รั้วผึ้ง ทางออกของความขัดแย้งระหว่างช้างกับคน

รั้วผึ้ง ทางออกของความขัดแย้งระหว่างช้างกับคน

ช้างเป็นสัตว์กลัวผึ้ง อย่าแปลกใจไปนะครับ ถึงแม้ว่าช้างจะเป็นสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดแต่กลับกลัวเจ้าแมลงตัวจิ๋วอย่างผึ้ง โดยจะแสดงอาการกระพือหู พ่นฝุ่นทราย และส่งเสียงร้อง เมื่อได้ยินเสียงหึ่งหึ่งจากรังผึ้ง

แน่นอนว่าเหล็กไนของผึ้งไม่มีทางแทงทะลุหนังหนาของช้าง แต่ถ้าผึ้งรวมตัวกันเป็นฝูง เช่น ผึ้งแอฟริกันที่นิสัยค่อนข้างดุร้าย ผึ้งจำนวนนับร้อยก็จะรุมต่อยช้างและอาจโดยบริเวณที่บอบบางอย่างงา ปาก และดวงตา ซึ่งสร้างความเจ็บปวดแก่เจ้าตัวใหญ่

ผึ้งแทบไม่มีทางต่อยทะลุผิวหนังของช้าง แต่หากช้างถูกฝูงผึ้งรุม ก็มีโอกาสที่จะต่อยโดนบริเวณที่บอบบางได้ / PHOTO Greg Du Toit/Barcroft Media, via Getty Images

 

ความรู้สึกหวาดกลัวของช้างที่มีต่อผึ้งนั้นรุนแรงจนนักอนุรักษ์มองเห็นว่าสามารถนำมาประยุกต์เป็นเกราะป้องกันความขัดแย้งที่อาจทำให้ช้างต้องเผชิญความเสี่ยงจากการถูกยิงโดยเกษตรกรหรือนายพรานที่เฝ้าไร่นา เนื่องจากบางครั้ง ช้างป่าอาจเข้าไปทำลายพื้นที่เกษตรซึ่งประชิดกับชายป่า

เกราะป้องกันดังกล่าวนั้นเป็นประโยชน์ต่อทั้งคนและทั้งช้าง เสมือนกับการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิจัยได้ทุ่มเทกับการชักชวนให้เกษตรกรชาวแอฟริกาใช้ผึ้งแทนแนวป้องกันช้างป่าเพื่อรักษาพื้นที่เกษตร โดยมีผลสรุปว่า จากการห้อยรังผึ้งทุก 20 เมตร ซึ่งในจำนวนนี้มีรังผึ้งปลอมปนอยู่ด้วย สามารถกันไม่ให้ช้างเข้ามาใกล้พื้นที่เกษตรได้ถึงร้อยละ 80

เรายังไม่ทราบว่าช้างเอเชียจะตอบสนองอย่างไรต่อผึ้ง เนื่องจากผึ้งในเอเชียนั้นมีความดุร้ายน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผึ้งแอฟริกา หรือบางทีช้างในแต่ละพื้นที่อาจมีอุปนิสัยแตกต่างกัน ไม่ต่างจากคนซึ่งมาจากต่างวัฒนธรรม

องค์กรไม่แสวงหากำไร Save the Elephant ได้สร้างรั้วผึ้งในแอฟริกาโดยมีต้นทุนราว 30,000 บาทต่อพื้นที่ 2.5 ไร่ ซึ่งนับว่าต้นทุนต่ำกว่ารั้วไฟฟ้าถึง 5 เท่า นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการเก็บน้ำผึ้งตามแนวรั้วปีละ 2 ครั้งอีกด้วย โดยการศึกษาพบว่า การห้อยรังผึ้งนั้นจะต้องแน่นหนาพอที่ไม่ทำให้รังหล่น แต่ต้องไม่แน่นมากจนรังผึ้งแกว่งไม่ได้ เนื่องจากการขยับไหวของรังจะทำให้ผึ้งกระจายตัวรอบรังและช่วยไล่ช้าง

PHOTO Credit Lucy King

 

ช้างเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างฉลาด หากพวกเขาไม่ได้เจอกับสภาวะที่ส่งผลลบ เช่น การโดนผึ้งต่อยสักครั้งสองครั้ง พวกมันก็จะไม่กลัวภัยคุกคามปลอมๆ อย่างเทปที่เล่นเสียงรังผึ้ง รั้วริมชายป่ายังเป็นเกราะทางจิตวิทยาเพื่อป้องกันไม่ให้เกษตรกรแผ้วถางป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกอีกด้วย

 

จวบจนปัจจุบัน รั้วผึ้งได้ถูกนำไปทดลองใช้ใน 11 ประเทศในแอฟริกา และ 4 ประเทศในเอเชีย ซึ่งมีกระแสตอบรับค่อนข้างดีจากเกษตรกร โดยมีอาสาสมัครกว่า 200 คนเข้าร่วมโครงการในปีที่ผ่านมา

 

ตอนแรกที่เราเริ่มโครงการ เราต้องพยายามอย่างมากที่จะชักชวนให้คนมาเข้าร่วมดร. คิง หัวหน้างานวิจัยให้สัมภาษณ์พวกเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องบ้ามากๆ แต่ตอนนี้มีคนลงชื่อเพื่อขอร่วมโครงการเพิ่ม

อย่างไรก็ดี รั้วผึ้งอาจไม่เพียงพอที่จะไล่ช้างได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อพืชพรรณในแปลงงอกงาม ก็เป็นแรงจูงใจให้เหล่าช้างเผชิญความเจ็บปวด ซึ่งเกษตรกรอาจต้องใช้เสียงดังอื่นๆ มาขับไล่ เช่น เสียงสุนัขเห่า เป็นต้น

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Elephants Are Very Scared of Bees. That Could Save Their Lives
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์