“ลีเมอร์” ในป่ามาดากัสการ์ถูกล่าเพิ่มมากขึ้นจากการระบาดของโควิด-19

“ลีเมอร์” ในป่ามาดากัสการ์ถูกล่าเพิ่มมากขึ้นจากการระบาดของโควิด-19

นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 ที่การระบาดของโควิด-19 ได้ย่างกรายเข้าสู่ประเทศมาดากัสการ์ ชะตากรรมของลีเมอร์ สายพันธุ์ไพรเมทดึกดำบรรพ์ที่พบได้แห่งเดียวในโลกก็ดูน่าเป็นห่วงมากยิ่งขึ้น

ในทันทีที่รัฐบาลมาดากัสการ์ประกาศล็อกดาวน์ มีผู้คนอย่างน้อย 300,000 รายที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวต้องขาดรายได้ในทันที

ไม่นับรวมอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องอีกเป็นจำนวนไม่น้อย ที่ได้รับผลกระทบตามกันไป

ภาวะที่ขาดซึ่งรายได้หาเลี้ยงชีพทำให้ใครต่อใครตัดสินใจหวนกลับสู่มาตุภูมิ หวังพึ่งพิงทรัพยากรรอบๆ ท้องถิ่นประทังชีวิต รอวันวิกฤตโลกผ่านพ้น

ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุให้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ของประเทศนี้ถูกบุกรุกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ป่าไม้ถูกโค่นทำลายด้วยเพลิงที่เสกจากน้ำมือคน เพราะความต้องการฟืนในการดำรงชีวิต และพื้นที่สำหรับใช้เพาะปลูกพืชผล แก้ไขความขัดสนที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน

สิ่งนั้นทำให้ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก) ต้องสูญเสียไปหลายแห่ง

ส่งผลไปถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของลีเมอร์สัตว์ป่าที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ต้องรับเคราะห์กรรมพลอยเสียที่อยู่อาศัยและขาดแคลนอาหารตามไปไม่ต่างจากคน

ซ้ำร้ายกว่านั้น ผู้คนจำนวนไม่น้อยยอมทำผิดกฎหมายเข้าป่าล่าลีเมอร์มาฆ่าความหิวให้กับครอบครัว

ละเลยความหมายของมูลค่าที่เคยได้รับจากการท่องเที่ยว และไม่สนด้วยว่าพวกมันกำลังตกอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์

ลีเมอร์เป็นสัตว์ที่มีรูปร่างคล้ายกับลิง แต่มีจมูกและปากแหลมยาว มีดวงตากลมโต คล้ายหมาจิ้งจอก ขนหนาฟู มีหางยาวเป็นพวงเหมือนกระรอก

นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า บรรพบุรุษของลีเมอร์ เดินทางมายังเกาะมาดากัสการ์ด้วยกอพรรณพืชเมื่อ 60 ล้านปีก่อน

จากการตรวจสอบและสำรวจมานมนาน คาดว่าลีเมอร์ในป่ามาดากัสการ์ อาจจำแนกสายพันธุ์ได้มากถึง 107 ชนิด (บางฐานข้อมูลอ้างว่ามีมากถึง 112 ชนิด)

แต่การรุกล้ำและขยายถิ่นฐานของคนต่อเนื่องมานาน ทำให้ลีมอร์หลายชนิดสูญพันธุ์ไปจากโลกเป็นที่เรียบร้อยที่เหลืออยู่ก็มีแนวโน้มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นส่วนใหญ่

ความยากจนของคนชายขอบในประเทศถือเป็นปัญหาใหญ่ ที่นำไปสู่การล่าไพรเมทเหล่านี้

บางคนล่าเพื่อกิน ขณะที่บางคนล่าเพื่อขาย

ในงานวิจัยพฤติกรรมการล่าและกินเนื้อลีเมอร์ในมาดากัสการ์ (เผยแพร่เมื่อปี 2016) ระบุว่า มีการซื้อขายเนื้อลีเมอร์เกิดขึ้นทั่วประเทศ เฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 10,000 ตัว

เราสามารถพบเนื้อลีมอร์ได้ทั้งในตลาดสด ตลอดจนในร้านอาหารทั่วไป

แม้รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับตัวลีเมอร์ และใช้มันในฐานะของสัญลักษณ์เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว แต่กลับเมินเฉยด้านงานป้องกันดูแลไปอย่างน่าชวนหัว

การบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอ และไม่เข้มงวดในทางปฏิบัติ ถือเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้คนเข้าป่าล่าสัตว์กันไม่เว้นวัน โดยไม่รู้สึกสำนึกในบุญคุณ

