สีสันของปลาสำคัญอย่างไร ในวันที่อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มขึ้น

สีสันของปลาสำคัญอย่างไร ในวันที่อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มขึ้น

เมื่อ Eleanor Caves นักชีววิทยาทางทะเลจาก University of Exeter คิดย้อนกลับไปถึงการดำน้ำครั้งแรก สิ่งที่เธอนึกถึงคือการเห็นสีที่แปลกแปร่งใต้น้ำ สีแดง ส้ม ม่วง และเหลืองที่สดใสเมื่อต้องแสงแดดกลับดูทึมเทาเมื่ออยู่ในท้องทะเลที่ลึกขึ้น เมื่อดำลึกลงไป ท้องทะเลก็ปราศจากสีสันของสายรุ้งเหลือเพียงเงาสีน้ำเงินทะมึน

ความทรงจำนี้เองที่ทำให้เธอสงสัยว่าการขยับย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่ที่ลึกขึ้นของปลาเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นจะส่งผลอย่างไร การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าปลาบางชนิดพันธ์ทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ย้ายที่อาศัยลงไปใต้น้ำลึกขึ้นมากกว่า 1 เมตรในแต่ละปี ระหว่าง พ.. 2511 ถึง พ.. 2541 ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำเพียง 1 องศาเซลเซียส

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลต่อปลาที่ต้องอาศัยสีสันในการเอาชีวิตรอดหรือไม่?

การศึกษาในอดีตพบว่าอาจมีผลกระทบ นักวิทยาศาสตร์มีหลักฐานว่าปลาจะเผชิญกับความยากลำบากเพื่อแยกแยะสีสันในน้ำที่ขุ่นเนื่องจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การพังทลายของตลิ่งหรือการชะล้างหน้าดิน เช่น การศึกษาปลาเหล็กใน (three-spined sticklebacks) ซึ่งเติบโตในพื้นที่ชายฝั่งน้ำตื้นของทะเลบอลติก ซึ่งปลาเพศเมียจะเลือกคู่ซึ่งจะเป็นผู้ดูแลในช่วงวางไข่โดยอ้างอิงจากสีแดงบริเวณปากและท้อง แต่ปรากฎการณ์ขยายพันธ์ของสาหร่ายเซลล์เดียวทำให้น้ำขุ่นและมองเห็นสีได้อย่างยากลำบาก ทำให้ปลาเพศเมียเลือกผสมพันธุ์กับตัวผู้ที่ไม่เหมาะสม ส่งผลต่ออัตราการอยู่รอดของลูกปลา

น้ำที่ขุ่นจะทำให้ตัวผู้หมดโอกาสแสดงให้เห็นถึงความเหมาะสมที่จะเป็นคู่ผสมพันธุ์ เพราะตัวเมียจะไม่สามารถแยกแยะความเข้มของสีแดงหรือสีส้มได้ Sönke Johnsen อาจารย์ด้านชีววิทยาจาก Duke University กล่าว

การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งพบว่า ปลาหมอสีในทะเลสาบวิคตอเรียนของแอฟริกา ซึ่งต้องพึ่งพาสีสันในการแยกแยะปลาแต่ละชนิดพันธุ์ เมื่อต้องเจอกับมลภาวะจนน้ำขุ่นก็ทำให้มันไม่สามารถแยกแยะปลาแต่ละชนิดออกจากกัน และเกิดการผสมแบบข้ามพันธุ์

นักวิจัยยังพบอีกว่า การสื่อสารด้วยสีที่พังทลายเนื่องจากน้ำขุ่นนั้นยังมีแนวโน้มว่าจะเกิดกับชนิดพันธุ์ที่ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานลงไปในบริเวณที่ลึกขึ้น ปัญหาน้ำขุ่นไม่ได้เป็นอุปสรรคในการจับคู่ผสมพันธุ์เท่านั้น แต่ยังทำให้ปลาไม่สามารถล่าเหยื่อ ระบุตัวคู่แข่ง หรือข่มขู่สัตว์นักล่าว่าพวกมันเป็นอันตรายและไม่น่ารับประทาน

การศึกษาล่าสุดที่เผยแพร่ในวารสาร Proceedings of the Royal Society B เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา Caves และ Johnsen ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อประเมินว่าสีของปลาใต้น้ำจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร หลังจากที่ย้ายจากผิวน้ำไปสู่บริเวณที่ลึกขึ้น แบบจำลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ณ ระดับความลึก 30 เมตร สีสันที่เคยสดสวยบนผิวน้ำก็แทบจะเหลือเพียงภาพคล้ายทีวีขาวดำ

เมื่อแสงอาทิตย์กระทบกับวัตถุ มันจะดูดซับคลื่นบางความถี่และสะท้อนส่วนที่เหลือออก ทำให้ปลาสีแดงมองเห็นเป็นสีแดง ปลาสีน้ำเงินมองเห็นเป็นสีน้ำเงิน แต่สีสันเหล่านั้นจะแปลงแปร่งไปเมื่อปลาว่ายลงลึกขึ้น เนื่องจากน้ำจะค่อยๆ กรองคลื่นแสงออกไปจนแทบไม่เหลือ

นักวิจัยยังเจอกับข้อค้นพบที่น่าประหลาดใจ โดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่อาศัยในน้ำตื้นหรือบริเวณปะการัง เพียงขยับลึกลงไปไม่มากนักก็จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสีที่สังเกตุได้

ในน้ำทะเลที่ใสสะอาด สีแดงจะเป็นสีแรกที่เริ่มหม่นลงและค่อยๆ หายไปเมื่อระดับความลึกมากขึ้นนี่คือเรื่องที่สำคัญมากเพราะปลาหลายชนิดพันธุ์ต้องพึ่งพาสีแดงในการผสมพันธุ์รวมถึงการแสดงว่าตนอันตรายเพื่อไล่ศัตรู” Johnsen กล่าว

ทีมวิจัยคาดว่าปลาบางชนิดพันธุ์จะเปราะบางกว่าชนิดพันธุ์อื่น เช่น ปลาที่ไม่สามารถทนความร้อนได้และจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายถิ่นอาศัยให้เข้าใกล้ขั้วโลกมากขึ้น แต่ปลาบางชนิดไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เนื่องจากอาศัยในพื้นที่กึ่งปิดหรือในแนวปะการังทำให้ปลาเหล่านั้นไม่มีทางเลือกนอกจากดำดิ่งลงไปในลึกขึ้น

ปัญหานี้มีแต่จะรุนแรงยิ่งขึ้น” Caves กล่าว โดยในสิ้นศตวรรษนี้ มีความเป็นไปได้ว่าอุณหภูมิที่พื้นผิวมหาสมุทรจะเพิ่มขึ้นถึง 4.8 องศาเซลเซียสหากเทียบกับศตวรรษที่ผ่านมา

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Warming seas might also look less colorful to some fish: Here’s why that matters

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก