‘เสือโคร่ง’ เคยท่องไปในป่าทั่วโลกอย่างอิสระ แต่ในปัจจุบันพวกเราต่างรู้ดีว่า เสือโคร่งทั่วโลกกำลังถูกคุกคามโดยนักล่าที่อันตรายที่สุดอย่างมนุษย์
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรารับรู้ถึงการสูญพันธุ์ไปแล้วของเสือโคร่งสองสายพันธุ์ย่อย คือ เสือโคร่งบาหลี (สูญพันธุ์ในช่วงปี 1930) และเสือโคร่งชวา (สูญพันธุ์ในช่วงปี 1980) ส่วนสายพันธุ์อื่นๆ ที่ยังเหลืออยู่ก็อาจมีชะตากรรมที่ไม่ต่างกัน แต่สำหรับบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะเรื่องราว เสือโคร่งอินโดจีน
‘เสือโคร่งอินโดจีน’ เคยกระจายตัวอยู่ทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ในประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย แต่เนื่องจากการพัฒนาหลายๆ ด้านทางสังคม เศรษฐกิจมานานับทศวรรษ เช่น การสร้างถนนไปสู่ถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง ทำให้จำนวนประชากรของพวกมันลดลงอย่างเห็นได้ชัด
วันนี้ที่ประเทศเวียดนามและกัมพูชาไม่อาจพบเห็นเสือโคร่งได้อีก เพราะพวกมันได้สูญพันธุ์ไปจากป่าธรรมชาติของทั้งสองประเทศแล้ว ส่วนประเทศลาวและพม่าพอมีประชากรหลงเหลืออยู่บ้าง สามารถอ้างอิงจากรายงานของ International Tiger Forum 2010 ซึ่งระบุว่า ลาวมีจำนวนประชากรเสือโคร่งเหลืออยู่ 23 ตัว ส่วนประเทศพม่ามีจำนวนสูงสุดอยู่ที่ 85 ตัว แต่นั่นก็คือข้อมูลเก่าเมื่อ 9 ปีมาแล้ว
ประเทศไทยคือสถานที่หลบภัย
ย้อนกลับไปปี 2560 ประเทศไทยได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ในสวนสัตว์ได้เอาไม้เหย่เสือให้คำรามเพื่อให้ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพ แต่อย่างไรก็ตามความหวังในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งก็ยังคงมาจากเมืองแห่งรอยยิ้มอยู่ดี
ประเทศไทยเพิ่งจัดตั้ง ศูนย์ฝึกอบรมการอนุรักษ์เสือโคร่งระดับภูมิภาค ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่นั่นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจะได้รับการฝึกฝนในงานเฝ้าระวังภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นต่อประชากรเสือโคร่ง รวมถึงสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่เป็นเหยื่อ เช่น กระทิง เก้ง กวาง ซึ่งกำลังถูกคุกคามจากการล่าเช่นเดียวกัน
ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Society (WCS) ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านเสือโคร่งของไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีเสือโคร่งอินโดจีนในประเทศไทยอยู่ประมาณ 160 ตัว (จากแหล่งข่าวอื่นใช้ว่ามีประมาณ 150 ถึง 200 ตัว – ผู้แปล)
“กลุ่มป่าตะวันตกเป็นความหวังอันยิ่งใหญ่ที่สุดในการรักษาประชากรเสือโคร่งของเรา” เขากล่าว โดยมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติจากองค์การยูเนสโก ที่นี่ (ป่าตะวันตก) มีเสือโคร่งอนู่ประมาณ 100-120 ตัว และในทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง มีอยู่ประมาณ 80 ตัว
ภัยคุกคาม
มีการประเมินว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2543 ถึง เดือนธันวาคม 2558 มีเสือโคร่งอย่างน้อย 1,755 ตัว และอาจมากถึง 2,011 ตัวถูกล่า ตัวเลขนี้มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลเสือที่ถูกยึดเป็นของกลาง ทั้งที่ยังมีชีวิตและตายแล้ว รวมถึงที่เป็นชิ้นส่วนอวัยวะ
รายงานนี้จัดทำโดย Traffic องค์กรเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่า รวบรวมข้อมูลอ้างอิงจากรายงานจำนวน 801 ชิ้น ของการจับกุมใน 13 ประเทศที่ยังมีเสือโคร่งอาศัยอยู่ในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย ลาว ไทย เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย บังคลาเทศ ภูฏาน จัน อินเดีย เนปาล และรัสเซีย
จากรายงานสามารถสรุปได้ว่า ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยใน 1 ปี จะมีเสือโคร่งอย่างน้อย 110 ตัวถูกตรวจยึดและมีรายงานการจับกุม 50 ครั้งต่อปี ขณะที่รายงานระหว่างปี 2551 ถึง 2554 เป็นช่วงที่มีการจับกุมมากที่สุด โดยประเทศอินเดียมีคดีเกี่ยวกับเสือโคร่งคิดเป็นร้อยละ 44 ของการจับกุมทั้งหมดในทุกประเทศ
และเมื่อปี 2559 เสือโคร่งในประเทศกัมพูชาก็ได้รับการประกาศให้อยู่ในสถานะ “ภาวะสูญพันธุ์โดยปริยาย” (functionally extinct) เพราะประชากรเหลือน้อยมากจนไม่อาจสืบพันธุ์ได้ตามธรรมชาติ
จากรายงานของกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ระบุว่า จำนวนประชากรของเสือโคร่งอินโดจีนลดต่ำลงอย่างน่าใจหาย เนื่องจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ เพราะการรุกล้ำถิ่นที่อยู่อาศัยโดยมนุษย์ และการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงความต้องการในเชิงพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นสำหรับเนื้อสัตว์ในร้านอาหาร
นอกจากนี้ เสือจากป่าจึงยังคงถูกล่าเพื่อสนองความต้องการในการนำชิ้นส่วนอวัยวะไปใช้ในการปรุงยาแผนโบราณและยาบำรุงกำลังแบบพื้นบ้าน
ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่างเป็นพื้นที่ที่มีประชากรเหยื่อของเสือโคร่งค่อนข้างน้อย เพราะมีการล่าสัตว์เป็นจำนวนมาก แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายต่อเรื่องนี้กลับไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร
กองทุนสัตว์ป่าโลก ได้ข้อสังเกตว่า แม้แหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งจะยังคงอุดมสมบูรณ์แต่ก็มีความเสี่ยงจากการทำการเกษตร การสัมปทานเหมืองแร่ การสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า สิ่งเหล่านี้กำลังขยายตัวไปสู่พื้นที่ป่าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการก่อสร้างถนนซึ่งเป็นปัญหาร้ายแรง ที่จะทำให้ประชากรเสือโคร่งต้องกระจัดกระจายออกไปอยู่ในพื้นที่เล็กๆ เป็นการแยกจำนวนประชากรออกจากกัน และยังทำให้ขบวนการล่าสัตว์เข้าถึงตัวเสือโคร่งได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
นักล่าผู้อยู่จุดสูงสุดมีความสำคัญในการสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ หากลบพวกมันออกไป สภาพแวดล้อมจะต้องได้รับผลกระทบตามมา ซึ่งนี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับเสือโคร่งอินโดจีนในป่าและภูเขาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แต่ก็ยังมีเรื่องที่ดี ที่อย่างน้อยประเทศไทยก็ยังให้ความสำคัญกับสัตว์ที่สง่างามเช่นนี้อยู่