรักษ์ก็พยายามคัดค้านการก่อสร้างอย่างถึงที่สุด เพื่อคุ้มครองระบบนิเวศไม่ให้ถูกทำลายไปมากกว่านี้ – และเพื่อให้อุรังอุตังตาปานูลียังพอมีโอกาสไปมาหาสู่ข้ามกลุ่มกันได้บ้าง
เป็นโชคดีเล็กน้อย ที่ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการระบาดของโควิด-19 ทำให้แหล่งทุนผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนพลังงานน้ำ (กลางป่า) อย่างประเทศจีนยุติเงินสนับสนุนชั่วคราว การก่อสร้างจึงถูกชะลอออกไปก่อน – ช่วยยืดระยะลมหายใจให้กับอุรังอุตังตาปานูลีได้อีกเปราะหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการชะลอ หาใช่ยุติหรือยกเลิก อย่างไรเสีย การสร้างเขื่อนก็จะดำเนินต่อไปในที่สุด
และหมายถึงการทำลายบ้านและเส้นทางไปมาหาสู่กันของอุรังอุตังตาปานูลีอย่างเบ็ดเสร็จในอนาคต
นอกจากนี้ อุรังอุตังตาปานูลียังมีชะตากรรมไม่ต่างจากอุรังอุตังสุมาตรา และอุรังอุตังบอร์เนียว ที่ถูกล่าเอาไปขาย
นักอนุรักษ์ที่ทำงานในพื้นที่ สรุปข้อมูลเชิงสถิติได้ความว่า ในหนึ่งปีจะมีอุรังอุตังตาปานูลี จำนวน 1% (ของ 800 ตัวที่เหลืออยู่) ถูกล่าหรือถูกจับเอาไปขายส่งยังกลุ่มบุคคลที่ต้องการ อาทิ ธุรกิจสวนสัตว์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ตามรายงานของนักอนุรักษ์ที่คาดการณ์จากสถิติพื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย แหล่งที่อยู่อาศัยที่ถูกคุกคามเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการล่าที่ยังเกิดขึ้นทุกๆ ปี ทำให้ได้ข้อสรุปอันแสนน่าเศร้าว่า…
อุรังอุตังตาปานูลี อาจเป็นลิงใหญ่สายพันธุ์แรก ที่จะสูญพันธุ์ในช่วงชีวิตของเรา
ผู้เขียน
โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน