รู้จัก ‘พายุซอมบี้’ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รู้จัก ‘พายุซอมบี้’ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ขณะที่ภัยพิบัติยังคงโหมกระหน่ำในสหรัฐอเมริกา ไฟป่ายังคงโหมกระหน่ำรุนแรงทางฝั่งตะวันตก เฮอร์ริเคนถล่มทางตะวันออกเฉียงใต้ พายุโซนร้อน Paulette ปรากฏตัวอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 หลังจากที่สลายตัวไป

‘พายุซอมบี้’ หมายถึงพายุที่กำลังความแรงกลับมาเพิ่มอีกครั้งหลังจากที่อ่อนกำลังลง นี่คือปรากฎการณ์ที่น่าประหลาดใจ โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่าปรากฎการณ์ดังกล่าว จะเป็นเรื่องที่พบบ่อยครั้งขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา พายุโซนร้อน Paulette ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติก ก่อนจะขึ้นฝั่งที่เบอร์มิวดาโดยมีสถานะเฮอร์ริเคนประเภทที่ 1 อ้างอิงจากรายงานของสำนักข่าว CNN ก่อนจะยกระดับเป็นเฮอร์ริเคนประเภทที่ 2 แล้วอ่อนกำลังลงราวห้าวันหลังจากนั้น

แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจคือพายุ Paulette กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง โดยมีกำลังมากขึ้นก่อนจะยกระดับเป็นพายุโซนร้อน ณ บริเวณ 480 กิโลเมตรจากหมู่เกาะ Azores ในวันจันทร์ที่ 21 กันยายน คำว่า ‘พายุซอมบี้’ เป็นศัพท์ใหม่ แต่ปรากฎการณ์ลักษณะดังกล่าวเคยมีบันทึกไว้แต่ยังถือว่าเกิดขึ้นได้ยาก

Donald Wuebbles อาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ชั้นบรรยากาศจากมหาวิทยาลัยแห่ง Illinois ณ Urbana-Champaign ระบุว่าปรากฎการณ์พายุซอมบี้มีแนวโน้มจะเกิดบ่อยครั้งขึ้น เช่นเดียวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะรุนแรงขึ้น ทั้งไฟป่า เฮอร์ริเคน โดยมีสาเหตุสำคัญจากสภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“เราพบมวลความร้อนขนาดใหญ่ในบริเวณอ่าวเม็กซิโก โดยเฉพาะบางส่วนในเขตทะเลแคริบเบียน” Wuebbles ให้สัมภาษณ์กับ Live Science โดยเฮอร์ริเคนจำนวนมากจะเพิ่มกำลังในบริเวณดังกล่าวก่อนที่จะขึ้นฝั่งในสหรัฐอเมริกา อ่าวเม็กซิโกนับเป็นพื้นที่เปราะบางจากสภาพโลกร้อนเนื่องจากระดับน้ำในอ่างค่อนข้างตื้นทำให้น้ำร้อนขึ้นได้ง่าย

พายุในมหาสมุทรแอตแลนติกมักจะก่อตัวบริเวณพื้นที่อบอุ่นใกล้กับทวีปแอฟริกา เนื่องจากส่วนผสมของชั้นบรรยากาศและสภาพของมหาสมุทร ก่อนที่พายุนั้นจะเคลื่อนตัวข้ามมหาสมุทรมาขึ้นฝั่งที่ชั้นบรรยากาศ ข้อมูลจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยชั้นบรรยากาศระบุว่า เฮอร์ริเคนจำเป็นต้องพึ่งสภาพน้ำที่ค่อนข้างอุ่นเพิ่มความชื้นในอากาศเพื่อก่อตัว พายุหมุนจะเพิ่มกำลังโดยการเติมพลังงานจากน้ำและอากาศที่อบอุ่น ก่อนจะอ่อนกำลังลงหากเคลื่อนที่ไปเจอกับอากาศหนาวหรือเคลื่อนไปบนพื้นดิน

“ถ้าหากพายุไม่มีความรุนแรงมาก มันก็จะสงบลงก่อนที่จะขึ้นฝั่ง” Wuebbles กล่าว แต่ในปัจจุบัน หากพายุเคลื่อนเข้าสู่บริเวณที่มีน้ำอุ่นในแคริบเบียนมันก็จะดูดซับพลังงานมากขึ้น รวมถึงพายุที่ยังไม่สลายตัวไป ตัวอย่างเช่นเมื่อเดือนที่ผ่านมา เฮอร์ริเคน Laura เพิ่มกำลังจากระดับ 1 ถึงระดับ 4 เพียงชั่วข้ามคืน เนื่องจากได้รับพลังงานจากน้ำอุ่นในอ่าวเม็กซิโก

ด้วยสภาพอากาศบนโลกที่ร้อนขึ้น ‘พายุมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น’ เขากล่าวเสริม นั่นหมายความว่าปรากฎการณ์ ‘พายุซอมบี้’ จะอยู่กับเราไปอีกนานและอาจพบบ่อยครั้งขึ้น

ถอดความและเรียบเรียงจาก Zombie storms are rising from the dead thanks to climate change

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก