การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ = ภัยคุกคาม ความมั่นคงทางอาหาร

การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ = ภัยคุกคาม ความมั่นคงทางอาหาร

การผลิตอาหารของโลกกำลังเผชิญ ภัยคุกคาม จากความล้มเหลวของมนุษย์ในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ จากรายงานล่าสุดของสหประชาชาติที่ระบุว่าพืช สัตว์ และเหล่าจุลชีพคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เรายังมีอาหารรับประทานอยู่ทุกวัน

คำเตือนดังกล่าวเผยแพร่จากรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) หลังจากนักวิทยาศาสตร์ค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญว่าระบบนิเวศที่มีความสำคัญในการสนับสนันการผลิตอาหารของมนุษย์กำลังถูกทำลายจากฟาร์ม เมือง และโรงงานซึ่งต่างปล่อยสารเคมีสู่สิ่งแวดล้อม

ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ราวร้อยละ 20 บนพื้นผิวโลกที่ปกคลุมด้วยพืชพรรณกลายเป็นพื้นที่รกร้างไร้ผลิตภาพ รายงานดังกล่าวระบุว่าความหลากหลายทางชีวภาพในดิน ป่าไม้ ทุ่งหญ้า แนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล รวมถึงความหลากหลายทางพันธุกรรมทั้งในพืชอาหารและปศุสัตว์กำลังถูกบั่นทอนลงอย่างต่อเนื่อง ในมหาสมุทรก็เผชิญวิกฤติไม่แพ้กัน โดยมีพื้นที่ประมงราว 1 ใน 3 ที่ถูกคุกคามโดยการประมงเกินขนาด

ชนิดพันธุ์มากมายที่เกี่ยวพันกับการผลิตอาหารทางอ้อม เช่น นกกินแมลงศัตรูพืชเป็นอาหาร หรือป่าชายเลนที่ช่วยบำบัดน้ำ ต่างก็มีความอุดมสมบูรณ์ที่ลดลงหากเปรียบเทียบกับในอดีต อ้างอิงจากงานวิจัยเชิงวิชาการและรายงานจากรัฐบาล 91 ประเทศ โดยชนิดพันธุ์ที่ถูกระบุว่าถูกคุกคามอย่างหนักคือพืช นก ปลา และกลุ่มเห็ดรา กลุ่มนักผสมเกสรซึ่งทำงานหนักให้กับเหล่าพืชราว 3 ใน 4 ของชนิดพันธุ์ทั่วโลกก็ถูกคุกคามอย่างมาก ยืนยันจากตัวเลขงานวิจัยปริมาณผึ้งและแมลงต่างๆ ที่ลดลง ส่วนนักผสมเกสรที่มีกระดูกสันหลังอย่างค้างคาวและนกหลากชนิดก็เริ่มเข้าสู่ภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

เมื่อสัตว์เหล่านั้นหายไปจากธรรมชาติ ก็เป็นไปได้ยากที่จะฟื้นฟูจำนวนประชากร นั่นหมายความว่าอนาคตความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะถูกคุกคามอย่างยิ่งยวด

“ระบบอาหารของโลกกำลังถูกทำลายในระดับรากฐาน” Gaziano da Silva ผู้อำนวยการ FAO ระบุ “รายงานฉบับดังกล่าวน่าเศร้าอย่างยิ่ง เพราะระบุถึงระบบนิเวศหลายรูปแบบในหลายประเทศซึ่งมีส่วนพยุงระบบผลิตอาหารของเรา และผลิตนิเวศบริการให้กับมนุษย์ ต่างก็อยู่ในภาวะเสื่อมถอย”

 

แม้ว่าโลกจะผลิตอาหารมากกว่าในอดีต แต่ก็ยังต้องพึ่งพาการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างต่อเนื่อง รูปถ่าย: ZUMA / REX / Shutterstock

 

เกษตรกรรมมักเป็นเป้าหมายแรกที่ถูกกล่าวโทษ เพราะสร้างผลกระทบโดยการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน และวิธีการจัดการอย่างไม่ยั่งยืน เช่น การใช้ความอุดมสมบูรณ์ในดินแบบเกินขนาด และการพึ่งพายาฆ่าแมลง ยาฆ่าวัชพืช รวมถึงเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ

ประเทศส่วนใหญ่ระบุว่าปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพคือการแปลงสภาพการใช้ที่ดิน เมื่อป่าไม้ถูกตัดโค่นเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตร ป่าละเมาะถูกทับถมด้วยคอนกรีตเพื่อแปลงเป็นเมือง โรงงาน และถนนหนทาง สาเหตุอื่นๆ ก็ประกอบด้วยการใช้แหล่งน้ำอย่างทำลายล้าง การรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เทรนด์ทั่วโลกต่างมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน แม้ว่าปัจจุบันเราจะผลิตอาหารได้มากกว่าในอดีต แต่ทุกอย่างต่างพึ่งพาการเกษตรเชิงเดี่ยวที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ

ราว 2 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์พืชนั้นมาจากชนิดพันธุ์เพียง 9 ชนิด คือ อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว ข้าวสาลี มันฝรั่ง ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน ผักกาดฝรั่ง (Sugar Beet) และมันสำปะหลัง ในขณะที่ชนิดพันธุ์อื่นๆ อีกกว่า 6,000 ชนิดอยู่ในช่วงขาลง และพืชผักป่าก็หายากขึ้นเรื่อยๆ

แม้ว่าผู้บริโภคอาจจะยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นขณะเดินซื้อสินค้า แต่ผู้เขียนรายงานระบุว่าการเปลี่ยนแปลงกำลังจะเกิดขึ้น “ซุปเปอร์มาร์เก็ตนั้นมีอาหารมากมายละลานตา แต่ส่วนใหญ่มาจากการนำเข้าจากต่างประเทศ และไม่มีความหลากหลายมากนัก การพึ่งพาชนิดพันธุ์หลักไม่กี่ชนิดหมายความว่าอาหารของเรานั่นเปราะบางอย่างยิ่งต่อการระบาดของโรค และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” Julie Belanger ผู้ประสานงานของรายงานฉบับดังกล่าวระบุ

การพึ่งพาชนิดพันธุ์ใดชนิดพันธุ์หนึ่งมากเกินไป อาจนำไปสู่ความอดอยากได้ตัวอย่างเช่นเหตุการณ์โรคระบาดในมันฝรั่ง ประเทศร์แลนด์ เมื่อ คริสตทศวรรษที่ 1840 ไร่ธัญพืชล่มในสหรัฐอเมริกาเมื่อศตวรรษที่ 20 รวมถึงการผลิตเผือกที่ล้มเหลวในซามัว เมื่อคริสตทศวรรษที่ 1990

“มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะเปลี่ยนวิธีการผลิตอาหาร เพื่อให้มั่นใจได้ว่าความหลากหลายทางชีวภาพไม่ใช่เรื่องถูกมองข้าม แต่เป็นทรัพยากรที่ไม่สามารถหามาทดแทนได้ และเป็นหัวใจสำคัญในกลยุทธ์การบริหารจัดการ” Julie Belanger กล่าวสรุป

รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุอีกว่าทัศนคติและวิธีการทำการเกษตรก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป รอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่ดีขึ้นของการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน การประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการปลูกพืชผสมผสานที่ใส่ใจระบบนิเวศ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เช่นการเกษตรอินทรีย์ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ราว 0.58 ล้านตารางกิโลเมตรทั่วโลก หรือคิดเป็นเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด

นอกจากนี้ รายงานยังระบุถึงความสนใจของรัฐบาลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นประเด็นที่มักถูกมองข้ามต่างจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลายรัฐในสหรัฐอเมริการายงานความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการสูยเสียหรือเสื่อมสภาพของระบบนิเวศ ประเทศอย่างไอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ พบการลดจำนวนลงของผึ้งผสมเกสร อียิปต์แสดงความกังวลต่ออุตสาหกรรมประมงเพราะปลาเริ่มอพยพไปทางเหนือเนื่องจากอุณหภูมิของน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ประเทศแกมเบียพบว่าประชาชนถูกบังคับให้ซื้อสินค้าราคาแพงจากแปลงเกษตรอุตสาหกรรมเนื่องจากพืชผักป่าหาได้ยากขึ้น และมีปริมาณน้อยลง

วิกฤติความหลากหลายทางชีวภาพถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นระดับโลกในการประชุม G7 ครั้งหน้า รวมถึงการประชุมครั้งใหญ่ของสหประชาชาติที่จะจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนในปี พ.ศ.2563 

“ห้องสมุดแห่งชีวิตทั่วโลกได้บันทึกการวิวัฒนาการนับเป็นพันพันปี เราสรุปใจความของสิ่งนี้ว่าความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งกำลังถูกทำลายจากพิษ มลภาวะ ถูกรุกล้ำ แบ่งแยก ช่วงชิง ในอัตราที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ” Michael Higgins ประธานาธิบดีประเทศไอร์แลนด์กล่าว ณ การประชุมความหลากหลายทางชีวภาพ ณ กรุงดับลิน

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก World’s food supply under ‘severe threat’ from loss of biodiversity
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์