สิงคโปร์ได้ประกาศจะจัดเก็บภาษีคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2562 โดยตั้งราคาไว้ที่ระหว่างตันละ 7 ถึง 14 ดอลลาร์สหรัฐ
Heng Swee Keat รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ได้ประกาศแผนที่จะบังคับใช้กฎหมายภาษีคาร์บอนครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี พ.ศ. 2562 โดยจะครอบคลุมโรงกลั่นน้ำมันในสิงคโปร์ และแน่นอนว่าจะสร้างแรงกดดันต่อบริษัทโรงกลั่นข้ามชาติที่ดำเนินการในสิงคโปร์ ประเทศที่มีโรงกลั่นเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย
โครงการดังกล่าวจะตั้งราคาคาร์บอนไว้ที่ตันละ 7 ถึง 14 ดอลลาร์สหรัฐ โดยจะส่งผลกระทบต่อผู้ปล่อยมลภาวะยักษ์ใหญ่กว่า 30 แห่ง
บริษัท Exxon Mobil ซึ่งดำเนินการโรงกลั่นในสิงคโปร์แสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า บริษัทได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลสิงคโปร์เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความเสี่ยงจากแก๊สเรือนกระจก และการสร้างการเติบโตทางธุรกิจที่เข้มแข็ง ส่วนบริษัท Shell ก็แสดงจุดยืนสนับสนุนการเก็บภาษีคาร์บอนของรัฐบาลเช่นเดียวกัน แต่ย้ำว่า “นโยบายดังกล่าวจะต้องทำให้บริษัทสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้ระบุว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวมีแนวโน้มจะทำให้ราคาพลังงานในประเทศสูงขึ้นประมาณ 2 ถึง 4 เปอร์เซ็นต์ แต่ Heng Swee Keat มองว่า การจัดเก็บภาษีดังกล่าวเป็นนโยบายที่ยุติธรรมที่สุด และมีประสิทธิภาพที่สุดในการจัดการการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก โดยเขาเคยกล่าวในการแถลงงบประมาณประจำปีว่า
“ทางเลือกที่มีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและยุติธรรมที่สุดในการลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกคือการจัดเก็บภาษีคาร์บอน เนื่องจากกลไกราคาจะทำให้ผู้ปล่อยคาร์บอนรายใหญ่ดำเนินการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก อีกส่วนที่สำคัญคือสิงคโปร์เป็นประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงจำเป็นต้องร่วมมือกับนานาประเทศ และทำหน้าที่ในส่วนของเราเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม”
ภายใต้ข้อตกลงปารีส สิงคโปร์ตั้งเป้าว่าจะดลการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกอย่างเข้มข้น โดยคำนวณจากสัดส่วนของการปล่อยแก๊สเรือนกระจกต่อรายได้หนึ่งดอลลาร์ของ GDP ที่จะต้องลดลงอย่างน้อยร้อยละ 36 เทียบกับ พ.ศ. 2548 ภายในปี พ.ศ. 2573
กฎหมายภาษีที่กำลังจะบังคับใช้กับการปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงแก๊สเรือนกระจกอีก 5 ชนิด อาทิ แก๊สมีเทน และ ไฮโดรฟลูโอโรคาร์บอน (HFCs) ซึ่งรายได้ที่จัดเก็บได้ จะนำไปใช้สนับสนุนมาตรการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกของอุตสาหกรรม
Isabella Loh ประธานสภาสิ่งแวดล้อมสิงคโปร์กล่าวว่า “นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สิงคโปร์ที่งบประมาณจำนวนมากถูกปันส่วนไปเพื่อโครงการริเริ่มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งสอดคล้องกับรายได้ทางภาษี”
ในมุมมองของ Heng Swee Keat การส่งสัญญาณดังกล่าวจะเร่ง “สร้างโอกาสใหม่ในการเติบโตของอุตสาหกรรม เช่น พลังงานสะอาด”