ลีเมอร์มีหน้าที่ในระบบนิเวศดังสัตว์กลุ่มไพรเมททั่วไป อาชีพของพวกมันคือการกระจายเมล็ดพันธุ์พืชปลูกป่าสร้างความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพให้กับถิ่นที่อยู่อาศัย และทำให้มาดากัสการ์มีจุดขายในการหารายได้เข้าประเทศ

จนการระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้น ชะตากรรมของลีเมอร์ในประเทศก็ต้องประสบพบกับชะตากรรมเลวร้ายอย่างน่าหวาดหวั่น

ในรายงานพิเศษของนิตยสารเนชั่นเนลจีโอกราฟฟิก ได้สัมภาษณ์นักวิจัยซึ่งคลุกคลีอยู่ในผืนป่าทุกวัน ระบุว่า ภาวะตกงานทำให้ผู้คนเข้าป่าฆ่าความหิวเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับการทำลายป่าที่เพิ่มสูงขึ้น

ตอนนี้ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดว่า มีลีเมอร์ถูกล่าไปมากเท่าไหร่ แต่ข้อมูลจากนักวิจัยที่เดินลาดตระเวนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ Masoala ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายนของปี 2020 พบว่าการล่าสัตว์มีเพิ่มมากกว่าเกณฑ์ปกติ

โดยพบลีเมอร์ 564 ตัวติดกับดักล่าสัตว์ และได้ประจันหน้ากับผู้ล่าถึง 132 คดี

นอกจากนี้ ในบางครั้งยังพบชิ้นส่วนของสัตว์ป่า เช่น กระจุกขน ตกอยู่ในป่า จากที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในระหว่างลาดตระเวน

ในข้อมูลยังกล่าวถึงอัตราการพบลีเมอร์ในป่าที่ลดน้อยลง

นักอนุรักษ์เสนอว่า ในช่วงที่การระบาดของโควิด-19 ยังไม่ลดน้อยไปจากโลก รัฐบาลควรส่งเสริมและสนับสนุนการจ้างงานด้านใหม่ๆ ให้กับชุมชน โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่มีฐานะยากจน

รวมไปถึงการพัฒนาอาชีพในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากท่องเที่ยว ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ

เพื่อให้ประชาชนในมาดากัสการ์ และลีเมอร์ สามารถผ่านวิกฤตนี้ไปร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม แม้การระบาดของโควิด-19 จะผ่านพ้นไป และสภาพสังคมทั่วโลกกลับคืนสู่ภาวะอย่างที่เคยเป็นดังคริสตศักราชก่อนหน้า แต่ชะตากรรมของไพรเมทแห่งมาดากัสการ์ก็ยังคงน่าเป็นห่วงอยู่ต่อไป

ภัยคุกคามระบบนิเวศของมาดากัสการ์ ยังเกี่ยวเนื่องกับภาวะโลกร้อนที่สร้างความแปรปรวนให้กับทั้งผู้คนและป่าไม้ในประเทศนี้อย่างมหาศาล

หลายทศวรรษที่ผ่านมามาดากัสการ์ต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างรุนแรงทำให้พื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายย่อยยับอย่างมิอาจกู้คืน

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ อาจบีบบังคับให้ผู้คนหันหน้าเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อนุรักษ์เพิ่มมากขึ้น

มาดากัสการ์เป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนเกาะอย่างโดดเดี่ยวกลางมหาสมุทรอินเดีย ระบบนิเวศของที่นี่ไม่ได้เชื่อมต่อกับที่ใดในโลกอีกแล้ว

หากสิ่งมีชีวิตบนเกาะสูญสิ้นไป ย่อมไม่อาจหาจากที่ใดมาแทนได้อีก

ขณะที่สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศยังจำเป็นต้องพึ่งพิงรายได้จากทรัพยากรการปกป้องป่าธรรมชาติจึงถือเป็นไม้ตายสำคัญในการฟื้นคืนประเทศไม่น้อยไปกว่าการให้ความสำคัญในด้านอื่นๆ

รายงานของ World Bank ระบุว่า ประเทศมาดากัสการ์ มีรายได้จากการท่องเที่ยวปีละไม่ต่ำกว่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อนึ่ง เรื่องราวทั้งหมดนี้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2020 ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในมาดากัสการ์ได้กลับมารุนแรงอีกครั้งในช่วงเดือนเมษายน 2021 จากการระบาดรอบสอง

และเรายังไม่รู้ว่า ผลของการระบาดระลอกใหม่นี้ จะนำไปสู่ความสูญเสียทางด้านทรัพยากรเพิ่มขึ้นแค่ไหนในอนาคต

 


อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน