ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงหลักฐานว่าการรัฐประหารครั้งล่าสุดของเมียนมาอาจเปิดทางให้เกิดการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าครั้งใหญ่ในประเทศ การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอาจยิ่งเป็นแรงกดดันให้ทรัพยากรทางธรรมชาติถูกทำลาย ผู้เชี่ยวชาญมองว่าผู้นำเผด็จการอาจต้องแสวงหาเงินด่วนมาใช้เพื่อให้รัฐบาลยังทำงานได้
.
การปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงที่ไร้อาวุธของรัฐบาลทหารเมียนมาทำให้มีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมากและประเทศตกอยู่ในความโกลาหล การปกครองด้วยความรุนแรงของผู้นำเผด็จการทหารเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตามมาด้วยผลกระทบที่น่ากังวลจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติ
หลักฐานชิ้นหนึ่งที่เกิดขึ้นภายใต้ปกครองของเผด็จการทหาร คือการตัดไม้ทำลายป่า โดยมีแรงผลักดันคือการแสวงหาผลกำไรมาใช้จ่ายในรัฐบาล โดยเริ่มจากการจำหน่ายไม้ผิดกฎหมายซึ่งเป็นของกลางที่ยึดได้ นอกจากนี้ ภาพถ่ายดาวเทียมยังยืนยันว่าการตัดไม้ทำลายป่าในเมียนมามีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา
แต่การรัฐประหารอาจเป็นสิ่งที่ทำลาย ‘ประตูเขื่อน’ ของกิจกรรมผิดกฎหมาย เมื่อการเฝ้าระวังและการค้าระหว่างประเทศเสื่อมสลายก็ย่อมเป็นการเปิดทางให้กิจกรรมใต้ดินทำง่ายขึ้น องค์กรเฝ้าระวังพื้นที่ขัดแย้งและสิ่งแวดล้อม หรือ CEOBS (Conflict and Environment Observatory) องค์กรภาคเอกชนสัญชาติอังกฤษอ้างว่า การตัดไม้ในพื้นที่ป่าปฐมภูมิบริเวณภาคกลางของเมียนมาเพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่มีการรัฐประหาร ซึ่งรัฐบาลเผด็จการอาจฉวยใช้ความได้เปรียบของสถานการณ์จำหน่ายไม้ผิดกฎหมายจำนวนมหาศาลให้กับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งไม่ตั้งคำถามถึงแหล่งที่มาของทรัพยากรเหล่านั้น
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นถึงการทำลายป่าฝนเขตร้อนผืนใหญ่ช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายนปีนี้ ในอุทยานแห่งชาติ Alaungdaw Kathapa ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกอาเซียนและเป็นผืนป่าใหญ่ของสัตว์ป่าที่หายากและใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด เช่น ช้างป่าและเสือลายเมฆ มีความโดดเด่นทั้งความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ
ภาพถ่ายดังกล่าวยืนยันว่าพื้นที่ป่าขนาดร่วมกิโลเมตรหายไปในช่วงเวลาไม่กี่เดือนก็จริง แต่เราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าความสูญเสียดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลทหาร Eoghan Darbyshire นักวิจัยจาก CEOBS แสดงความเห็นว่ารัฐบาลทหารมีแรงจูงใจที่จะเร่งหาเงินมาใช้ซึ่งสามารถทำได้ง่ายขึ้นมากจากการรัฐประหาร
อย่างไรก็ดี กองทัพเมียนมาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้รับผิดชอบในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรงฮิงญาและเกี่ยวพันกับการขายไม้ผิดกฎหมายอีกด้วย
Darbyshire กล่าวเสริมว่า “ในช่วงหลายปีที่เมียนมาเดินหน้าสู่การเป็นประชาธิปไตย รัฐบาลเริ่มควบคุมการตัดไม้ทำลายป่าได้ และมีการปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบ แต่หลังจากเกิดรัฐประหารทุกอย่างก็เดินกลับไปสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง” สถานการณ์ที่น่ากังวลที่สุดคือป่าไม้ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูง ซึ่งไม่มีใครตอบได้เลยว่าการตัดไม้ทำลายป่าจะยุติลงเมื่อใด
การค้นหาข้อเท็จจริงเรื่องอุตสาหกรรมไม้ในเมียนมาโดยสำนักงานสอบสวนด้านสิ่งแวดล้อมยังสะท้อนภาพที่น่ากังวล หลังการรัฐประหาร รัฐบาลสหรัฐฯ ได้มีมาตรการคว่ำบาตรผลิตภัณฑ์ไม้จากเมียนมาที่เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่าอุตสาหกรรมไม้และหอยมุกคือ “ทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลทหารเมียนมาที่ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตยในตอนนี้ อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ต่อเนื่องยาวนานต่อประชากรเมียนมา โดยคร่าชีวิตแม้กระทั่งเด็ก”
ในเดือนกุมภาพันธ์หลังจากการรัฐประหารไม่นาน ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่าการคว่ำบาตรของสหรัฐและหลายประเทศทั่วโลกต่อเมียนมาอาจเป็นปัจจัยเร่งที่ก่อให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งองค์การสหประชาชาติระบุว่า เมียนมาเป็นประเทศที่มีอัตราการทำลายป่าสูงที่สุดในโลก โดยมีสาเหตุสำคัญจากการขยายพื้นที่การเกษตร โครงการด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการก่อสร้างเหมือง แต่ผู้นำเผด็จการอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงยิ่งกว่าเดิม
ถอดความและเรียงเรียงจาก Myanmar’s military coup linked to illegal deforestation
ภาพถ่าย © Justine E.Hausheer / The Nature Conservancy
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก