รัฐบาลลาวระบุว่าโครงการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางเหนือลำน้ำโขง ใกล้เมืองหลวงในอดีตของประเทศลาว เดินหน้าได้ตามแผนที่วางไว้ท่ามกลางเสียงคัดค้านที่ยังไม่สงบลง
การก่อสร้างถนนโดยรอบพื้นที่ก่อสร้างเชื่อมกับทางด่วนที่อยู่ใกล้กันมีความก้าวหน้าไปถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ท่าเรือขนส่งวัสดุก่อสร้างก็เสร็จสิ้น ส่วนแคมป์คนงานและสะพานเพื่ออำนวยความสะดวกระหว่างก่อสร้างอยู่ในระหว่างจัดทำ
โครงการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางจะทำให้ประชาชนลาว 581 ครอบครัวต้องย้ายถิ่นฐาน เพื่อเปิดทางให้กับโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำกำลัง 1,460 เมกะวัตต์ แค่ช่วงแรกเริ่ม เหล่าผู้ได้รับผลกระทบก็ร้องเรียนถึงเงินชดเชยที่ไม่เพียงพอต่อการย้ายที่อยู่อาศัย
“ชาวบ้านทุกคนต้องการเงินชดเชยที่เป็นธรรมสำหรับที่ดินและที่อยู่อาศัย ซึ่งจะถูกน้ำท่วมจากโครงการก่อสร้างเขื่อน” หนึ่งในตัวแทนของชุมชนให้สัมภาษณ์ “เรายังมีความกังวลว่าจะไม่ได้ที่ดินสำหรับทำกินในที่ดินผืนใหม่ที่กำลังจะย้ายไป”
ผู้รับเหมาก่อสร้างสัญชาติไทยได้รับอนุญาตให้ดำเนินการเตรียมการก่อสร้างบางส่วน แม้ว่ายังไม่มีการเซ็นสัญญาซื้อขายพลังงานซึ่งจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติเสียก่อนตามแนวทางของคณะกรรมาธิการการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission :MRC)
ผู้เชี่ยวชาญวิพากษ์ว่า การเดินหน้าเตรียมก่อสร้างโครงการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศที่เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกคือไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม พิจารณาผลกระทบข้ามพรมแดนจากการก่อสร้างเขื่อน เป็นเพียงกระบวนการเพื่อสร้างความเป็นทางการที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไรในสายตารัฐบาลลาวและไทย
ลาวได้ก่อสร้างเขื่อนผลิตพลังงานไฟฟ้าเหนือลำน้ำโขง และลำน้ำสาขาหลายต่อหลายแห่ง โดยมีเป้าหมายปลายทางคือ การส่งออกพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนให้ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเพื่อบรรลุการเป็น ‘แบตเตอรีแห่งเอเชีย’
ถึงแม้ว่ารัฐบาลลาวจะมองการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อส่งออกเป็นแนวทางสำคัญที่จะกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่โครงการดังกล่าวมีผู้ไม่เห็นด้วยจำนวนมากเนื่องจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การบังคับให้ประชาชนบางส่วนต้องย้ายถิ่นฐานโดยได้รับเงินชดเชยไม่เพียงพอ รวมทั้งข้อตกลงทางการเงินเพื่อจัดซื้อพลังงานที่ชวนฉงนสงสัย
ถอดความและเรียบเรียงจาก Controversial Luang Prabang Dam Construction Well Underway in Laos