รายงานด่วน เรื่องการเปลี่ยนแปลงเพื่อควบคุม อุณหภูมิโลก ไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

รายงานด่วน เรื่องการเปลี่ยนแปลงเพื่อควบคุม อุณหภูมิโลก ไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

รายงานที่สำคัญจาก IPCC (คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ในปี พ.ศ.2558 หลังจากมีข้อตกลงปารีส แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ต้องแลกเพื่อควบคุม อุณหภูมิโลก ไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

รายงานให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับข้อตกลงในปารีสว่าสามารถบรรลุได้จริงหรือไม่ อนาคตจะเป็นอย่างไร ความเสี่ยงและผลตอบแทนของการทำตามข้อตกลงนี้

เราจะสามารถควบคุม อุณหภูมิโลก ไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้จริงมั้ย ?

ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนหรอกว่าได้หรือไม่ได้ แต่ถ้าเราต้องการจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศา เราต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 45% ภายในปี พ.ศ. 2573 และลดให้ใกล้ 0% ภายในปี พ.ศ.2593

เราจะทำสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับรัฐบาลของแต่ละประเทศเป็นหลักที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ ถึงแม้ว่าอนุสัญญานี้จะเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่สิ่งที่ประเทศต่าง ๆ กำลังทำอยู่ในปัจจุบันนั้น ยังไม่เพียงพอต่อการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 3 องศาเซลเซียสด้วยซ้ำ

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนนั้นไม่ได้กำลังจะเกิด แต่ได้เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก เช่น การลดลงของ ผลผลิตทางการเกษตร แนวปะการัง ความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำแข็งขั้วโลก และการเพิ่มขึ้นของ คลื่นความร้อน ปริมาณฝนที่ตกหนัก ในทศวรรษล่าสุดนั้นมนุษย์ได้ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นไปแล้วถึง 40.5 มิลลิเมตร และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปอีกหลายทศวรรษ ถึงแม้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ทันที 

เราจำเป็นจะต้องรีบลงมือทำบางสิ่งได้แล้ว ใน 10 ปีจากตอนนี้จะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นมาถึง 1 องศาเซลเซียส ในปี พ.ศ.2560 ถ้าโลกยังร้อนขึ้นด้วยอัตราเร็วเท่าเดิมกับปัจจุบัน (0.2 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ) โลกจะร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสในประมาณปี พ.ศ.2583

แล้วเราจะต้องทำอย่างไรล่ะที่จะยับยั้งไม่ให้ อุณหภูมิโลก เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกชนิดในโลกจะต้องลดลงจนเหลือศูนย์ภายในปี พ.ศ.2593 โดยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เสนอว่าการกำหนดราคาค่าปล่อยมลพิษนั้นเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการจัดการปัญหานี้

ภายในปี พ.ศ.2593 70-85% ของพลังงานไฟฟ้าทั่วโลกจะต้องถูกผลิตโดยพลังงานสะอาด การลงทุนในเทคโนโลยีประหยัดพลังงานและปล่อยคาร์บอนต่ำจะต้องเพิ่มมากขึ้นสองเท่า ในขณะเดียวกันในธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิลจะต้องลดลงประมาณ 25%

เทคโนโลยีในการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็อาจจะถูกนำมาใช้ แต่ IPCC ก็ได้เตือนว่าการใช้เทคโนโลยีนี้อย่างหนักอาจจะเกิดความเสี่ยงได้ เพราะเทคโนโลยีนี้ยังไม่เคยถูกใช้ในวงกว้างมาก่อน และอาจกลายเป็นข้ออ้างในการที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป IPCC จึงได้บอกว่านี่อาจจะเป็นแค่ตัวเสริมในการช่วยควบคุมอุณหภูมิโลกเท่านั้น

(การเกษตรแบบยั่งยืนเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ)

ไลฟ์สไตล์ในการบริโภคของมนุษย์ก็มีผลเช่นกัน การที่เราลดการใช้พลังงาน ลดการทิ้งเศษอาหาร พัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตอาหาร และการเลือกใช้สินค้าที่ถูกผลิตโดยปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย ถ้าทุก ๆ คนช่วยกันทำสิ่งเหล่านี้จะช่วยลดปัญหาโลกร้อนลงได้มาก

ยิ่งเราลงมือเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี เพราะนั่นทำให้เรามีเวลามากขึ้นในการแก้ไขปัญหาและปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต และที่สำคัญที่สุดก็คือจะทำให้เราควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้เร็วขึ้น

การที่ อุณหภูมิโลก เพิ่มขึ้น1.5 องศาเซลเซียสส่งผลต่อเราอย่างไรบ้าง ?

ถึงแม้ว่าสนธิสัญญาปารีสนั้นจะกำหนดเป้าหมายให้จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่เกิน 1.5 องศา แต่นั้นไม่ได้หมายความว่ามันปลอดภัย ชุมชนและระบบนิเวศทั่วโลกต่างก็ได้รับผลกระทบที่ชัดเจนมากแล้วจากสภาวะโลกร้อน โดยที่ตอนนี้โลกเราเพิ่งร้อนขึ้นไปได้ 1 องศาเอง มั่นใจได้เลยว่า 1.5 องศานั้นหนักหน่วงกว่านี้แน่นอน

หมู่เกาะขนาดเล็ก และพื้นที่ติดชายฝั่งที่อยู่ไม่สูงมากจากระดับน้ำทะเลนั้น จะมีความเสี่ยงในการเจอกับภัยพิบัติจากน้ำทะเลหนุนมากขึ้น เช่น การเกิดน้ำท่วม การปนเปื้อนของแหล่งน้ำจืดจากน้ำทะเล 

ประเทศอื่น ๆ ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศในแถบเส้นศูนย์สูตรเหตุการณ์ เช่น น้ำท่วม การแผ่รังสีความร้อน และสภาวะแห้งแล้ง จะเกิดเป็นบริเวณที่กว้างขึ้น บ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้น ซึ่งจะทำให้แต่ละประเทศเปลืองงบประมาณในการจัดการโต้ตอบกับภัยพิบัติ และดูแลสุขภาพประชาชนมากขึ้น

(ปะการังทั่วโลกนั้นกำลังมีอัตราการฟอกขาวที่เพิ่มขึ้น เป็นผลกระทบมาจากสภาวะโลกร้อน)

ระบบนิเวศในทะเลก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน สภาวะโลกร้อนทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น และมีความเป็นกรดมากขึ้น ซึ่งส่งผลสู่มนุษย์โดยตรงผ่านการประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเล คาดว่าปะการังที่อาศัยอยู่ในเขตน้ำอุ่นอาจจะถูกทำลายมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ถ้าอุณหภูมิเพิ่มไป 1.5 องศาเซลเซียส และถ้าอุณหภูมิเพิ่มไปจนถึง 2 องศาเซลเซียส ปะการังจะถูกทำลายไปจนเกือบหมด (มากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์)

อุณหภูมิโลก ร้อนขึ้น 1.5 องศา กับ 2 องศา จะส่งผลกระทบต่างกันอย่างไรบ้าง

ผลกระทบถ้าอุณหภูมิโลกร้อนขึ้น 1.5 องศา เปลี่ยนไปเป็น 2 องศานั้นมีความต่างกันอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น

  1. จะมีผู้คนที่ได้ผลกระทบจากการขาดน้ำจืดเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
  2. จะมีจำนวนคนเพิ่มขึ้น 427 ล้านคนที่ขาดอาหาร ขาดน้ำสะอาด และได้รับผลกระทบทางลบต่อสุขภาพ
  3. เกิดการตายและโรคที่เกิดจากอุณหภูมิที่สูง เหตุการณ์สภาพอากาศร้ายแรง การแผ่ขยายของทะเลทราย และการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตมากขึ้น
  4. ทำให้แผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่จะแก้ปัญหาความจน การขาดน้ำดื่มและสารอาหาร การขาดสุขภาพและอนามัยที่ดี บรรลุได้ยากขึ้น

การควบคุม อุณหภูมิโลก นั้นเหมาะสมอย่างไรต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นคือการที่ผู้คนมีสุขภาพที่แข็งแรง มีความมั่นคงทางการเงิน มีอาหาร น้ำ อากาศที่สะอาดให้ใช้ และอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัย สิ่งเหล่านี้มีสอดคล้องกันกับเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสาเหตุให้ IPCC ส่งเรื่องไปยังโครงการ SDG (Sustainable Development Goal) ว่าควรมีการดำเนินการร่วมกันอย่างชัดเจน เพื่อที่จะบรรลุตามจุดประสงค์

แต่ยุทธวิธีการจัดการสภาพอากาศนั้นอาจจะบรรลุได้ยากหน่อยสำหรับบางประเทศในโครงการ SDG ที่ยังพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่มาก ประเทศเหล่านี้จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมากกับช่วงการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้พลังงานแบบคาร์บอนต่ำ

การจัดการปัญหาอย่างระมัดระวังโดยให้ความสำคัญไปที่ความยากจน และความเท่าเทียมกันในการตัดสินใจ อาจจะช่วยลดผลกระทบทางลบจากช่วงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และที่สำคัญที่สุดจงจำไว้ว่าวิธีการที่เคยใช้ได้ผลในที่ที่หนึ่ง อาจจะไม่เหมาะกับอีกที่หนึ่งก็ได้ เพราะฉะนั้นวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ ก็ควรจะถูกปรับให้เหมาะสมกับพื้นที่นั้นด้วย

Where next ?

การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ต้องการความร่วมมือจากทางสังคมสูงมาก ถึงแม้ว่าเราจะเริ่มลงมือแก้ปัญหาโลกร้อนแล้ว แต่ผลกระทบจากปัญหานี้ก็ยังจะมีให้เห็นอยู่ในอนาคต อย่างไรก็ตาม 1.5 องศาเซลเซียสนั้น ส่งผลดีกว่า 2 องศาเซลเซียสอย่างแน่นอน

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก New UN report outlines ‘urgent, transformational’ change needed to hold global warming to 1.5°C
ถอดความและเรียบเรียงโดย วณัฐพงศ์ ศิริวิภานันท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร