งานวิจัยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature ระบุว่า มลภาวะแสดงและเสียงจากกิจกรรมของมนุษย์ นับว่าเป็นปัญหาอย่างยิ่งต่อสัตว์ปีกเพื่อนร่วมโลกของเรา
จากข้อมูลดาวเทียมขององค์การนาซา ทีมวิจัยได้เห็นภาพรวมของมลภาวะแสงและเสียง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายพันธุ์ของนกในทวีปอเมริกาเหนือ ทีมวิจัยยังพบว่า ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบมากกว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ประชากรนกลดลงราว 30 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ต่างก็พยายามทำความเข้าใจว่าสาเหตุเกิดจากอะไร และพยายามที่จะแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ โดยเทรนด์หนึ่งที่มักถูกมองข้ามคือ ผลกระทบจากมลภาวะแสงและเสียง กระทั่งการศึกษาชิ้นนี้ที่สรุปผลว่า ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลลบต่อนกบางชนิดพันธุ์
เราไม่เคยมีข้อมูลมลภาวะแสงอย่างละเอียดในภาพกว้าง กระทั่งมีการริเริ่มโครงการความร่วมมือระหว่างองค์การนาซาและโนอา (National Oceanic and Atmospheric Association: NOAA) เพื่อปล่อยดาวเทียมเก็บข้อมูลมลภาวะแสงความละเอียดสูงในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้อ้างอิงจากข้อมูลชุดดังกล่าว โดยศึกษาผลกระทบต่อนก 142 ชนิดพันธุ์ที่พบในทวีปอเมริกาเหนือ
“การศึกษาชิ้นนี้เป็นการแสดงข้อมูลชิ้นสำคัญว่าแสงและเสียงสามารถกระทบต่อการขยายพันธุ์ของนกอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าเราจะนำกิจกรรมอื่น ๆ ของมนุษย์เข้ามาเป็นปัจจัยควบคุมก็ตาม” คลินท์ ฟรานซิส (Clint Francis) นักชีววิทยาจาก California Polytechnic State University ผู้นำทีมวิจัยให้สัมภาษณ์
ทีมวิจัยศึกษาข้อมูลปริมาณมหาศาล รวมถึงข้อมูลที่จัดเก็บโดยภาคประชาชนตามโครงการ NestWatch เพื่อประเมินว่าแสงและเสียงส่งผลอย่างไรต่อการสร้างรังและวางไข่กว่า 58,506 รังทั่วทวีปอเมริกาเหนือ พวกเขาคำนึงถึงหลากหลายปัจจัยของแต่ละรังรวมถึงเวลาที่นกเริ่มทำรัง และข้อมูลว่ามีลูกนกอย่างน้อยหนึ่งตัวประสบความสำเร็จในการบินออกจากรังหรือไม่
การขยายพันธุ์ของนกจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ แสงสว่างตามธรรมชาติจะเป็นสัญญาณ เพื่อให้นกสืบพันธุ์ในช่วงเวลาเดียวกันทุกปี แต่นักวิจัยพบว่า มลภาวะทางแสงส่งผลให้นกที่ถูกแสงรบกวนทำรังเร็วกว่านกตามธรรมชาติ ที่อาศัยตามทุ่งหญ้าและพื้นที่ชุ่มน้ำเกือบ 1 เดือน และเร็วกว่านกที่อาศัยในป่าราว 18 วัน การสร้างรังผิดเวลาอาจทำให้ลูกนกฟักออกมาจากไข่ในช่วงเวลาที่อาหารยังขาดแคลน ซึ่งจะทำให้โอกาสที่ลูกนกจะอยู่รอดและเติบโตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
แต่ประเด็นที่ทำให้การวิเคราะห์ยุ่งยากขึ้นคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อโลกร้อนขึ้น อาหารของนกจะเริ่มอุดมสมบูรณ์รวดเร็วขึ้น ซึ่งกระทบต่อนกที่พึ่งพาเวลาตามธรรมชาติโดยลูกนกอาจอยู่รอดน้อยลงเนื่องจากพลาดช่วงเวลาที่อาหารอุดมสมบูรณ์ที่สุดไป
“เราพบว่านกที่ขยับเวลาขยายพันธุ์ให้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมลภาวะแสงกลับมีอัตราสำเร็จในการขยายพันธุ์มากกว่า เราสามารถตีความผลลัพธ์ดังกล่าวได้ว่า มลภาวะแสดงทำให้นกเลื่อนเวลาขยายพันธุ์จนสอดคล้องกับการที่อาหารอุดมสมบูรณ์เร็วขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
เราสามารถสรุปผลได้สองประการจากการศึกษาชิ้นดังกล่าว อย่างแรกคือนกที่ถูกรบกวนโดยมลภาวะทางแสงจนเปลี่ยนพฤติกรรมไปอาจรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีกว่า อย่างน้อยก็ในปัจจุบัน ประการที่สองคือ จากเดิมที่นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่านกปรับช่วงเวลาการขยายพันธุ์ เพื่อตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ในความจริงแล้วการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเกิดจากมลภาวะทางแสง
เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบจากมลภาวะเสียง การศึกษาชิ้นนี้สรุปผลว่านกที่อาศัยอยู่ในป่ามีแนวโน้มที่จะอ่อนไหวต่อเสียงมากกว่านกที่อาศัยในที่โล่งกว้าง
นักวิจัยศึกษานก 27 ชนิดพันธุ์อย่างละเอียดเพื่อพิจารณาลักษณะทางกายภาพที่อาจส่งผลต่อการตอบสนองต่อแสงและเสียงที่แตกต่างกันออกไป โดยพบว่าความสามารถในการมองเห็นในที่แสงน้อย และลักษณะของเสียงแรกนั้นส่งผลต่อการตอบสนองต่อมลภาวะแสงและเสียง
ยิ่งนกมีความสามารถในการรับรู้แสงมากเท่าไหร่ หาได้รับมลภาวะทางแสงก็จะมีแนวโน้วที่จะเลื่อนเวลาการขยายพันธุ์ให้เร็วมากขึ้นเท่านั้น นั่นหมายความว่านกเหล่านี้จะมีอัตราสำเร็จในการขยายพันธุ์มากกว่า ส่วนมลภาวะทางเสียงจะส่งผลให้นกที่มีเสียงร้องความถี่ต่ำเลื่อนเวลาการสร้างรังออกไป เนื่องจากเสียงร้องดังกล่าวจะได้ยินยากขึ้นหากมีเสียงความถี่ต่ำจากกิจกรรมของมนุษย์รบกวน เพราะการตัดสินใจเลือกคู่นั้นจะขึ้นอยู่กับเสียงร้องของนกตัวผู้ และนกตัวเมียบางชนิดพันธุ์จะต้องได้ยินเสียงของนกตัวผู้เสียก่อนที่จะเข้าสู่สภาวะพร้อมผสมพันธุ์
ข้อค้นพบดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ โดยเราสามารถใช้ข้อมูลชุดนี้เพื่อทำความเข้าใจว่ามลภาวะต่าง ๆ จะส่งผลอย่างไรต่อนก เช่น นกที่อาศัยในป่าจะอ่อนไหวต่อแสงและเสียงมากกว่านกที่อาศัยในทุ่งโล่งกว้าง งานชิ้นนี้นับเป็นก้าวแรกเพื่อพัฒนาดัชนีความอ่อนไหว สำหรับนกทุกชนิดพันธุ์ในทวีปอเมริกาเหนือ ดัชนีดังกล่าวจะช่วยให้นักอนุรักษ์ประเมินว่าปัจจัยด้านแสงและเสียงจะส่งผลต่อนกแต่ละชนิดพันธุ์มากน้อยเพียงใด
ถอดความและเรียบเรียงจาก Noise and Light Pollution From Humans Alter Bird Reproduction
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก