รัฐบาลจีนถอด ‘ตัวนิ่ม’ ออกจากตำรับยาแพทย์แผนจีน

รัฐบาลจีนถอด ‘ตัวนิ่ม’ ออกจากตำรับยาแพทย์แผนจีน

รัฐบาลจีนได้ประกาศถอด ‘เกล็ดนิ่ม’ ออกจากรายการส่วนผสมที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในการแพทย์แผนจีน จากสิ่งนี้ นักอนุรักษ์มองว่าเป็น “ขั้นตอนสำคัญ” สำหรับการช่วยชีวิตสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีการค้ามากที่สุดในโลก

ตัวนิ่ม หรือ ตัวลิ่น เป็นสัตว์กินแมลง ทั้งลำตัวมีเกล็ดปกคลุม ขนาดประมาณแมวบ้าน เกล็ดและเนื้อของสัตว์ชนิดนี้มีมูลค่าราคาที่สูงในภูมิภาคเอเชีย เฉพาะปีที่ผ่านมา มีการตรวจยึดเกล็ดตัวนิ่มได้มากกว่า 130 ตัน

ในธรรมชาติ ตัวนิ่มมีอยู่ด้วยกัน 8 สายพันธุ์ พบในเอเชียและแอฟริกา ปัจจุบันมี 3 สายพันธุ์ที่ถูกระบุให้มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ตามรายงานของ IUCN (สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ)

แม้ว่าเกล็ดของตัวนิ่มจะมีส่วนประกอบของเคราติน ซึ่งมีคุณลักษณะแบบเดียวกับเล็บมือของคนและนอของแรด แต่ความที่เป็นส่วนผสมในตำรายาจีนโบราณจึงทำให้เกิดความเชื่อถึงคุณประโยชน์แบบต่าง ๆ ทั้งช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดี ไปจนถึงลดอาการปวดอักเสบ

ตามรายงานของรัฐบาลจีน ที่ได้เผยแพร่มาเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2563 ได้ประกาศข้อสรุปอย่างเป็นทางการว่า ยารักษาโรค อันหมายถึงยาสมัยใหม่ ตลอดจนยาแผนจีนดั้งเดิม จะไม่อนุญาติให้นำเล็ดของตัวนิ่มมาใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาอีกต่อไป ด้วยเหตุผลว่า เป็นทรัพยากรที่กำลังหมดไปจากป่า
.

.
เดวิด โอลสัน ผู้อำนวยการของ WWF ฮ่องกง กล่าวว่า การดำเนินงานของจีนจะส่งผลกระทบได้จริง ๆ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญ หากว่ามีความต้องการอนุรักษ์สัตว์เหล่านี้จริง ๆ

“ความต้องการตัวนิ่มส่วนใหญ่มาจากเรื่องทางการแพทย์แผนจีน และการบริโภคเนื้อ และมันคือสาเหตุที่ทำให้เกิดการค้าผิดกฎหมายในปริมาณมหาศาล”

การตัดสินใจลบตัวนิ่มออกจากรายการอย่างเป็นทางการ เกิดขึ้นหลังจากที่กรมป่าไม้ของจีนได้ยกระดับสถานะของตัวนิ่มเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย เช่นเดียวกับหมีแพนด้าและเสือโคร่ง

โซเฟีย จาง หัวหน้าคณะทำงานเกี่ยวตัวตัวนิ่มของมูลนิธิอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการพัฒนาสีเขียวในประเทศจีน กล่าวว่า เธอพอใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังอดติงไม่ได้ว่า เป็นการดำเนินการที่ช้าไปสักหน่อย

“หลายปีที่ผ่านมา มีตัวนิ่มถูกล่าและฆ่าไปแล้วกี่ตัว ?”

การค้าตัวนิ่มได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อจำนวนประชากรท้องถิ่นในเอเชีย ตามข้อมูลของ IUCN ระบุว่า ตัวนิ่มในจีนลดลงกว่า 90% นับตั้งแต่ปี 2503 เป็นต้นมา

ซึ่งเมื่อตัวนิ่มทางฟากเอเชียถูกล่าจนแทบจะไม่เหลือ ตลาดการค้าก็พุ่งเป้าไปที่สายพันธุ์ทางฝั่งแอฟริกาแทน โดยในระหว่าง พ.ศ. 2556-2562 ที่การล่าเฟื่องฟู ตัวนิ่มในแอฟริกา 2 สายพันธุ์ก็ถูกยกระดับฐานะจาก “สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์” เป็น “สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์”

.

.
ก่อนหน้านี้ ในปี 2561 ทางการจีนได้ประกาศห้ามนำผลิตภัณฑ์จากตัวนิ่มเข้าประเทศ ทว่าการค้าตัวนิ่มก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ยังคงมีการขนส่งสินค้าล็อตใหญ่เข้าประเทศอยู่เสมอ ๆ

ขณะเดียวกัน แรงสนับสนุนที่ต้องการให้ตัวนิ่มได้รับการคุ้มครองก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา

ตัวอย่างเช่น ปฏิกิริยาล่าสุดที่สังคมแสดงออกเพื่อปกป้องตัวนิ่ม มาจากผลวิจัยที่อธิบายว่าตัวนิ่มที่ขายอยู่ในตลาดสดทั่วประเทศจีนอาจช่วยฟักตัว COVID-19 ให้สุกงอมก่อนจะแพร่ระบาดมาสู่มนุษย์

แม้โดยหลักการแล้วอาจยังเร็วเกินไปที่จะโยนความผิดให้กับตัวนิ่มว่าเป็นตัวแพร่ระบาดของโรค แต่ก็มีมูลเหตุที่ค่อนข้างแน่ชัดว่าผู้คนจำเป็นต้องลดการคุกคามสัตว์ป่าเพื่อป้องกันเชื้อโรคชนิดใหม่ ๆ

ซึ่งหลังการระบาด รัฐบาลจีนได้ประกาศห้ามบริโภคเนื้อสัตว์ป่าทุกชนิด มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงการระบาดของโรค

สตีฟ เบลค หัวหน้าหน่วยงาน WildAid ในปักกิ่ง กล่าวว่า มันยังเร็วเกินไปที่จะคิดว่าการค้าสัตว์ป่าจะหยุดไปอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากการค้าสัตว์ป่าเพื่อการบริโภคในขีนมีมูลค่ามากกว่า 73 พันล้านเหรียญสหรัฐ และผู้ค้าก็อาจหลบหลีกไปทำธุรกิจใต้ดินแทน

“รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายให้รัดกุม และสร้างความเข้าใจกับสาธารณะให้มากขึ้น เพื่อลดความต้องการ และต้องทำให้แน่ใจว่าประชาชนจะตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น” เขากล่าว “และมันต้องใช้เวลา”

  • อ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เพิ่มเติมได้ที่ The 6th extinction

เรื่อง เอกวิทย์ เตระดิษฐ์
อ้างอิง China removes pangolin scales from traditional medicine list, helping protect world’s most trafficked mammal โดย Ben Westcott, CNN