งานวิจัยชิ้นล่าสุดเผย ต้นทุนทางสังคมของ มลภาวะพลาสติก ในมหาสมุทรโลกสูงถึงหลักหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
การประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กิจกรรมสันทนาการ และสุขภาพของโลก คือสิ่งที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะพลาสติก ประมาณการว่ามนุษย์จะสูญเสียผลประโยชน์ราวร้อยละ 1 ถึงร้อยละ 5 จากที่ควรจะเก็บเกี่ยวได้จากมหาสมุทรมูลค่าดังกล่าวเรียกว่ามูลค่าระบบนิเวศมหาสมุทร ซึ่งคิดเป็นราว 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี อ้างอิงจากการศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Marine Pollution Bulletin
นอกจากนี้ คาดว่าขยะพลาสติก 1 ตันจะทำให้สิ่งแวดล้อมสูญเสียมูลค่ากว่า 33,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยงานศึกษาชิ้นดังกล่าวประเมินว่ามีขยะพลาสติกราว 8 ล้านตันรั่วไหลลงทะเลในแต่ละปี
Dr. Nicole Beaumont นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมจาก Plymouth Marine Laboratory ซึ่งเป็นผู้นำคณะวิจัยระบุว่างานศึกษาชิ้นดังกล่าวนับว่าเป็นงานศึกษาชิ้นแรกในประเด็นนี้ที่ประเมินต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจากมลภาวะพลาสติกในทะเล “การคำนวณของเราคือก้าวแรกในการแปะป้ายราคาบนพลาสติก เราทราบดีว่าเราต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมอีกมากเพื่อให้ผลการวิจัยแหลมคมขึ้น แต่เราเชื่อว่าตัวเลขข้างต้นนั้นระบุต้นทุนของผลกระทบต่อมนุษย์ที่ต่ำกว่าความเป็นจริง” เธอให้สัมภาษณ์
ตัวเลขประมาณการข้างต้นไม่ได้คำนวณรวมถึงผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การขนส่ง และการประมง รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์
ขยะพลาสติกสามารถพบได้ทุกที่บนโลก ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลที่มีประชากรอยู่อาศัยหนาแน่นไปจนถึงชายฝั่งที่ร้างไร้ผู้คน กลุ่มสัตว์ทะเลที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือแพลงก์ตอนสัตว์ (Zooplankton) สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ปลา เตา นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นอกจากนี้ คณะวิจัยยังพบว่าขยะพลาสติกซึ่งอาจลอยอยู่ได้หลายทศวรรษหรือมากกว่านั้น สามารถเดินทางไปไกลถึง 3,000 กิโลเมตร ทำให้เกิดการกระจายพันธุ์ของแบคทีเรียและสาหร่ายบางชนิด อาณานิคมลอยน้ำเหล่านี้อาจทำให้เกิดการรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคบางอย่าง
Dr. Kayleigh Wyles นักจิตวิทยาสิ่งแวดล้อมจาก University of Surrey ระบุว่างานชิ้นนี้เป็นชิ้นแรกที่เสนอผลกระทบจากมลภาวะพลาสติกแบบองค์รวม “เราทราบกันดีถึงผลกระทบเลวร้ายจากพลาสติกต่อระบบนิเวศทางทะเล แต่ผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้มองผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสังคมเพิ่มเติม”
“การแปลงทั้งสิ่งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้เกี่ยวกับขยะพลาสติกเป็นตัวเลขนั้นก็เพื่อสร้างความตระหนัก และทำให้เกิดแรงจูงใจในการให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมถึงปกป้องทรัพยากรทางทะเลให้อยู่ต่อไปถึงคนรุ่นหลัง” Nicole Beaumont ระบุ และหวังว่าผลการศึกษาชิ้นนี้จะช่วยให้การแก้ปัญหามลภาวะพลาสติกมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย “ช่วยให้เราตัดสินใจจากข้อมูลที่เรามีอยู่ในมือ”
“การรีไซเคิลพลาสติก 1 ตันอาจมีต้นทุนหลักร้อยเท่านั้นหากเปรียบเทียบกับการปล่อยให้ขยะเหล่านั้นหลุดรอดลงทะเลที่อาจมีต้นทุนต่อสิ่งแวดล้อมในระดับหลักพัน” เธอกล่าวเพิ่มเติม “ปัจจุบัน เราซื้อขายคาร์บอนเพื่อลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เราก็น่าจะทำอะไรในลักษณะนั้นกับพลาสจิกได้เช่นกัน เราหวังว่าการศึกษาชิ้นนี้จะแสดงให้เห็นชัดเจนถึงปัญหาพลาสติกในมุมมองของมนุษย์”
ถอดความและเรียบเรียงจาก Marine plastic pollution costs the world up to $2.5tn a year, researchers find
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพประกอบบทความ www.theguardian.com