มรดกโลกทางธรรมชาติในทะเลออสเตรเลีย ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ไว้มากกว่าสองพันล้านตัน

มรดกโลกทางธรรมชาติในทะเลออสเตรเลีย ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ไว้มากกว่าสองพันล้านตัน

รายงานฉบับล่าสุดโดยยูเนสโกระบุว่า มรดกโลกทางธรรมชาติในทะเลสามแห่งของออสเตรเลียกักเก็บแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ไว้มากกว่า 2 พันล้านตันใต้ทุ่งหญ้าทะเล ป่าชายเลน และพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดยักษ์

รายงานฉบับดังกล่าวเรียกคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านี้ว่า “คาร์บอนสีฟ้า (blue carbon)” โดยมรดกโลกทางธรรมชาติในทะเลกว่า 50 แห่งทั่วโลกทำหน้าที่กักเก็บแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และแก๊สเรือนกระจกอื่นๆ รวมมากกว่า 5 พันล้านตันโดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ของประเทศออสเตรเลีย

“พื้นที่เหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเก็บคาร์บอนสีฟ้า” ดร.ออสการ์ เซอร์ราโน (Dr Oscar Serrano) หนึ่งในผู้เขียนรายงานฉบับดังกล่าวให้สัมภาษณ์

เป็นที่ทราบกันดีว่าป่าชายเลน พื้นที่ชุ่มน้ำติดทะเล และทุ่งหญ้าทะเลทั่วโลกคือแหล่งกักเก็บแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลที่สะสมมาหลายพันปี และหากมนุษย์ไม่ได้เข้าไปรบกวนพื้นที่ดังกล่าว คาร์บอนเหล่านั้นก็จะถูกกักเก็บเอาไว้ในชั้นตะกอนดิน อย่างไรก็ดี ดร.ออสการ์ ระบุว่าหลายพื้นที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกทำลายเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงได้รับผลกระทบจากการเพิ่มระดับของน้ำทะเล และคลื่นความร้อนในมหาสมุทร

เกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) คือพื้นที่ทางทะเลที่มีการกักเก็บคาร์บอนสีฟ้ามากที่สุดในโลก โดยการศึกษาพบว่ากักเก็บคาร์บอนไว้มากถึง 1.8 พันล้านตัน โดย 1.4 พันล้านตันอยู่ในแหล่งหญ้าทะเลที่มีพื้นที่กว่า 45,000 ตารางกิโลมตร ส่วนที่เหลือนั้นกระจายอยู่ในป่าชายเลนพื้นที่ 207 ตารางกิโลเมตรและพื้นที่ชุมน้ำอีก 186 ตารางกิโลเมตร

ส่วนชาร์คเบย์ (Shark Bay) กักเก็บคาร์บอนไว้ราว 164 ล้านตันโดยส่วนใหญ่อยู่ในแหล่งหญ้าทะเลขนาด 342 ตารางกิโลเมตร ขณะที่อ่าวนินกาลู (Ningaloo Coast) กักเก็บคาร์บอนอีกราว 4.6 ล้านตันในพื้นที่หญ้าทะเล 26 ตารางกิโลเมตรโดยทั้งสองแห่งคือมรดกโลกทางธรรมชาติในประเทศออสเตรเลีย

คาร์บอนไดออกไซด์ที่กักเก็บในมรดกโลกทางธรรมชาติเหล่านี้เทียบเท่ากับการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นเวลา 3 ปีของประเทศออสเตรเลีย

แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งอื่นๆ ที่เป็นพื้นที่กักเก็บคาร์บอนสีฟ้าคืออุทยานแห่งชาติเอเวอร์เกลดส์ (Everglades National Park) ในสหรัฐอเมริกา และป่าชายเลนซุนดาร์บันส์ (Sundarbans) ประเทศบังคลาเทศ โดยมรดกโลกทางธรรมชาติเหล่านี้กักเก็บคาร์บอนสีฟ้าไว้ทั้งสิ้นร้าน 15 เปอร์เซ็นต์

ดร.ออสการ์กล่าวว่า ถึงแม้ปริมาณคาร์บอนสีฟ้าที่กักเก็บอยู่ในระบบนิเวศมหาสมุทรจะคิดเป็นราว 1 เปอร์เซ็นต์ของคาร์บอนทั้งหมดเท่านั้น แต่พื้นที่เหล่านี้จะกักเก็บคาร์บอนราวครึ่งหนึ่งที่ดูดซับโดยมหาสมุทร อีกทั้งมีการคาดการณ์ว่าการดูดซับคาร์บอนประเภทนี้จะรวดเร็วว่าการดูดซับคาร์บอนของป่าฝนเขตร้อนถึง 30 เท่า

การศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2554 พบว่าคลื่นความร้อนในมหาสมุทรเป็นสาเหตุให้พื้นที่หญ้าทะเลในบริเวณชาร์คเบย์ตายลง ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่กักเก็บไว้ 9 ล้านตันต่อเนื่องเป็นเวลาสามปี นักวิทยาศาสตร์เรียกเหตุการณ์นี้ว่า “ระเบิดคาร์บอน” นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่าในอนาคต เหตุการณ์คลื่นความร้อนในมหาสมุทรมีแนวโน้มว่าจะเกิดบ่อยครั้งและรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากปริมาณแก๊สเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น

แคเธอรีน เลิฟล็อก (Catherine Lovelock) จาก University of Queensland อีกหนึ่งผู้เขียนรายงานระบุว่า รายงานฉบับนี้จะช่วยให้แต่ละประเทศมองเห็นโอกาสที่จะฟื้นฟูพื้นที่กักเก็บคาร์บอนในมหาสมุทร ซึ่งจะสร้างประโยชน์ทั้งต่อสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ

ปัจจุบัน แหล่งกักเก็บคาร์บอนเหล่านี้เผชิญภัยคุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่นภัยทางตรงอย่างการตัดไม้ชายเลนเพื่อนำไปทำถ่านไม้ หรือการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนทางอ้อมคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Blue carbon: how three Australian marine sites lock away 2bn tonnes of CO2

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก