António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติแถลงว่า โลกของเรากำลังอยู่ในภาวะอันตราย เนื่องจากรัฐบาลทั่วโลกต่างล้มเหลวที่จะบรรลุเป้าหมายการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เขาอธิบายว่า ปีนี้จะเป็นปีสำคัญที่ตัดสินว่าเราจะทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้หรือไม่ การแถลงครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังการเผยแพร่รายงานของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UN Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ที่วิเคราะห์แผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ของ 75 ประเทศ ที่ส่งเข้ามาเพิ่มเติมก่อนการประชุม COP26 โดยพบข้อสรุปว่า นโยบายเหล่านี้แทบไม่ได้เข้าใกล้เป้าหมายตามข้อตกลงปารีส
ภายใต้ข้อตกลงปารีสเมื่อ พ.ศ. 2558 ประเทศที่ร่วมลงนามจะต้องลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อหยุดสภาวะโลกร้อนไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียส ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือ 1.5 องศาเซลเซียส (หากเป็นไปได้) ภายในสิ้นศตวรรษนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นักวิทยาศาสตร์ได้เตือนครั้งแล้วครั้งเล่าว่า การที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นมากกว่าระดับดังกล่าว จะนำไปสู่คลื่นความร้อนที่บ่อยครั้งในฤดูร้อน ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ภัยแล้งขั้นแลวร้าย และน้ำฝนที่มากผิดปกติ ไฟป่า อุทกภัย ซึ่งนำไปสู่การขาดแคลนอาหารของคนนับล้านชีวิต
ข้อมูลจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่าประชากรโลกจะต้องลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ราว 45 เปอร์เซ็นต์ภายใน พ.ศ. 2573 และปล่อยคาร์บอนสุทธิเท่ากับศูนย์ภายใน พ.ศ. 2593 เพื่อให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่เกินกรอบที่กำหนดไว้
แม้ว่าหลายประเทศจะแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่มากขึ้น แต่แผนลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ก็ยังคงไปไม่ถึงฝัน โดย UNFCCC ระบุว่าทุกประเทศจะต้องเพิ่มความเข้มข้นของนโยบาย รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้มากยิ่งขึ้น
โดยรายงานฉบับดังกล่าวซึ่งครอบคลุม 40 เปอร์เซ็นต์ของประเทศที่ลงนามในข้อตกลงปารีส และคิดเป็นการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ของโลก กลับลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกโดยรวมได้ราว 0.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2553
António Guterres เรียกร้องให้ประเทศที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากจะต้องพยายามให้มากขึ้น โดยใช้งบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 เพื่อนำไปเสริมโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“ผู้มีอำนาจตัดสินใจต้องเป็นคนที่ผลักดันนโยบายดังกล่าว คำสัญญาในระยะยาวจะต้องสอดคล้องกับการกระทำในปัจจุบัน เพื่อริเริ่มการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ที่อาจใช้เวลาร่วมทศวรรษ แต่เป็นความต้องการของประชาชน และความจำเป็นของโลกใบนี้” เขากล่าวเสริม
อย่างไรก็ดี รายงานฉบับนี้เป็นเพียง ‘ส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ภาพรวมทั้งหมด’ ของแผนที่เสนอโดยแต่ละประเทศ เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้กระบวนการทำงานต้องสะดุดหยุดลง โดย UNFCCC จะนำเสนอรายงานฉบับที่สองก่อนการประชุม COP26
ถอดความและเรียบเรียงจาก New climate pledges ‘far short’ of meeting Paris Agreement goals, UN warns โดย Eoin McSweeney และ Hannah Ritchie, CNN
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก