กรณีเขื่อนเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ประเทศลาว เกิดพังทะลายทำให้การก่อสร้างเขื่อนทั่วโลกเข้ามาอยู่ในความสนใจของสาธารณชนอีกครั้ง ปัจจุบัน มีเขื่อนพลังงานน้ำที่กำลังก่อสร้าง หรืออยู่ในระหว่างการวางแผนอยู่ร่วมหนึ่งพันแห่งกระจายตัวอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกาใต้ บอลข่าน และแอฟริกา
ลาวเป็นประเทศหนึ่งที่เข้าร่วมแข่งกันสร้างเขื่อนเพื่อจุดมุ่งหมายคือการเป็น “แบตเตอรีแห่งเอเชีย”
“เหล่าประเทศที่หิวโหยพลังงานต่างก็มองหาแหล่งไฟฟ้าราคาประหยัดและสะอาด” Julian Kircher นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Utrecht ให้สัมภาษณ์ ท่ามกลางเหล่านักอนุรักษ์ที่ต้องเผชิญกับความยุ่งยากอีกครั้ง เพราะพลังงานน้ำจากเขื่อนเริ่มเป็นเทรนด์ใหม่ที่ได้รับความสนใจมากขึ้น
นักวิจารณ์ชี้ถึงความอันตรายของการก่อสร้างเขื่อนจำนวนมากอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง พลังงานน้ำได้กลายเป็นหัวข้อสำคัญในการถกเถียงระหว่างสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ทีมงาน Reality Check จึงไปค้นหาเบื้องหลังการเติบโตอย่างรวดเร็วของไฟฟ้าพลังงานน้ำ
พลังงานเพื่อการเติบโต
พลังงานซึ่งผลิตจากเขื่อนถูกนำเสนอว่าเป็นทางออกจากความยากจนของประเทศกำลังพัฒนา “ประชาชนต้องการไฟฟ้า และเราจำเป็นต้องมีพลังงานน้ำที่ยั่งยืน แต่คำถามคือ ใครคือผู้ตัดสินใจว่าเขื่อนจะถูกก่อสร้างและออกแบบอย่างไร” Susanne Schemeier อาจารย์จาก IHE Delft Institute for Water Education กล่าว
พลังงานน้ำ เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดในโลก
เขื่อนจะทำหน้าที่กั้นแม่น้ำและกักเก็บน้ำไว้หลังสันเขื่อน เพื่อรอปล่อยน้ำเหล่านั้นออกมาปั่นกังหัน ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ปัจจุบัน มีเขื่อนราว 3,500 แห่งที่กำลังอยู่ในระหว่างการวางแผนหรือก่อสร้างทั่วโลก อ้างอิงจากฐานข้อมูลที่จัดเก็บโดย ChirstianeZarfl จากมหาวิทยาลัย Tubingen ตัวเลขดังกล่าวอาจเพิ่มเป็น 2 เท่าอีก 12 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ดี เขื่อนเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นตอนการวางแผน แต่ฐานข้อมูลดังกล่าวยังไม่ได้รวมถึงเขื่อนที่ออกแบบมาเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ป้องกันน้ำท่วม การสำรวจ และการนันทนาการ ดังนั้นตัวเลขเขื่อนที่กำลังก่อสร้าง หรืออยู่ในแผนที่จะก่อสร้างจริงย่อมสูงกว่านี้มาก
ประเทศบราซิลถือว่าเป็นผู้นำในตัวเลขของการก่อสร้างเขื่อนแห่งใหม่ ส่วนประเทศจีนคาดว่าจะเป็นประเทศที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำมากที่สุดในโลก
ลุ่มน้ำที่มีเขื่อนมากที่สุดคือ ลุ่มแม่น้ำ La Plata (ครอบคลุมประเทศอาร์เจนตินา โบลิเวีย บราซิล ปารากวัย และอุรุกวัย) ลุ่มแม่น้ำคงคา-พรหมบุตร (ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอินเดีย แต่คาบเกี่ยวจีน เนปาล บังคลาเทศ และภูฏาน) และลุ่มแม่น้ำแอมะซอน (โบลิเวีย บราซิล โคลัมเบีย เอกวาดอร์ กูยานา เปรู และเวเนซุเอลา)
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ประเทศในทวีปแอฟริกามีแผนก่อสร้างเขื่อนใหม่กว่า 100 แห่ง โดยเฉพาะในประเทศอย่างแองโกลา บุรุนดี คองโก และโมซัมบิค และมีเขื่อนอีก 130 แห่งจากประเทศเปรู บราซิล และเอกวาดอร์ โครงการแห่งใหม่อย่าง Belo Monte เขื่อนขนาดยักษ์ในประเทศบราซิล ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงกับชาติพันธุ์พื้นถิ่น ส่วนเขื่อน Grand Renaissance บนแม่น้ำไนล์ในประเทศเอธิโอเปียเองก็กำลังเป็นที่ถกเถียงในระดับสาธารณะ
สำหรับแม่น้ำโขง มีเขื่อนที่ก่อสร้างเสร็จแล้วทั้งสิ้น 5 แห่ง กำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง 2 แห่ง และมีอีก 10 เขื่อนที่อยู่ในระหว่างขั้นตอนการวางแผน อ้างอิงจากรายงานขององค์กรแม่น้ำสากล ภายใน พ.ศ. 2563 ประเทศลาวต้องการเดินหน้าเขื่อนผลิตไฟฟ้าอย่างน้อย 100 แห่ง
ธนาคารโลกปฏิเสธความเกี่ยวข้อง
ก่อนปลายคริสตศตวรรษที่ 20 ธนาคารโลกมีส่วนช่วยสนับสนุนโครงการก่อสร้างเขื่อนอย่างมาก อย่างไรก็ดี จากแรงกดดันของสาธารณะ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากเขื่อนหลายแห่งนำไปสู่ความกังวล เช่น การถอนเงินลงทุนหลายพันล้านจากโครงการเหนือแม่น้ำนาร์มาดา ประเทศอินเดีย สำนักข่าวอย่าง Economist ระบุว่าธนาคาร “ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังโครงการเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่ง เริ่มเอาแน่เอานอนไม่ได้”
รายงานโดยคณะกรรมการเขื่อนโลก เมื่อ พ.ศ. 2543 ซึ่งสนับสนุนโดยธนาคารโลกเน้นย้ำถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมูลค่ามหาศาลที่เป็นผลพวงจากการก่อสร้างเขื่อน ประชากรราว 40 ถึง 80 ล้านคนต้องย้ายถิ่นฐานเนื่องจากเขื่อน และคาดว่าตัวเลขจะสูงกว่านี้มากหากเราคำนึงถึงผลกระทบที่นอกเหนือจากการย้ายชุมชน เช่น การย้ายถิ่นฐานเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่การเกษตร หรือการทำประมงดั้งเดิมได้
“ช่วงเวลาตาสว่างนี้เองที่ทำให้ทิศทางการวางแผนและพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำเปลี่ยนแปลงไป โดยให้ความสำคัญกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น” Will Henley โฆษกจากสมาคมพลังงานน้ำสากล (International Hydropower Association: IHA) แสดงความเห็น โดยองค์กรดังกล่าวเป็นผู้ดำเนินการจัดพิมพ์แนวทางการดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำอย่างยั่งยืน
จีน ผู้นำด้านพลังงานน้ำ
หลังจากที่ธนาคารโลกหันหลังให้กับเขื่อน จีนได้กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมพลังงานน้ำ นับตั้งแต่เข้าสู่ศตวรรษใหม่ จีนมีสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของอัตราการเติบโตของพลังงานน้ำทั่วโลก อ้างอิงจาก IHA โดยมีกำลังการผลิตสองเท่าหากเทียบกับสหรัฐอเมริกา แต่ประเทศจีนไม่เพียงแต่เป็นผู้ผลิตอันดับต้นๆ เท่านั้น จีนยังเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในต่างประเทศอีกด้วย
