‘มีหน้ากากมากกว่าแมงกะพรุน’ เมื่อขยะจากโคโรนาไวรัสระบาดลงทะเล

‘มีหน้ากากมากกว่าแมงกะพรุน’ เมื่อขยะจากโคโรนาไวรัสระบาดลงทะเล

นักอนุรักษ์ได้แสดงความกังวลว่าการระบาดของโควิด-19 อาจทำให้มลภาวะขยะพลาสติกในมหาสมุทรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าปกติที่ปัจจุบันนับว่าเป็นภัยคุกคามต้อสิ่งมีชีวิตในทะเล หลังจากพบหน้ากากอนามัยลอยในทะเลไม่ต่างจากแมงกะพรุน ส่วนถุงมือยางกระจายทั้งท้องสมุทร

Opération Mer Propre องค์กรไม่แสวงหากำไรประเทศฝรั่งเศสซึ่งทำงานเก็บขยะตลอดแนวชายฝั่ง Côte d’Azur ส่งสัญญาณเตือนเมื่อเดือนที่ผ่านมา

นักประดาน้ำพบสิ่งที่ Joffrey Peltier เรียกว่า ‘ขยะโควิด’ ไม่ว่าจะเป็นถุงมือยาง หน้ากากอนามัย และขวดเจลล้างมือซ่อนตัวอยู่ใต้เกลียวคลื่นของมหาสมุทรเมดิเตอเรเนียน ปะปนไปกับขยะอย่างแก้วน้ำพลาสติกและกระป๋องอลูมิเนียม

ปริมาณของหน้ากากอนามัยและถุงมือยาวที่พบนับว่ามหาศาล แต่สิ่งที่เขากังวลคือการค้นพบดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นของมลภาวะระลอกใหม่ ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่หลังจากที่ประชากรหลายล้านคนทั่วโลกหันมาใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งเพื่อรับมือการระบาดของโคโรนาไวรัส “นี่คือสัญญาณถึงมลภาวะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหากเรายังไม่หาวิธีจัดการ” Joffrey Peltier กล่าว

ในประเทศฝรั่งเศสเพียงประเทศเดียว รัฐบาลได้สั่งหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งกว่าสองพันล้านชิ้น Laurent Lombard แห่ง Opération Mer Propre กล่าว “หลังจากที่ทราบเรื่องนี้ ผมคิดว่าเรากำลังเสี่ยงที่จะพบหน้ากากอนามัยมากกว่าแมงกะพรุนในทะเลเมดิเตอเรเนียน” เขาโพสต์ในโซเชียลมีเดียพร้อมกับวีดีโอใต้น้ำที่มีภาพหน้ากากอนามัยพันอยู่กับป่าสาหร่ายทะเลและถุงมือยางในทะเล Antibes

การเคลื่อนไหวดังกล่าวต้องการสร้างความตระหนักต่อประชาชนให้หันมาเลือกใช้หน้ากากอนามัยแบบใช้ซ้ำได้และเปลี่ยนจากการใช้ถุงมือยาวเป็นการล้างมือบ่อยๆ แทน “ด้วยทางเลือกหลากหลายที่เรามี พลาสติกไม่ใช่ทางเดียวที่จะป้องกันเราจากโควิด-19” Joffrey Peltier กล่าว

ในช่วงหลายปีก่อนมีการระบาด นักสิ่งแวดล้อมได้เตือนถึงความเสี่ยงต่อสิ่งมีชีวิตใต้น้ำจากปริมาณมลภาวะขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในแต่ละปีมีปริมาณขยะพลาสติกหลุดรอดลงสู่ทะเลราว 13 ล้านตันต่อปี จากการประมาณการโดยองค์การสหประชาชาติเมื่อ พ.ศ. 2561 

ส่วนทะเลเมดิเตอเรเนียน มีขยะพลาสติกปนเปื้อนสู่ทะเลราว 570,000 ตันต่อปี เป็นปริมาณที่ WWF อธิบายว่าเทียบเท่ากับการทิ้งขวดพลาสติก 33,800 ขวดลงสู่ทะเลทุก 1 นาที

ตัวเลขเหล่านี้อาจเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 โดยหน้ากากอนามัยมักจะมีพลาสติกอย่างโพลิโพรพิลีน (polypropylene) “ด้วยเวลาในการย่อยสลายที่ยาวนานถึง 450 ปี หน้ากากอนามัยเหล่านี้ไม่ต่างจากระเบิดเวลาทางสิ่งแวดล้อมที่สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธรรมชาติและโลก” Éric Pauget นักการเมืองฝรั่งเศสระบุในจดหมายที่ส่งถึงประธานาธิบดี พร้อมเรียกร้องให้เขาให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากหน้ากากอนามัยมากขึ้น

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา OceansAsia องค์กรในฮ่องกงเริ่มส่งเสียงแสดงถึงความกังวลในลักษณะเดียวกัน หลังจากพบขยะพลาสติกอย่างหน้ากากอนามัยพัดเกยขึ้นชายฝั่งหมู่เกาะโซโกซึ่งไม่มีผู้อยู่อาศัย “บนชายหาดความยาวกว่า 100 เมตร เราพบหน้ากากอนามัยถึง 70 ชิ้น” Gary Stokes จาก OceansAsia กล่าว โดยหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น เขาพบหน้ากากอนามัยริมหาดอีกราว 30 ชิ้น “และนั่นคือชายหาดบนเกาะที่ไม่มีคนอยู่อาศัยกลางทะเล”

ด้วยความสงสัยว่าหน้ากากอนามัยเหล่านั้นสามารถเดินทางได้ไกลแค่ไหน เขาได้เริ่มตรวจสอบหาดที่อยู่ไม่ไกลจากกัน “เราพบหน้ากากอนามัยแทบทุกแห่ง” เขากล่าว “นับตั้งแต่เราเริ่มใช้หน้ากากอนามัย เราก็เริ่มเห็นผลกระทบของมันบนชายหาด”

เศษขยะบางส่วนอาจมีสาเหตุจากความไม่ระมัดระวัง นอกจากนี้ เขาคาดว่าด้วยลักษณะของหน้ากากอนามัยที่มีน้ำหนักเบา มันอาจถูกลมพัดหล่นจากแผ่นดิน เรือ หรือกระทั่งที่ทิ้งขยะ “นี่คืออีกหนึ่งของขยะพลาสติกในทะเล” เขากล่าวแล้วเปรียบเทียบกับขยะอย่างถุงพลาสติกและหลอดที่มักถูกพัดพาไปอยู่บนชายหาดที่อยู่ห่างไกลจากเมือง “มันไม่ได้ดีกว่าหรือแย่กว่าขยะชนิดอื่น เป็นเพียงอีกหนึ่งอย่างที่เราจะทิ้งไว้ให้กับลูกหลาน”

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่าเต่าทะเลและโลมาอาจคิดว่าหน้ากากอนามัยคืออาหาร อย่างไรก็ดียังไม่มีการค้นพบว่าการคาดการณ์ดังกล่าวเป็นความจริง “เราพบพวกมันตายและเกยตื้นอยู่เสมอ เราเพียงแต่รอว่าเมื่อไหร่ที่เราจะชันสูตรแล้วพบว่ามันกินหน้ากากอนามัยเข้าไป สำหรับผม มันเป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยง”

 

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก ‘More masks than jellyfish’: coronavirus waste ends up in ocean
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์