มากกว่า 3,500 ล้านปีแล้ว ที่สิ่งมีชีวิตได้เจริญเติบโต เพิ่มจำนวน และเพิ่มความหลากหลาย เพื่อที่จะใช้ชีวิตอยู่ในทุกระบบนิเวศของโลกใบนี้ อีกด้านหนึ่งของการเพิ่มความหลากหลายของสายพันธุ์ก็คือการสูญพันธุ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมดุลในการวิวัฒนาการเสมอมา แต่ในบางครั้งการเกิดใหม่ และการสูญพันธุ์ก็ไม่ได้อยู่ในสมดุลเสมอไป ถ้ามีอัตราการสูญพันธุ์เร็วกว่าการเกิดใหม่อย่างเห็นได้ชัด เราจะเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “การสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่”
นิยามของการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่มักจะถูกกำหนดว่าจะต้องมีการสูญเสียของสายพันธุ์เกิดขึ้นประมาณสามในสี่ส่วนของสายพันธุ์ทั้งหมดทั่วโลก ภายในช่วงเวลาทางธรณีวิทยาอันสั้น (สั้นกว่า 2,800,000 ปี)
นับตั้งแต่ยุคแคมเบรียนซึ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 540 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ความหลากหลายทางชีวภาพได้กระจายออกมาในรูปต่าง ๆ มากมาย มีเหตุการณ์การสูญพันธุ์อยู่ 5 ครั้ง ที่เข้ากับคำนิยามว่าเป็นการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่
เหตุการณ์ 5 ครั้งนี้ถูกเรียกว่า “Big Five” ซึ่งได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อตรวจสอบว่ามนุษย์นั้นกำลังทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่อยู่หรือไม่
The Big Five
การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ทั้ง 5 ครั้งก่อนหน้านี้ เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยทุก ๆ 100 ล้านปีนับตั้งแต่ยุคแคมเบรียน ถึงแม้ว่าจะไม่มีรูปแบบทางช่วงเวลาการเกิดที่สามารถตรวจพบ แต่ละเหตุการณ์เกิดขึ้นใช้เวลาประมาณ 50,000 ถึง 2,760,000 ปี
การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ครั้งที่ 1 เกิดขึ้นหลังจากยุคออโดวิเชียน (ประมาณ 443 ล้านปีก่อน) ซึ่งได้กวาดล้างไปมากกว่า 85% ของสายพันธุ์ทั้งหมดบนโลก เหตุการณ์นี้เหมือนจะเป็นผลมาจากปรากฎการณ์ทางสภาพภูมิอากาศ คือ การที่โลกได้เข้าสู่ยุคน้ำแข็ง และหลังจากนั้นก็ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว
การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในช่วงท้ายของยุคดีโวเนียน (ประมาณ 374 ล้านปีก่อน) ได้กวาดล้างไปประมาณ 75% ของสายพันธุ์ทั้งหมดบนโลก ซึ่งส่วนใหญ่นั้นเป็นพวกสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่ตามพื้นทะเลเขตร้อนในเวลานั้น ลักษณะเด่นในช่วงเวลานี้คือมีความสูงของระดับน้ำทะเลค่อนข้างมาก มีความต่างของอุณหภูมิในแต่ละวันค่อนข้างสูง ต้นไม้เริ่มเข้ายืดพื้นที่ส่วนใหญ่บนแผ่นดินระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงเริ่มที่จะลดลง และระดับออกซิเจนที่ต่ำเริ่มที่จะเพิ่มขึ้น
การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ครั้งที่ 3
นับเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในช่วงของยุคเพอร์เมียน (ประมาณ 250 ล้านปีก่อน) ซึ่งได้กวาดล้างไปมากกว่า 95% ของสิ่งมีชีวิตในช่วงเวลานั้น บางทฤษฎีบอกว่าเหตุการณ์นี้เป็นผลมาจากอุกกาบาตที่ชนโลกซึ่งทำให้อากาศเต็มไปด้วยก๊าซพิษ ทำให้เกิดสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินชีวิตของหลายสายพันธุ์ อีกทั้งยังบดบังแสงอาทิตย์ และทำให้เกิดฝนกรด ส่วนทฤษฎีอื่น ๆ ที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เช่น ทฤษฎีที่ว่าภูเขาไฟขนาดใหญ่ในไซบีเรีย (ทางตะวันออกของรัสเซีย) ทฤษฎีที่น้ำทะเลได้รับการปนเปื้อนจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ และทฤษฎีการแพร่กระจายของน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำในมหาสมุทร
50 ล้านปีต่อจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่แห่งยุคเพอร์เมียน ประมาณ 80% ของสิ่งมีชีวิตบนโลกได้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ไปอีกครั้งในช่วงของยุคไทรแอสซิก ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาอย่างรุนแรง ในจุดที่ปัจจุบันเป็นมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งทำให้ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น อุณหภูมิโลกก็เพิ่มขึ้นตาม และทำให้เกิดทะเลกรดด้วย
ท้ายสุดซึ่งน่าจะเป็นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่โด่งดังที่สุด เกิดขึ้นในยุคครีเทเชียสโดยมีการสูญพันธุ์เกิดขึ้นประมาณ 76% ของสายพันธุ์บนโลก การตายของสุดยอดสัตว์นักล่าในยุคนั้นอย่างไดโนเสาร์ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีโอกาศที่จะขยายพันธุ์ และแพร่กระจายครอบครองถิ่นที่อยู่ต่าง ๆ จนกระทั่งได้วิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์ในทุกวันนี้ ส่วนสาเหตุที่เป็นไปได้มากที่สุด 2 อย่างของการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ครั้งนี้ คือการพุ่งชนของอุกกาบาตในพื้นที่ที่ราบสูงยูกาตัน ประเทศเม็กซิโกในปัจจุบัน และการปะทุครั้งใหญ่ของภูเขาไฟในพื้นที่ที่ราบสูงเดกกัน ประเทศอินเดียในปัจจุบัน หรืออาจจะทั้งอุกกาบาตชนโลก และภูเขาไฟระเบิดรวมกันเป็นสาเหตุ
ตอนนี้เรากำลังเจอการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 รึเปล่า ?
โลกในปัจจุบันก็กำลังมีปัญหาเรื่องการสูญพันธุ์ของสายพันธุ์ต่าง ๆ เพราะการสนองตัณหาของมนุษย์แต่สิ่งนี้ถือว่าเป็นการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าอัตราการสูญพันธุ์ของวันนี้มากกว่าอัตราการสูญพันธุ์ในสภาพปกติ หรืออัตราการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่หรือไม่
อัตราการสูญพันธุ์ในสภาพปกตินั้นจะแสดงให้เห็นว่าสายพันธุ์ต่าง ๆ นั้นจะหายไปเร็วขนาดไหนโดยไม่ได้มีการรบกวนของกิจกรรมจากมนุษย์ โดยจะวัดจากซากดึกดำบรรพ์เพื่อนับจำนวนของสายพันธุ์ที่เสียชีวิตระหว่างช่วงของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่
จากการศึกษาซากดึกดำบรรพ์ อัตราการสูญพันธุ์ในสภาพปกติโดยเฉลี่ยมีค่า 1 ล้านปีต่อสายพันธุ์ หรือถ้าพูดง่าย ๆ คือสายพันธุ์หนึ่ง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกนั้นจะอยู่ไปได้ 1 ล้านปี แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้มีความแน่นอนในทุก ๆ สายพันธุ์ อัตราการสูญพันธุ์ของแต่ละสายพันธุ์มีค่าอยู่ในช่วง 1 แสน ถึง 2 ล้านปี การจะวัดค่าอัตราการสูญพันธุ์ในเวลาต่าง ๆ อย่างแม่นยำนั้นเป็นเรื่องที่ยาก จึงทำให้การตีความว่าพวกเรากำลังอยู่ในยุคการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6 อาจจะยังไม่หนักแน่นพอที่จะทำให้ผู้คนเชื่อ เพราะต้องอาศัยการเปรียบเทียบอัตราการสูญพันธุ์ในปัจจุบันกับอัตราการสูญพันธุ์ครั้งก่อน ๆ
แตกต่างจากการศูนย์พันธุ์ครั้งก่อน ๆ การศูนย์พันธุ์ในปัจจุบันนั้นถูกผลักดันมากโดยผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ทั้งทางตรง และทางอ้อม เช่น การขยายถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ทำให้สิ่งมีชีวิตอื่นมีที่อยู่น้อยลง การจับปลามากเกินไป การปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม และการทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น
ถ้าเราใช้วิธีการแบบเดิมในการประมาณอัตราการสูญพันธุ์ในปัจจุบัน เราจะได้ค่าที่สูงมาก สูงกว่าค่าอัตราการสูญพันธุ์ในสภาพปกติ 10-10,000 เท่า จำนวนสายพันธุ์ที่ได้สูญพันธุ์ไปในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาใช้เวลาอยู่บนโลกนี้เพียงแค่ 800-10,000 ปี อย่างน้อยสิ่ง ๆ นี้ก็ได้สนับสนุนว่าตอนนี้เรากำลังเผชิญกับอัตราการสูญพันธุ์ที่สูงกว่าค่าอัตราการสูญพันธุ์ในสภาพปกติอย่างแน่นอน
มันจะต้องใช้เวลานานหลายล้านปีกว่าที่จะกลับมามีความหลากหลายทางชีววิทยา เพื่อที่จะฟื้ฟูสายพันธุ์ต่าง ๆ บนโลกที่มนุษย์เข้ามาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เฉพาะสัตว์มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินมี 332 สายพันธุ์ได้สูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ.1500 นั้นประมาณ 3 สายพันธุ์ ในเวลาเพียง 5 ปี
การสูญพันธุ์นั้นเกิดมาจากการลดลงของจำนวนประชากร และความหลากหลายของสายพันธุ์ จากจำนวนสายพันธุ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่ลดจำนวนลงตามที่ระบุไว้ใน IUCN’s Red List 32% ของสายพันธุ์ทั้งหมดที่รู้จักบนโลกนี้กำลังมีจำนวนลดลง และโลกได้สูญเสียประชากรของสัตว์มีกระดูกสันหลังไปแล้วกว่า 60% นับจากปี ค.ศ.1970
ออสเตรเลียนั้นเป็นหนึ่งในทวีปที่มีการสูญพันธุ์มากกว่าที่ไหน ๆ โดยมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลังได้สูญพันธุ์ไปแล้ว นับตั้งแต่มนุษย์ได้เริ่มย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่นี่เมื่อประมาณ 50 ปีก่อน และยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบันนี้ออสเตรเลียมีจำนวนสัตว์มากกว่า 300 สายพันธุ์ และพืชอีกกว่า 1000 สายพันธุ์ กำลังถูกคุกคาม และใกล้จะสูญพันธุ์
ถึงตอนนี้นักชีววิทยาก็ยังเถียงกันว่าอัตราการสูญพันธุ์ในปัจจุบันนั้นเกินอัตราการสูญพันธุ์ในสภาพปกติไปมากหรือยัง ที่น่าตกใจคือการศึกษาบางชิ้นได้เผยให้เห็นว่าอัตรามันถึงขั้นจะเป็นการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ไปแล้ว
ในงานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทุกวันนี้ที่มีผลกระทบมาจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติในปริมาณมาก ส่งผลให้เกิดความเครียดที่ผิดปกติต่อระบบนิเวศ สิ่งเหล่านี้รวม ๆ กันช่วยสนับสนุนให้การสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ครั้งที่ 6 นั้นดำเนินไปได้อย่างราบรื่น