รัฐบาลลาวได้ประกาศอย่างเป็นทางการต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ถึงแผนการก่อสร้างเขื่อนแห่งใหม่ในหลวงพระบาง ท่ามกลางคำเตือนถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น
เรายืนยันว่าเลขาธิการคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงได้รับหนังสือแจ้งจากรัฐบาลลาวถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำหลวงพระบางซึ่งรัฐบาลลาวได้ส่งมาก่อนหน้านี้ 6 เดือนเพื่อเข้ากระบวนการขอคำปรึกษาก่อนก่อสร้าง” นี่คือข้อความในอีเมล์ซึ่งคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงส่งให้ Al Jazeera
หนังสือแจ้งดังกล่าวได้ส่งให้กับคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 คณะกรรมการลุ่มน้ำโขงเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเพื่อจัดการการพัฒนาและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง โดยคณะกรรมการได้สอบทานแผนโครงการและแจ้งไปยังประเทศสมาชิกซึ่งประกอบด้วยกัมพูชา ไทย และเวียดนาม
กระบวนการขอคำปรึกษาก่อนก่อสร้างใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนแต่สามารถยืดเวลาออกไปได้ ในช่วงเวลาดังกล่าวประเทศสมาชิกของคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงจะสอบทานโครงการ ประเมินประเด็นระหว่างประเทศ และอาจเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียด
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการลุ่มน้ำโขงก็ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจ โดยในท้ายที่สุดแล้วการตัดสินใจก่อสร้างเขื่อนนั้นก็จะขึ้นอยู่กับรัฐบาลลาว ประเทศสมาชิกจะประชุมกันตอนต้นเดือนตุลาคมนี้ โดยข้อมูลเพิ่มเติมจะเปิดเผยต่อสาธารณะภายในปลายเดือนตุลาคม
ทำลายอนาคต
เขื่อนหลวงพระบางเป็นส่วนหนึ่งแผน “แบตเตอรีแห่งเอเชีย” ของประเทศลาวที่จะพาประเทศให้พ้นจากความยากจน เขื่อนดังกล่าวตามข้อเสนอจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1,410 เมกะวัตต์ โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาด 90 ตารางกิโลเมตรตั้งอยู่ห่างประมาณ 30 กิโลเมตรจากเมืองหลวงพระบาง โดยมีบริษัทเวียดนาม VP Power เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่ง
อ้างอิงจากองค์กรแม่น้ำสากล (International Rivers) องค์กรไม่แสวงหากำไรด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ลาวได้วางแผนก่อสร้างเขื่อน 9 แห่งเหนือลำน้ำโขงกระแสหลัก ในขณะที่กัมพูชาเตรียมเสนอการก่อสร้างเพิ่มอีกสองแห่ง ในขณะที่เขื่อน 3 แห่งอยู่ในระหว่างก่อสร้างคือไซยะบุรี ดอนสะโฮ. และปากเบง
“หากเขื่อนที่อยู่ในระหว่างการยื่นเสนออีก 8 แห่งนั้นถูกสร้าง ก็จะเป็นการทำลายอนาคตของแม่น้ำโขงในฐานะระบบนิเวศที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต” องค์กรแม่น้ำสากล ระบุบนเว็บไซต์
ปีนี้ แม่น้ำโขงเผชิญกับระดับน้ำที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบจากเขื่อน
เขื่อนจำนวนมากอาจส่งผลกระทบร้ายแรงด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในประเทศกัมพูชาซึ่งมีโตนเลสาบ ทะเลสาบน้ำจืดขนาดยักษ์ซึ่งเป็นแห่งประมงที่ได้รับความอุดมสมบูรณ์จากแม่น้ำโขง และคิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของโปรตีนที่บริโภคภายในประเทศ
เจ้าหน้าที่จัดการการประมงของประเทศกัมพูชาปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ ในขณะที่เจ้าหน้าที่กระทรวงสิ่งแวดล้อม และตัวแทนประเทศกัมพูชาในคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงไม่สามารถติดต่อได้.
ข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อม
เมารีน แฮร์ริส (Maureen Harris) ผู้จัดการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำสากล ระบุว่าเธอ “ผิดหวัง” กับการตัดสินใจของลาว และวิพากษ์ถึงการทำงานของรัฐบาลลาวที่ต่อต้านแผนการพัฒนาที่มององค์รวมในระดับภูมิภาค “หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ถึงผลกระทบในภาพรวมจากโครงการนั้นชัดเจน ผลกระทบหลักนั้นรวมถึงการทำลายภาคการประมง การสูญเสียตะกอนดิน และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการไหลของแม่น้ำ ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อความมั่นคงทางอาหารและความเป็นอยู่ของชุมชนในลุ่มน้ำ” เธอกล่าวในอีเมล์
แฮร์ริสยังตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของกระบวนการขอคำปรึกษาก่อนก่อสร้างซึ่งควรจะบรรเทาปัญหาดังกล่าว “ความล้มเหลวที่จะตอบสนองต่อความกังวลของสาธารณะทำให้องค์กรภาคประชาสังคมร่วมกันบอยคอตกระบวนการขอคำปรึกษาก่อนก่อสร้างของเขื่อนปากเล” เธอกล่าว
ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาซึ่งเข้าร่วมการประชุมได้กล่าวถึงปัญหาระหว่างประเทศของเขื่อนปากเลในเดือนมกราคมระบุว่า การประชุมดังกล่าวได้จัดขึ้นในรีสอร์ทห้าดาว ประเทศลาวโดยไม่มีการประหยัดงบประมาณแต่อย่างใด เขายังเน้นถึงความไร้ประโยชน์ของการประชุมดังกล่าว และอ้างว่าลาวไม่ได้ตั้งใจจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคนอื่นๆ นัก
“หลายประเทศมีแพลตฟอร์มสำหรับแจ้งความกังวลเกี่ยวกับเขื่อนที่กำลังจะก่อสร้าง แต่มักจะเป็นกระบวนการที่ไร้ประสิทธิภาพ” เขาระบุ และเสริมว่าตัวแทนประเทศลาวดูจะเอนเอียงไปทางฝ่ายผู้พัฒนาโครงการ
จากรายงานโดย Radio Free Asia ประชาชนราว 4,600 คนจะต้องย้ายถิ่นฐานหากมีการก่อสร้างเขื่อน คณะกรรมการลุ่มน้ำโขงระบุว่า “การย้ายถิ่นฐานและการชดเชยจะเป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบ” โดยประเทศลาว
“โครงการลักษณะดังกล่าวมักจะเผชิญกับปัญหาการชดเชยที่ไม่เพียงพอต่อการสูญเสียทรัพยากรและรายได้ ที่ดินใหม่ที่เสื่อมคุณภาพ และการสูญเสียชีวิตความเป็นอยู่เดิม” แฮร์ริสกล่าวเสริม
Trinh Le Nguyen ผู้อำนวยการ Vietnam’s People and Nature Reconciliation ระบุว่าถึงตอนนี้ เขาคาดการณ์ว่าเขื่อนที่อยู่ในระหว่างกระบวนการทำข้อเสนอจะได้รับการก่อสร้าง โดยไม่สนใจผลกระทบสิ่งแวดล้อมใดๆ
“นี่คือผลกระทบแบบโดมิโน” เขากล่าว โดยย้ำว่ามีหลักฐานถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจำนวนมากเกินพอที่ถูกเสนอไปแล้ว “ผมมองว่าการขอคำปรึกษาอีกครั้งจะกลายเป็นเรื่องเสียเวลาสำหรับทุกคน หากพิจารณาบทเรียนของกระบวนการดังกล่าวสี่ครั้งที่ผ่านมา” เขาสรุป
ถอดความและเรียบเรียงจาก Laos to go ahead with Luang Prabang dam project despite warnings
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์