งานวิจัยชิ้นใหม่ระบุว่า ‘สมเสร็จ’ อาจเป็นสัตว์ที่ช่วยฟื้นป่าฝนที่ถูกมนุษย์คุกคามให้กลับคืนสภาพได้อีกครั้ง
งานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมของสมเสร็จในผืนป่าแอมะซอน ประเทศบราซิล ซึ่งทำให้นักวิจัยได้ทราบว่า ‘สมเสร็จ’ จะเข้าไปใช้ประโยชน์ในฟื้นที่ป่าที่ถูกไฟไหม้มากกว่าพื้นที่ป่าสมบูรณ์ และจะถ่ายมูลซึ่งประกอบด้วยเมล็ดพันธุ์จำนวนมากเอาไว้ในพื้นที่ดังกล่าว
“บทบาทที่สมเสร็จทำอยู่ คือการเพาะเมล็ดให้กับป่าที่เสื่อมโทรม มันคือเหตุผลที่ดีในการอนุรักษ์ตัวแทนของสัตว์ใหญ่แห่งอเมริกาใต้เอาไว้” Lucas Paolucci ผู้เขียนรายงานและนักนิเวศวิทยาของ Federal University of Lavras และสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมแอมะซอน กล่าวในการแถลงผลงานวิจัย
Lucas Paolucci และทีมงาน ได้รายงานการค้นพบของเขาลงในวารสาร Biotropica เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
‘สมเสร็จอเมริกาใต้’ หรือ ‘สมเสร็จบราซิลเลียน’ ถือเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในสถานะ สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU – Vulnerable species) ตามบัญชีแดงของ IUCN เพราะเป็นสัตว์ที่มีการสืบพันธุ์ช้า ถูกล่า และสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยจากการคุกคามของมนุษย์
ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มักศึกษาในเรื่อง ‘การกระจายเมล็ดพันธุ์’ ในพื้นที่ป่าสมบูรณ์ที่ไม่ถูกบุกรุก แต่สำหรับ Lucas Paolucci และทีมงาน สิ่งที่เขาสงสัยกลับเป็นเรื่องผลที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของสมเสร็จที่เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม
ในพื้นที่ทำการศึกษา รัฐ Mato Grosso ประเทศบราซิล ทีมวิจัยได้ทำการออกตามหามูลของสมเสร็จในผืนป่า 3 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งได้รับผลกระทบจากการบุกรุกที่ไม่เหมือนกัน ในแปลงวิจัยแห่งหนึ่งนักวิจัยได้ได้ทำการทดสอบด้วยการเผาพื้นที่แปลงทดลองเกือบทุกปี ตั้งแต่ ค.ศ. 2004 ถึง ค.ศ. 2010 ส่วนอีกแปลงได้ทำการทดลองเผาทุกๆ 3 ปี ส่วนพื้นที่ป่าแบบที่ 3 คงไว้ให้เป็นป่าแปลงสมบูรณ์ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการเผาป่าเลย
ผลที่ปรากฏออกมา ทีมวิจัยอธิบายว่า ‘สมเสร็จ’ จะทิ้งมูลจำนวนมากไว้ในพื้นที่ที่ถูกเผาเป็นประจำมากกว่าในพื้นที่ที่ไม่ถูกแตะต้องเลย
จากข้อมูลที่ปรากฏนักวิจัยให้เหตุผลว่า ต้นกล้าที่เติบโตขึ้นมาใหม่จากแปลงที่ถูกเผาจะสิ่งที่ช่วยดึงดูดให้สมเสร็จเข้ามาในพื้นที่
สมเสร็จได้นำเมล็ดพันธุ์ที่แตกต่างและหลากหลายเข้าไปในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเหล่านั้น ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า เมล็ดพันธุ์ที่สมเสร็จถ่ายออกมา 99% จากจำนวน 130,000 เมล็ด เป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ ไม่ได้รับความเสียหาย ซึ่งหมายความว่ามีศักยภาพในการเจริญงอกงามขึ้นมาทดแทนได้ และในการสำรวจนั้นยังค้นพบพืชพรรณในมูลสมเสร็จถึง 24 ชนิด ซึ่งเป็นส่วนในการสร้างความหลากหลายของพืชพรรณให้กับพื้นที่อีกด้วย
ทีมงานอธิบายว่า ข้อมูลของพวกเขาชี้ให้เห็นความสำคัญของสมเสร็จต่อการฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาสมบูรณ์ได้ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็น “วิธีที่ถูกและเป็นไปได้มากที่สุดในการฟื้นฟูป่าขนาดใหญ่” ทีมวิจัยเขียนไว้ในรายงาน
นอกจากนี้ พวกเขายังเสริมอีกว่า พฤติกรรมของสมเสร็จคือเครื่องมือต่อกรกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“เมื่อเราพูดถึงการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราอาจจะไม่นึกถึงสมเสร็จเป็นอย่างแรก” Paulo Brando หนึ่งในทีมงานผู้ศึกษากล่าวในงานแถลงผลการวิจัย “แต่การศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า พวกเขามีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูป่า โดยการกระจายเมล็ดพันธุ์ที่จะเติบใหญ่กลายเป็นต้นไม้ ซึ่งในที่สุดมันหมายความว่า ‘สมเสร็จ’ มีส่วนร่วมกักเก็บปริมาณคาร์บอนให้แก่ผืนป่าในทางอ้อม”