บริษัทก่อสร้างและการเงินของจีนได้รับการสนับสนุนให้ลงทุนในต่างประเทศ ตามแผนการของรัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญบางรายคาดคะแนว่าบริษัทจากจีนนั้นมีอำนาจควบคุมราวครึ่งหนึ่งของตลาดอุตสาหกรรมก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าทั่วโลก “ผู้เล่นจากจีนได้รับการตอบรับอย่างดีในฐานะตัวแทนธนาคารโลก เนื่องจากนักลงทุนจากจีนไม่ถามคำถามมากมายเกี่ยวกับผลกระทบต่อชุมชนและความหลากหลายทางชีวภาพ หากเทียบกับธนาคารโลก” Julian Kircher กล่าว
Three Gorges Dam คือเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งอยู่ในประเทศจีน ใช้เงินลงทุนถึง 25 พันล้านปอนด์ ส่งผลให้ประชากรราว 1.4 ล้านคนต้องย้ายถิ่นฐาน อ่างเก็บน้ำท่วมทับ 13 เมืองใหญ่ 140 ชุมชน และ 1,350 หมู่บ้าน โดยเขื่อนดังกล่าวสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เท่ากับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 11 แห่ง
ความกังวลที่ยังคงอยู่
คำถามที่ว่าเขื่อนมีเยอะเกินไปหรือไม่ อาจต้องพิจารณาในบริบทว่าเขื่อนดังกล่าวก่อสร้างอย่างไร และมีการพูดคุยกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน “การก่อสร้างเขื่อนอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องใช้เวลา มันจำเป็นต้องมีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและชุมชน อีกทั้งต้องคำนึงถึงเขื่อนต่างๆ ที่อยู่เหนือลำน้ำเดียวกันอีกด้วย” Chirstiane Zarfl จากมหาวิทยาลัย Tubingen แสดงความเห็น “การรีบร้อนก่อสร้างเขื่อน ย่อมนำไปสู่ความผิดพลาดได้”
โครงการเขื่อนที่กำลังก่อสร้างต่างผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ในขณะที่นักรณรงค์ต่างหยิบยกผลกระทบด้านลบจากการก่อสร้างเขื่อนต่อชุมชนท้องถิ่นและระบบนิเวศโดยรอบ การสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2555 พบว่าประชากรที่ถูกย้ายถิ่นฐานเนื่องจากการก่อสร้างเขื่อนร้อยละ 70 มีสภาพความเป็นอยู่ที่แย่ลง การวิจัยยังพบว่า เขื่อนจะลดจำนวนประชากรปลาซึ่งเป็นอาหารหลักของประชาชนในลุ่มน้ำโขง
อย่างไรก็ดี ประโยชน์ของเขื่อนในการผลิตไฟฟ้าก็ค่อนข้างชัดเจน นอกจากนี้ เขื่อนยังมีประโยชน์ทางอ้อมในแง่การเกษตร แม้แต่ธนาคารโลกเองก็เริ่มปรับบทบาทกลับมาสนับสนุนเขื่อนอีกครั้ง เช่น การเข้าไปเกี่ยวข้องในโครงการก่อสร้างเขื่อน 2 แห่งในประเทศลาว ก็เป็นตัวชี้วัดอย่างดีถึงการสนับสนุนในระดับสากลต่อเขื่อนที่มีการจัดการดี “โดยเฉพาะในโต๊ะประชุมที่ต้องถกเถียงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” Susanne Schemeier กล่าวเสริม
ถอดความและเรียบเรียงจาก Hydropower dams: What’s behind the global boom? โดย Reality Check team
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์